ร้องศาล รธน.สั่ง ‘พิธา-ก้าวไกล’ เลิกแก้ ม.112 ชี้เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

ร้องศาล รธน.สั่ง ‘พิธา-ก้าวไกล’ เลิกแก้ ม.112 ชี้เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

‘ทนายความอิสระ’ รุดยื่นศาล รธน.ขอให้สั่ง ‘พิธา-ก้าวไกล’ เลิกนโยบายแก้ไข ม.112 ชี้ส่อเข้าข่ายล้มล้างการปกครองตาม รธน.ม.49 ชี้มุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมือง เจตนาไม่บริสุทธิ์ หวั่นนำไปสู่ประชาธิปไตยแบบอื่น

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2566 ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยสั่งให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 และ พรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันอาจจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 

นายธีรยุทธ ได้ยกกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับกรณีที่กลุ่มบุคคลและองค์กรเครือข่ายได้เสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางกระทบกระเทือนถึงสถาบันหลักของชาติ ในขณะนั้นศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้เลิกการกระทำอันกระทบกระเทือนสถาบัน เพื่อเป็นการหยุดยั้งไม่ให้ลุกลามจนเกิดอันตรายแก่สถาบัน 

นายธีรยุทธ กล่าวว่า วันนี้จึงเดินทางมายื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายพิธา และพรรคก้าวไกล เลิกการดำเนินการใด ๆหรือการกระทำใด ๆ เพื่อยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมไปถึงให้เลิกแสดงความเห็น เลิกพูด เลิกเขียน เลิกพิมพ์ เลิกโฆษณา และสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ที่กระทำอยู่ในขณะนี้และจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นกับสถาบันจึงต้องตัดไฟแต่ต้นลม
    
นายธีรยุทธ กล่าวด้วยว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการมุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมือง จึงอาจเข้าข่ายมีเจตนาไม่สุจริต มีกระทบกระเทือน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นำไปสู่การทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบอื่นหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 บัญญัติว่า บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้
    
ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้

ในกรณีที่ อสส.ไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้

การดำเนินการตามมาตรานี้ ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการตามวรรคหนึ่ง