เบื้องลึก พักศึกการเมือง 'กรณ์' ถอยฉาก ขวางดีล
"...ไม่ว่าเหตุผลฉากหน้า ที่ถูกปล่อยออกมาจากฝ่ายชาติพัฒนาจะเป็นเรื่องความรับผิดชอบต่อการเลือกตั้ง แต่ฉากหลัง เหตุผลเบื้องลึกคือ กรณ์ไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง และหวาดระแวงภายในพรรค..."
"ตลอดช่วง 18 ปีที่ผ่านมา ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสรับใช้ประชาชนและประเทศที่ผมรักในฐานะนักการเมืองคนหนึ่งที่มาจากการเลือกตั้ง ผมขอขอบคุณทุกๆ คนที่ช่วยผมทำภารกิจนี้มานับแต่ปี 48 บ้านเมืองเรายังมีปัญหาอีกมากมายรอการแก้ไข ผมขอเป็นกำลังใจให้เพื่อนนักการเมืองจากทุกพรรค... "
ประโยคที่ “กรณ์ จาติกวณิช” ได้สื่อสารกับสังคม หลังจากแจ้งว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เข้าพบ และยื่นจดหมายถึงประธานพรรค "สุวัจน์ ลิปตพัลลภ" เพื่อแจ้งลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า
ถือเป็นเซอร์ไพรส์ วงนอกการเมือง เมื่อ “กรณ์” ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรค ที่เขาเพิ่งเข้าร่วมงานไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ปลายปี 2565 พร้อมกับพาทีมขุนพลพรรคกล้า ที่ร่วมก่อตั้งพรรคมาด้วยกันเมื่อ 2 ปีก่อน เข้ามาร่วมศึกเลือกตั้งใหญ่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่เพิ่งผ่านมา
พร้อมกับมีกระแสข่าวตามมาว่า เหตุผลคือการรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้ง ที่พลาดเป้าหมายไปมาก ไม่สามารถนำพรรค ชพก.ไปถึงจุดหมาย 10 ที่นั่ง แต่ได้มาแค่ 2 ที่นั่ง คือ วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประสาท ตันประเสริฐ ส.ส.นครสวรรค์ ซึ่งไม่ใช่คนในสายพรรคกล้า
อีกเหตุผลก็คาดกันว่า อาจมาจากปมดราม่า เทรนด์ทวิตเตอร์ “มีกรณ์ ไม่มีกู” โดย “แกนนำพรรคก้าวไกล” ประกาศต่อสาธารณะว่า จะมีการเจรจาดึง 2 เสียงของชาติพัฒนากล้า มาร่วมโหวตให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ได้นั่งเก้าอี้นายกฯ แต่กลับโดน “ทัวร์ส้ม” ถล่มยับ ทั้งที่ “กรณ์” ไม่รับรู้เรื่องดีลนี้
ต่อมาปรากฏภาพ “กรณ์” ยืนอยู่หน้ารถทะเบียน 151 ทำให้กลุ่มสนับสนุนพรรคก้าวไกลโจมตี “กรณ์” อีกครั้ง เนื่องจากขณะนั้น กกต.กำลังพิจารณา คำร้องเรื่องการถือหุ้นสื่อของ “พิธา” มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151
ไม่ว่าเหตุผลฉากหน้า ที่ถูกปล่อยออกมาจากฝ่ายชาติพัฒนาจะเป็นเรื่องความรับผิดชอบต่อการเลือกตั้ง แต่ฉากหลัง เหตุผลเบื้องลึกคือ กรณ์ไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง และหวาดระแวงภายในพรรค
เป็นที่รู้กันภายในว่า สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรค อยากร่วมงานกับเพื่อไทย และคนแดนไกล และหากกรณ์ ยังนั่งอยู่ โดยมีจุดยืนที่เคยประกาศนโยบาย “ชนทุนผูกขาด” ก็จะเป็นอุปสรรคให้ “สุวัจน์” และพรรคของเขาไปต่อลำบาก ที่สำคัญ ไม่ต้องการให้ถูกระแวงว่า กรณ์และคนจากพรรคกล้าจะยึดพรรคชาติพัฒนา
เมื่อได้ข้อสรุปเช่นนี้ ต่างฝ่ายจึงต่างแยกย้าย จากการด้วยดี
ส่วนกลุ่มคนใกล้ชิด ก็เลือกทางเดินของตัวเอง โดย "วรวุฒิ อุ่นใจ" รองหัวหน้าพรรค ก็ประกาศถอยออกมาพร้อมกันด้วย
