PMDU พลิกโฉมกลไกส่งมอบนโยบาย
กลไกเชิงนโยบาย PMDU หรือ Prime Minister’s Delivery Unit เป็นเคล็ดลับความสำเร็จของหลายประเทศ ในการเป็นตัวช่วยสำหรับนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ขับเคลื่อนนโยบายให้บรรลุผลตามลำดับความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ที่ได้วางไว้
กลไกส่งมอบนโยบายของนายกรัฐมนตรีประสบความสำเร็จในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “PMDU” ของสหราชอาณาจักร (UK) “PEMANDU” ของมาเลเซีย “Results and Delivery Unit” ของแคนาดาและ “PDU” ของชิลี เป็นต้น
การนำกลไก PMDU มาใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย จากงานวิจัยของสถาบันอนาคตไทยศึกษาเกี่ยวกับกลไก PMDU คณะผู้เขียนมีข้อเสนอแนะที่ควรพิจารณา 5 ประการ ดังนี้ (เอกสารฉบับเต็ม )
ประการแรก กําหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน (A Clear Goal and Objective)
การนำ PMDU มาใช้ในประเทศไทย ควรตั้งเป้าพัฒนาในบางเรื่องที่เล็งเห็นว่าสำคัญและเร่งด่วนก่อน ตัวอย่างเช่น ในสหราชอาณาจักร สมัยนายกฯ Tony Blair ได้มุ่งเป้าไปที่นโยบาย 4 กระทรวง ได้แก่ มหาดไทย การศึกษา สาธารณสุข และคมนาคม
สำหรับประเทศไทย นายกรัฐมนตรีควรเป็นผู้เลือกเป้าหมายที่ให้ลำดับความสำคัญสูงสุดสำหรับประเทศไทย หรือมุ่งเป้าหมายการพัฒนาไปที่ด้านหลักของประเทศ ได้แก่การศึกษา สุขภาพ แรงงาน และรัฐบาลดิจิทัล เป็นต้น
จุดประสงค์ของการจัดตั้ง PMDU ต้องสร้างความเข้าใจชัดเจนว่า PMDU ไม่ได้มาแทนที่การวางแผน หรือกระบวนการนโยบายอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้วของหน่วยงานภาครัฐ หากแต่มุ่งเป้าเพื่อ “ปลดล็อก” จุดตายบางจุดให้การส่งมอบนโยบายที่มีความสำคัญสูงสามารถบรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น
ในกรณีมาเลเซีย PMDU ถูกสร้างมาเพื่อขับเคลื่อนและตรวจสอบความคืบหน้าของนโยบายปฏิรูปภาครัฐและปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายการเข้าสู่ประเทศพัฒนาแล้วเป็นสำคัญ
รัฐบาลใหม่ควรรีบจัดตั้ง PMDU ใหม่ ตั้งแต่ช่วงต้นของรัฐบาล โดยอาจ Re-organization หน่วยงานเดิมที่มีอยู่ซึ่งมีขีดความสามารถและอยู่ในตำแหน่งในระบบนิเวศของระบบราชการที่เหมาะสม
เช่น สำนักงาน ปยป. หรือหน่วยงานส่วนกลางที่เคยทำงานกับคณะรัฐมนตรีอย่างใกล้ชิด แล้วปรับบทบาทใหม่ เพิ่มขีดความสามารถ เติมทรัพยากรและบุคลากร (Talent) ให้ PMDU
ประการที่สอง คัดสรรผู้นำและออกแบบโครงสร้างของหน่วยงานอย่างเหมาะสม
PMDU ควรนำ (lead) โดยผู้มีประสบการณ์ในการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติจริง (ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน) และมีความสัมพันธ์ที่ดีและได้รับการยอมรับจากนายกรัฐมนตรี เช่น
PMDU ของสหราชอาณาจักร ได้นาย Michael Barber ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และหุ้นส่วนของ Mckinsey เชี่ยวชาญด้านการศึกษาโลก มาเป็นผู้อํานวยการให้ในวาระแรก สำหรับประเทศไทย
นอกจากการที่ผู้นำ PMDU ควรมีประสบการณ์การขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติจริงและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับนายกรัฐมนตรีแล้ว ผู้นำ PMDU ควรมีความสามารถและ Caliber ที่เพียงพอในการติดต่อประสานงานกับผู้นำระดับรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงและอธิบดี เข้าใจทั้งระบบราชการและระบบการบริหารจัดการแบบใหม่ของภาคเอกชน
