​นายกฯ ห่วง 'กลุ่มเปราะบาง' เผยช่วยเหลือผ่านมาตรการรัฐแล้ว 3.37 ล้านล้านบาท

​นายกฯ ห่วง 'กลุ่มเปราะบาง' เผยช่วยเหลือผ่านมาตรการรัฐแล้ว 3.37 ล้านล้านบาท

​นายกฯ ห่วงใยครัวเรือน "กลุ่มเปราะบาง" ปรับตัวไม่ทันสถานการณ์เศรษฐกิจ ดอกเบี้ย ให้นโยบายหน่วยงานเน้นดูแลแบบพุ่งเป้าเฉพาะจุดและหนี้นอกระบบ เผยยอดการช่วยเหลือผ่านมาตรการรัฐ 5.26 ล้านบัญชี 3.37 ล้านล้านบาท

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2566 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แม้ขณะนี้ข้อมูลเศรษฐกิจไทยหลายด้านจะปรับตัวดีขึ้น อาทิ การท่องเที่ยว การจ้างงาน อัตราเงินเฟ้อ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยังคงมีความห่วงใยประชาชนใน "กลุ่มเปราะบาง" ที่รายได้ฟื้นตัวช้า มีภาระหนี้สูง ที่ต้องมีการดูความสามารถในการชำระหนี้ให้ดี เนื่องจากเวลานี้อยู่ในช่วงที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจให้มีความเหมาะสม

นายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวนโยบายแก่หน่วยงานเกี่ยวข้อง ให้เน้นการดูแลประเด็นหนี้สินครัวเรือนพุ่งเป้าไปที่กลุ่มเปราะบางเฉพาะกลุ่ม รวมถึงกลุ่มผู้เป็นหนี้นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบเพื่อให้ทางการเห็นข้อมูลและมีมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสม ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกกระทำการที่ผิดกฎหมาย

“นายกรัฐมนตรีได้รับทราบตามรายงานของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ อาทิ กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ว่าในเรื่องของเสถียรภาพระบบการเงิน การชำระหนี้ในภาพรวมทั้งประเทศตอนนี้อยู่ในระดับที่ดี ไม่น่ากังวล ไม่จำเป็นต้องมีมาตรการใหม่หรือมาตรการที่ใช้ในวงกว้างเหมือนช่วงมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ให้มีมาตรการพุ่งเป้าดูแลแบบเฉพาะกลุ่มครัวเรือนเปราะบางที่อาจยังปรับตัวไม่ได้ รวมถึงกลุ่มหนี้นอกระบบ” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทรวงการคลัง ธปท. ได้ร่วมกับสถาบันการเงิน ทั้งธนาคารพาณิชย์ ผู้ประกอบการด้านการเงินแต่ไม่ใช่ธนาคาร(นอนแบงก์) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ออกมาตรการช่วยเหลือผู้เป็นหนี้ในระบบผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การปรับโครงสร้างนี้ การผ่านปรนเกณฑ์การชำระหนี้ ครอบคลุมลูกหนี้ทุกประเภท ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ เอสเอ็มอี และลูกหนี้รายย่อย และมีการปรับปรุงมาตรการให้สอดคล้องสถานการณ์มาโดยต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาสที่1/66  มีผู้ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการของรัฐ แยกเป็นการช่วยเหลือผ่านธนารพาณิชย์ และนอนแบงก์ 1.94 ล้านบัญชี ยอดภาระหนี้ 1.89 ล้านล้านบาท ผ่านธนาคารเฉพาะกิจ 3.32 ล้านบัญชี ยอดภาระหนี้ 1.48 ล้านล้านบาท รวมการได้รับความช่วยเหลือทั้งสิ้น 5.26 ล้านบัญชี วงเงินรวม 3.37 ล้านล้านบาท

ส่วนการให้ความช่วยเหลือผู้เป็นหนี้นอกระบบธนาคารเฉพาะกิจก็ได้มีโครงการออกมาให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง เช่น กรณีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  ได้เปิดจุดให้คำปรึกษาเกี่ยวกับหนี้นอกระบบแก่ครอบครัวเกษตรกรที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ และล่าสุดได้มีโครงการ “มีหนี้นอกบอก ธ.ก.ส.” เพิ่มความสะดวกให้ผู้ต้องการใช้บริการให้ดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ได้ โดยลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่าน www.baac.or.th หรือ Line Official Account: BAAC Family กรอกข้อมูลส่วนบุคคลที่จำเป็น ภาระหนี้สิน และช่องทางติดต่อกลับในระบบ

จากนั้นธนาคารจะติดต่อกลับเพื่อนัดหมายเข้าพบพูดคุยให้คำปรึกษาในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งตั้งแต่มีโครงการช่วยเหลือครอบครัวเกษตรกรที่เป็นหนี้นอกระบบ ธ.ก.ส. ได้ช่วยผู้อยู่นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบแล้ว 710,123 ราย เป็นเงิน 59,759.77 ล้านบาท ซึ่งผู้สนใจโครงการสามารถสอบถามที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศและ Call Center ธ.ก.ส. 02 555 0555