ตั้งการ์ดรับ “โหวตนายกฯ” ชี้จุดเสี่ยง“ด้อมส้ม”ลุกฮือ
หน่วยงานความมั่นคง เตรียมแผนรองรับการประชุมรัฐสภา ในวันโหวตเลือกนายกฯ ที่คาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 13 ก.ค.นี้
ตลอดเดือนกรกฎาคม “ผบ.เหล่าทัพ-ตำรวจ” งดภารกิจเดินทางต่างประเทศ ในช่วงรอยต่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ที่ต้องเกาะติดสถานการณ์ด้านการเมืองในฐานะหน่วยงานความมั่นคง และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยตำแหน่ง ที่ต้อง โหวตเลือกนายกฯ หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศรับรอง ส.ส.ครบ 500 คน และอยู่ระหว่างการรายงานตัวต่อสภาฯ ตั้งแต่ 20-28 มิ.ย.2566
หากเป็นไปตามไทม์ไลน์ ที่ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี รายงานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ขั้นตอนถัดจากการประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา จะต่อด้วยการเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 6 ก.ค.2566 จากนั้นประธานสภาฯ ในฐานะประธานรัฐสภา จะเรียกประชุม 2 สภาฯ เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 ก.ค.2566
หากไม่มีเหตุพลิกผัน คาดว่าการแต่งตั้ง ครม.ใหม่ จะมีขึ้นในวันที่ 21 ก.ค. และเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนในช่วงปลายเดือน ก.ค.
ส่วน ครม.ชุดปัจจุบัน จะทำหน้าที่ไปรับเสด็จในพระราชพิธีเปิดประชุมรัฐสภา และทำงานจนกว่า ครม.ชุดใหม่ จะถวายสัตย์ปฏิญาณเสร็จสิ้น จึงจะสิ้นสุดการทำงาน
ระหว่างนี้ หน่วยงานด้านความมั่นคง ทั้งทหาร-ตำรวจ เห็นพ้องกันว่า วันเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกประธานสภาฯ และวันโหวตเลือกนายกฯ จะมีกองเชียร์ทั้งฝ่าย “ด้อมส้ม-เสื้อแดง” ออกมาเคลื่อนไหว แต่ยังไม่ปรากฏความชัดเจนว่า จะออกมารวมตัวหน้ารัฐสภาหรือไม่ อย่างไร ต้องรอประเมินสถานการณ์หน้างานอีกครั้ง
สำหรับ ความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย คาดว่า มีอย่างแน่นอน เพราะมีพลังแรง และเร็วกว่า แต่เชื่อว่ายังไม่มีอะไรรุนแรง
โดยเบื้องต้นการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นหน้าที่ของตำรวจ เน้นบังคับใช้กฎหมายปกติ และหากมีการรวมตัวกันหน้ารัฐสภาของบรรดากองเชียร์ ต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ หากเป็นการรวมตัวกันเกิน 5 คนขึ้นไป และต้องแยกมวลชนออกจากกัน หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า
สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของ “ตำรวจ” จะไม่มีการใช้อาวุธ และต้องปฏิบัติตามนโยบายผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด ห้ามปะทะโดยเด็ดขาด ส่วนการทำผิดกฎหมายซึ่งหน้า ใช้วิธีบันทึกภาพเก็บไว้ รวมทั้งเช็คกล้องวงจรปิดทุกตัวให้ใช้งานได้ เพื่อเป็นหลักฐาน ดำเนินการภายหลัง
ทว่า ประเด็นหนึ่งที่หน่วยงานความมั่นคงกังวลถึงปฏิกิริยาของคนในสังคม หาก“นายกฯ” ไม่ได้ชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม สิ่งที่จะตามมาคือการชุมนุมในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ
ส่วนจะรุนแรง หรือยกระดับมากน้อยแค่ไหน เป็นเรื่องต้องประเมินสถานการณ์กันอีกครั้ง
“หลังโหวตเลือกนายกฯ ต้องดูปฏิกิริยาสังคมว่าจะออกมาในรูปแบบใด ส่วนแผนรับมือ เหมือนการดูแลการชุมนุมทั่วไป ทำเป็นปกติอยู่แล้ว ทั้งหน้ากระทรวง หน้าทำเนียบรัฐบาล ต้องดูว่าผู้ชุมนุมมากน้อยแค่ไหน ทำคนเดือดร้อนทำผิดกฎหมายหรือไม่ การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ก้าวล่วงหรือไม่ เจ้าหน้าที่จะใช้วิธีออกหมายจับทีหลัง โดยได้ให้นโยบายว่าไม่ปะทะเด็ดขาด ไม่เบิกอาวุธ มีแต่โล่ห์ ใช้กล้องบันทึกการทำผิดกฎหมาย และปล่อยให้กลไกทางสภาฯ เดินหน้าไป” แหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคง ระบุ
ในขณะที่ “กองทัพบก” ซึ่งมีหน่วยทหารในพื้นที่ใกล้เคียงรัฐสภา เช่น กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู่อากาศยาน(ปตอ.) กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์(ม.พัน1 รอ.) กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน4รอ.) และกรมการทหารสื่อสาร ให้อยู่ดูแลหน่วยที่ตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
สำหรับ “กองทัพเรือ” ได้มีกองร้อยรักษาความปลอดภัยฐานทัพเรือกรุงเทพฯ หากมีการประสานร้องขอ หรือหากมีเหตุฉุกเฉิน
ได้เตรียมพร้อมเรือเล็กของกรมขนส่งทหารเรือ สำหรับวิ่งในแม่น้ำเจ้าพระยา ไว้อพยพประชาชน รวมถึง ส.ส.และ ส.ว.และข้าราชการประจำรัฐสภา
ทั้งหมดนี้ คือการประเมินสถานการณ์เบื้องต้น ของหน่วยงานความมั่นคง เพื่อเตรียมแผนรองรับการประชุมรัฐสภา ในวันโหวตเลือกนายกฯ ที่คาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 13 ก.ค.นี้