ทาง 2 แพร่ง ‘ก้าวไกล’ กลืนเลือดโหวต ‘เพื่อไทย’ ถอนทัพนั่งฝ่ายค้าน
"...เมื่อ 'ก้าวไกล' เดินมาถึงทาง 2 แพร่งที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญทางการเมืองตอนนี้ สุดท้ายจะเลือกทางไหนต้องรอวัดใจ 'แกนนำพรรค' กันต่อไป..."
เรียกได้ว่าเปิดฉากจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการ พลันที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรอง 500 ส.ส.เข้าสภาฯ เมื่อ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา
พรรคอันดับ 1 มีจำนวน ส.ส. 151 คน ป๊อปปูลาร์โหวตกว่า 14 ล้านเสียงอย่าง "ก้าวไกล" ไม่รอช้า จัดสัมมนา "ติวเข้ม" ส.ส.ที่สนามกอล์ฟพัฒนาสปอร์ตรีสอร์ท อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นำโดย 2 สหายแกนนำพรรคอย่าง "ต๋อม ชัยธวัช ตุลาธน" เลขาธิการพรรค "ติ่ง ศรายุทธ ใจหลัก" ผอ.พรรค ขาดเพียง "เอก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" เท่านั้น
สาระสำคัญในการติวเข้ม ส.ส.ดังกล่าว เนื่องจากในการเลือกตั้ง 2566 มี ส.ส.ป้ายแดง ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ได้เข้าสภาฯ จำนวนไม่น้อย คละเคล้ากันไปกับ ส.ส.หน้าเดิมที่เคยเป็น ส.ส.มาแล้วตอนปี 2562 ทำให้ต้องหล่อหลอม "หัวใจสีส้ม" ให้เป็นเอกภาพ ทั้งบทบาทการทำงานในสภาฯ และกระบวนการนิติบัญญัติ ที่พรรคก้าวไกลมี "ซิกเนเจอร์" ชัดเจนในเรื่องความ "ดุดันไม่เกรงใจใคร"
นอกจากนี้ ยังโชว์แผนเครือข่ายจัดตั้งพรรคมวลชน โดยขยายปักธงความคิดไปยัง 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสร้าง "ด้อมส้ม" รุ่นถัดๆ ไป ให้เป็นฐานเสียงของ "ก้าวไกล" ในอนาคต
ตอนนี้สิ่งที่ "ก้าวไกล" ต้องโฟกัสอันดับแรกคือ การชิงเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคอนโทรลการชงวาระต่างๆ เข้าสภาฯ รวมถึงคุมเกมการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่ง "ก้าวไกล" มีเพียงชื่อเดียวที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ นั่นคือ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ที่ปัจจุบันกำลังสะบักสะบอมจากกรณีถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) โดยเขาปิดปากเงียบ หลบหน้าสื่อมาแล้วหลายวัน และขณะนี้อยู่ระหว่างพักรักษาตัวจากการติดเชื้อโควิด-19
ทว่า ศึกชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะ "เพื่อไทย" ในฐานะพรรคอันดับ 2 มี ส.ส.ในมือ 141 คน ป๊อปปูลาร์โหวตกว่า 10 ล้านเสียง ก็จ้องตำแหน่งนี้ตาเป็นมันเช่นกัน เพื่อไว้คอนโทรลเกมในสภาฯ และเผื่อเหลือเผื่อขาด หาก "ส้มหล่น" ได้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นมา การมีคนในพรรคเป็น "ประมุขนิติบัญญัติ" ย่อมได้เปรียบทางการเมือง
3 อุปสรรคที่ "ก้าวไกล" จำเป็นต้องฟันฝ่า หากต้องการจัดตั้งรัฐบาล และชู "พิธา" เป็นนายกฯ คนที่ 30
1.การชิงตำแหน่งประธานสภาฯ มาเป็นของพรรค เพื่อคุมเกมการโหวตเลือกนายกฯ รวมถึงบรรจุญัตติต่างๆ เข้าที่ประชุม โดยก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า "ก้าวไกล" อาจใช้เกม "ยื้อ" โดยบรรดา ส.ส.พรรคจะเข้าชื่อชงศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ขาดกรณีการถือหุ้น Itv ของ "พิธา" ซึ่งในช่วงเวลาที่ศาลรับคำร้องจนกว่าจะวินิจฉัย กินเวลานานหลายเดือน จึงมีเวลาเพียงพอที่จะชงชื่อ "พิธา" เข้าที่ประชุมเพื่อโหวตเลือกนายกฯ ได้หลายครั้ง เป็นการกดดัน ส.ว.ให้เคารพมติมหาชน 14 ล้านเสียง