โครงสร้างของ PMDU สามารถแบ่งเป็นทีมดูแลแต่ละเป้าหมาย เช่น 4 ทีมสำหรับ 4 เป้าหมายหลัก โดยควรมีผู้จัดการ (COO) ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารงานภาครัฐ เข้าใจกฎระเบียบต่างๆ เป็นอย่างดี ในขณะที่มี Mindset ที่มุ่งแก้ไขปัญหาการส่งมอบนโยบายสู่การปฏิบัติ และควรมีความสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงานทั้งภาครัฐอย่างกว้างขวาง รวมถึงภาคเอกชน
ทั้งนี้ ควรมีการตั้งทีมที่มีขนาดเล็กเพื่อให้มีความคล่องตัว (Agile) จากประสบการณ์ของนาย Michael Barber ผู้คิดค้นระบบ Delivery Unit นี้ให้กับสหราชอาณาจักรเสนอว่า ควรมีบุคลากรของ PMDU อยู่ที่ประมาณ 40 คน
ประการที่สาม นายกรัฐมนตรีควรให้การสนับสนุนการทำงานของ PMDU อย่างเต็มที่
PMDU มีประโยชน์อย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรัฐบาลที่มีแนวโน้มได้รับแรงต้านจากระบบนายกรัฐมนตรีจึงควรต้องให้ความสำคัญและให้เวลากับงาน PMDU เนื่องจากการดำเนินการเหล่านี้จะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้เลย
ถ้านายกรัฐมนตรีไม่ให้ความสนใจและสนับสนุนอย่างจริงจัง ทีมงาน PMDU จะต้องเข้าใจการทำงานและกลไกอำนาจของระบบรัฐและการเมือง นอกจากนี้ควรมีความเข้าใจในพลวัตทางอำนาจ ระหว่างหน่วยงานราชการ พรรคการเมืองและระบบเครือข่ายด้วย
ประการที่สี่ ตั้งดัชนีชี้วัดและระบบตรวจสอบความโปร่งใส
การวัดผลการดำเนินงานตามเป้าหมายหลักจะต้องมีการตรวจวัดอย่างสม่ำเสมอ โดยสามารถนำระบบ ไฟสัญญาณ (Traffic Light System) เขียว เหลือง แดงมาใช้อย่างเช่นในสหราชอาณาจักร โดยต้องระวังไม่ใช้การสังเกตการณ์หรือประเมินที่ซับซ้อนจนเกินไป
ในมาเลเซียนั้นใช้ระบบที่คล้ายๆ กับ Traffic Light System เพียงแต่ในรายงานรายปีจะมีการเพิ่มตัวเลขที่วัดเป็นค่าเปอร์เซ็นต์ (%) เพื่อเทียบความคืบหน้าจากปีก่อนๆ
และนอกจากนี้ มาเลเซียจะใช้ Dashboard เพื่อตามงานและการเข้าถึงข้อมูลสําหรับเจ้าหน้าที่และมีองค์กรภายนอก เช่น IMF, Transparency International และ World Bank มาช่วยยังประเมินประสิทธิภาพของหน่วยงานด้วย
ประการที่ห้า จัดบุคลากรความสามารถสูงและงบประมาณให้อย่างเหมาะสม
PMDU ต้องการบุคลากรที่มีความสามารถสูง ในต่างประเทศจึงมีการว่าจ้างบุคลากรความสามารถสูงจากภาคเอกชนเข้ามาร่วมทีม
สำหรับ PMDU ไทยควรมีบุคลากรที่ดึงมาจากภาคเอกชน เช่น ผู้มีประสบการณ์ในบริษัทที่ประสบความสำเร็จ ที่ปรึกษา (Consultant) ทางธุรกิจและนโยบาย รวมถึง Talent ที่มีความชํานาญเฉพาะด้านและมีประสบการณ์การทํางานสูง
นอกจากนี้ ยังสามารถใช้แนวทาง Secondment หรือการยืมตัวข้าราชการที่มีขีดความสามารถสูงชั่วคราวจากหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ การมีโปรแกรม Talent Mobility กับภาคเอกชน เพื่อเปิดช่องทางให้ สามารถมีบุคลากรที่มีขีดความสามารถสูงเพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการส่งมอบนโยบายให้กับนายกรัฐมนตรีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความสําเร็จของ PEMANDU ของมาเลเซียนั้นกล่าวได้ว่าเริ่มต้นจากการสรรหาผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นสำคัญ.