ส่วน "อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี" เลขาธิการพรรค ยังจะเดินหน้าทำการเมืองร่วมกับสุวัจน์ในพรรคนี้ต่อ ซึ่งจะเปลี่ยนชื่อกลับมาเป็น “พรรคชาติพัฒนา” เช่นเดิม
ขณะที่หลายฝ่ายอาจคาดว่า กลุ่มพรรคกล้าจะกลับไปทำพรรคเดิมต่อ แต่เวลานี้ ยังไม่มีสัญญาณ ที่น่าสนใจคือ "วรนัยน์ วาณิชกะ" อดีตหัวหน้าพรรครวมไทยยูไนเต็ด ที่กรณ์ ดึงมานั่งปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า จะถอยออกจากพรรคนี้ ไปลุยนำพรรคกล้าแทน
หลายปมเงื่อนทางการเมือง ที่ทำให้ “กรณ์” ในวัย 59 ปี ตัดสินใจเว้นวรรคทางการเมืองอย่างไม่มีกำหนด
ว่ากันว่า กรณ์อยากถอยออกจากการเมือง โดยใช้คำว่า “ยุติ” หรือเลิกเล่นการเมือง แต่ก็มีคนรอบข้าง ขอร้องให้เผื่อโอกาสทำงานเพื่อบ้านเมืองเอาไว้
หากย้อนกลับไปดูเส้นทางของเขา กรณ์เข้าสู่สนามการเมืองจากการชักชวนของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เพื่อนสมัยเรียนด้วยกันที่อังกฤษ โดยมาลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ลงสนามเลือกตั้งครั้งแรก เมื่อ 6 ก.พ. 2548 ได้เป็น ส.ส. เขต 7 (ยานนาวา) กทม. หลังจากนั้น “กรณ์” ได้นั่งเก้าอี้ ส.ส. ต่อเนื่องอีก 4 สมัย (2548, 2550, 2554, 2562)
บทบาทในสภาฯ ได้ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมาธิการการเงินการคลังและสถาบันการเงิน สภาผู้แทนฯ 2 สมัย และขยับขึ้นเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ต่อมาปี 2551 ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ “กรณ์” ได้รับความไว้วางใจให้นั่งเก้าอี้ “รมว.คลัง” ซึ่งไทยกำลังเผชิญมรสุมเศรษฐกิจจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ แต่สามารถพาไทยผ่านพ้นวิกฤตการเงินโลกมาได้รวดเร็วอันดับ 2 ของโลก กระทั่งปลายปี 2553 มาตรการไทยเข้มแข็งที่กรณ์ริเริ่มไว้ก็ประสบความสำเร็จ
ความโดดเด่นของกรณ์ ทำให้ The Banker นิตยสารชั้นนำของอังกฤษ คัดเลือกให้เป็น “รัฐมนตรีคลังโลก” ปี 2010 และ “รัฐมนตรีคลังเอเชียแห่งปี 2010” เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2553 ซึ่งคัดเลือกจากรัฐมนตรีคลังในประเทศต่างๆทั่วโลก 5 ภูมิภาค
เส้นทางการเมืองของกรณ์ พลิกผันครั้งสำคัญ เมื่อ “อภิสิทธิ์” นำ ปชป.พ่ายศึกเลือกตั้งปี 2562 จนต้องลาออกจากหัวหน้าพรรค “กรณ์” อาสาลงชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคแทน โดย “ทีมอภิสิทธิ์” รับปากจะคอยหนุนหลัง แต่แล้ววันโหวต สถานการณ์ก็พลิกผัน เมื่อมีการเทคะแนนให้ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” เพื่อสกัด “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค”
กระทั่งปี 2563 กรณ์ตัดสินใจลาออกจาก ปชป. และก่อตั้ง “พรรคกล้า” ร่วมกับอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี แต่ขับเคลื่อนพรรคกล้าได้เพียง 2 ปี ด้วยกติกาเลือกตั้งเปลี่ยนจากบัตรใบเดียว มาเป็นแบบบัตรสองใบ ซึ่งไม่เอื้อกับพรรคการเมืองขนาดเล็ก ทำให้ตัดสินใจยกทีมไปร่วมกับพรรคชาติพัฒนา
เส้นทางทางการเมืองคนชายชื่อ “กรณ์ จาติกวณิช” เดินมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง ต้องติดตามว่าอดีตขุนคลัง จะเพียงแค่พักผ่อน พักรบ หรือจะถอยจากวงจรทางการเมืองถาวร