2.ต้องมั่นใจว่าแก้ข้อครหาคดีหุ้น Itv ของ "พิธา" ได้ 100% แบบไม่มีจุดด่างพร้อย เพราะ ณ เวลานี้พยานหลักฐานต่าง ๆ ที่ "ก้าวไกล" นำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ไม่อาจลบล้างข้อเท็จจริงได้ว่า "พิธา" ถือครองหุ้น Itv จริง ในช่วงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และในวันเลือกตั้ง ส.ส. 14 พ.ค.2566
โดยหากเทียบบรรทัดฐานในคดีหุ้นสื่อ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ศาลวินิจฉัยในประเด็นว่า แม้บริษัท วีลัค มีเดีย จำกัด จะอยู่ระหว่างกระบวนการเลิกกิจการ แต่ยังไม่เสร็จชำระบัญชี ดังนั้นจะสามารถกลับมาเปิดทำสื่ออีกครั้งเมื่อไรก็ได้ มิได้วินิจฉัยในประเด็นแค่ว่าบริษัทดังกล่าวทำสื่อหรือไม่ทำสื่อเพียงอย่างเดียว
3.ดีลเสียง ส.ว.มาให้ได้มากที่สุด เพราะใน 8 พรรคการเมืองร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลขณะนี้ มี ส.ส.อยู่ 312 คน แต่การโหวตเลือกนายกฯ ต้องใช้เสียงข้างมากของ 2 สภาคือ ส.ส.และ ส.ว. ตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญปี 2560
ดังนั้น "ก้าวไกล" ยังขาดเสียง ส.ว.อีกขั้นต่ำ 64 เสียง แม้ "ก้าวไกล" จะพยายามพูดผ่านสื่อยืนยันว่า การเจรจากับ ส.ว.เป็นไปด้วยดี และเสียงใกล้ครบแล้วก็ตาม แต่ฝ่าย ส.ว.ออกมาแก้ต่าง และยืนยันว่าขณะนี้เสียง ส.ว.ที่จะโหวต "พิธา" เริ่มกลับลำกันหมดแล้วเช่นกัน
หากสุดท้าย "ก้าวไกล" ฟันฝ่า 3 อุปสรรคไปไม่ได้ จะมีผลลัพธ์ออกมาอย่างน้อย 2 กรณี
1.พรรคก้าวไกล ยอมถอยให้พรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคอันดับ 2 ได้รวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล และจะต้องโหวตแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย คนใดคนหนึ่งใน 3 คน คือ เศรษฐา ทวีสิน "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร และชัยเกษม นิติสิริ หาก "ก้าวไกล" ยอม "กลืนเลือด" เพื่อขอแค่ให้ได้ร่วมรัฐบาล แต่อาจต้องอยู่ร่วมกับพรรคอื่นๆ ที่เป็น "ไม้เบื่อไม้เมา" ทางการเมือง รวมถึงการผลักดันนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายรัฐสวัสดิการ การกระตุ้นเศรษฐกิจ การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อาจทำได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร หรืออาจทำไม่ได้เลย
2.พรรคก้าวไกล ยอมถอนทัพ ประกาศจุดยืนชัดเจนขอเป็น "ฝ่ายค้าน" แล้วปล่อยให้พรรคเพื่อไทย ไปรวมเสียงกับพรรคอื่นๆ จัดตั้งรัฐบาล กรณีนี้จะ "ได้ใจ" ประชาชน รวมถึง "ด้อมส้ม" เป็นอย่างมาก และเป็นไปได้สูงว่าในการเลือกตั้งครั้งถัดไปจะได้คะแนนเสียงเพิ่มมากขึ้น เป็นไปตามการคาดการณ์ของ "บิ๊กเนมสีส้ม" ที่มองว่าการลงสนามการเมืองนับตั้งแต่ปี 2562 เพื่อหวังเปลี่ยนแปลงประเทศ เป็น "เกมยาว" ต้องอดทนรอให้ได้
เมื่อ "ก้าวไกล" เดินมาถึงทาง 2 แพร่งที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญทางการเมืองตอนนี้ สุดท้ายจะเลือกทางไหนต้องรอวัดใจ "แกนนำพรรค" กันต่อไป