งานเข้า "ผบ.ตร."สั่งสอบ ปมยูทูบเบอร์จ้าง 50 ตำรวจไล่ล่า ชี้โทษจำคุก 5 ปี

งานเข้า "ผบ.ตร."สั่งสอบ ปมยูทูบเบอร์จ้าง 50 ตำรวจไล่ล่า ชี้โทษจำคุก 5 ปี

ผบ.ตร. สั่งสอบสวน ใช่ตำรวจจริงหรือไม่ หลังช่องยูทูบเบอร์ชื่อดังทำคอนเทนต์ จ้างไล่ล่าตามหาทีมงานซ่อนตัวในตึกร้าง

19 มิ.ย.66 พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  กล่าวว่า พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.ได้รับทราบแล้ว สั่งการด่วนให้ พล.ต.ท.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ผบช.ภ.7 และ พล.ต.ต.ไพโรจน์ คุ้มภัย ผบก.ภ.จว.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดเหตุว่าจ้างตำรวจทำคอนเทนต์ ในช่องยูทูบเบอร์ชื่อดัง ถ่ายทำรายการ “ผมจ้างตำรวจ 50 คนไล่ล่าผม!”  เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าบุคคลที่ปรากฎในคลิปเป็นข้าราชการตำรวจจริงหรือไม่ มีการขออนุญาตถ่ายทำการแสดงในการแต่งกายตำรวจ ตามระเบียบกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งการใช้อาวุธปืน ยุทโธปกรณ์ ยานพาหนะ ถูกต้องหรือไม่ เบื้องต้นทราบว่า มีข้าราชการตำรวจจริงบางนายที่ร่วมแสดง ส่วนผู้แสดงอื่น ๆ กำลังตรวจสอบโดยละเอียดเพิ่มเติม

สำหรับบุคคลที่ไม่ใช่ตำรวจ แต่มารับจ้างแต่งกายเป็นตำรวจ หากไม่มีการขออนุญาตโดยถูกต้อง จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา 152 ฐาน แต่งเครื่องแบบตำรวจโดยไม่มีสิทธิ จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 5 ปี และความผิด ตาม ป.อาญา มาตรา 146 ผู้ที่ไม่มีสิทธิสวมเครื่องเเบบ หรือประดับเครื่องหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หากฝ่าฝืน จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนยูทูบเบอร์ชื่อดัง ที่มีหน้าที่รับผิดชอบการแสดง ในกรณีที่จะต้องมีแสดงแต่งกายเป็นตำรวจหรือแต่งกายคล้ายตำรวจ ต้องแจ้งบทเนื้อหา รายละเอียดเครื่องแบบ เครื่องแต่งกายที่ต้องใช้แสดงให้หัวหน้าสถานีตำรวจ ณ ท้องที่ที่จะถ่ายทำไม่น้อยกว่า 5 วันก่อนทำการถ่ายทำหรือการแสดงหากไม่มีการขออนุญาตโดยถูกต้อง แล้วไปจ้างบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ตำรวจมาแต่งกายเป็นตำรวจโดยไม่มีสิทธิ จะเป็นความผิดฐานเป็นผู้ใช้ และเมื่อมีการกระทำความผิดลง มีการแต่งกายตำรวจโดยไม่มีสิทธิ์ ยูทูบเบอร์ผู้นั้นจะต้องรับโทษเสมือนตัวการ


โฆษก ตร. กล่าวอีกว่า “ฝากถึงยูทูบเบอร์ หรือผู้ที่จะทำการถ่ายทำการแสดง ละคร ภาพยนตร์ หรือการแสดงอื่นๆในทำนองเดียวกัน เพื่อจะใช้เผยแพร่ออกสู่สาธารณชน หากมีการแต่งกายด้วยเครื่องแบบตำรวจ แต่งกายคล้ายตำรวจ หรือต้องใช้อุปกรณ์ ยานพาหนะ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องดำเนินการขออนุญาตให้ถูกต้องตามระเบียบ กฎหมาย เพราะบางครั้งอาจจะดำเนินการไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ทำให้เสื่อมเสียแก่ข้าราชการตำรวจ ทำให้คนหลงเชื่อว่าเป็นข้าราชการตำรวจจริง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชนได้ หากฝ่าฝืนจะมีโทษทางอาญา จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ส่วนข้าราชการตำรวจต้องปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย กฎเกณฑ์ที่กำหนดให้ถูกต้อง มีการขออนุญาตตามลำดับชั้นถึงผู้บังคับการ หากฝ่าฝืนจะมีโทษทางวินัย

ทั้งนี้เพื่อความเหมาะสม สมเกียรติแห่งเกียรติยศ ศักดิ์ศรีของเครื่องแบบตำรวจ ที่จะปรากฎออกสู่สาธารณชน”