‘ปดิพัทธ์’ ย้ำจุดยืน ประธานสภาฯของก้าวไกล ปัดเอา รมต.แลก โยนหน้าที่ทีมเจรจา
‘ปดิพัทธ์’ ย้ำจุดยืน ‘ก้าวไกล’ นั่งประธานสภาฯ ลั่นยังมีเวลา หลังเลื่อนถกเจรากับ ‘เพื่อไทย’ ยันไม่คิดเป็นฝ่ายค้าน ปัดตอบเอาเก้าอี้ รมต.ไปแลกเปลี่ยนหรือไม่ โยนเป็นหน้าที่คณะเจรจาฯ ไม่ขอก้าวล่วง
เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2566 นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 และกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ‘เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand’ ดำเนินรายการโดยนายดนัย เอกมหาสวัสดิ์ และ น.ส.อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ ถึงประเด็นถูกเสนอชื่อจากพรรคก้าวไกล ให้ชิงตำแหน่งประธานสภาฯ ว่า จุดยืนของพรรคก้าวไกล เราต้องการจะจบหลังจากมีการแถลงอย่างเป็นทางการของพรรคร่วม แต่พอดีเมื่อวาน (27 มิ.ย.) ตอน ส.ส.พรรคก้าวไกลรายงานตัวกับสภาฯ มีการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ มีชื่อตนออกไปก่อน อย่างไรก็ดีตอนนี้ใกล้เปิดสภาฯเต็มที่แล้ว จึงเปิดเผยชื่อ และแนวทางของเราได้ ยืนยันว่าคณะทำงานฯ ไม่มีทางพูดก่อนคณะเจรจาฯแน่ ๆ เพื่อให้คณะเจรจาหารือเสร็จ แถลงร่วมก่อน เพราะฉะนั้นมันไม่ได้เป็นทางการที่จะมาเปิดเผยก่อน
ส่วนประเด็นพรรคเพื่อไทยแถลงต้องการได้ตำแหน่งประธานสภาฯ พรรคก้าวไกลจะไปต่ออย่างไรนั้น นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า คิดว่ายังอยู่ในกระบวนการเจรจา ตราบใดไม่ถึงวันโหวต ยังมีโอกาสปรับการเจรจาเสมอ ถ้าทั้ง 2 พรรคต้องการตำแหน่งนี้จริง ๆ ต้องเข้าไปเจรจากันว่า เงื่อนไขเป็นอย่างไรบ้าง และกระทบต่อตำแหน่งอื่น ๆ อย่างไร เพราะพรรคก้าวไกลแบ่งออกเป็น 2 แท่งคือ นิติบัญญัติ กับบริหารแยกกัน พอชนะเลือกตั้ง ได้เตรียมทั้ง 2 แท่ง เนื่องจากเมื่อชนะระดับหนึ่ง จะเป็นผู้คุมทั้ง 2 แท่ง พอเจรจาเป็นอย่างนี้ เลยปิดฝั่งนิติบัญญัติไว้ก่อน รอฝั่งเจรจาว่าจะจบอย่างไร
เมื่อถามว่า หากยังอยู่ในกระบวนการเจรจา ทำไมกลางดึกคืนวันที่ 27 มิ.ย.พรรคก้าวไกลจึงประกาศล้มการเจรจากับพรรคเพื่อไทยในวันนี้ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า อย่าเรียกว่าล้ม เรียกว่าเลื่อนดีกว่า ตราบใดที่ยังไม่ถึงการปฏิญาณตน การเจรจายังมีต่อไปเรื่อย ๆ แต่เรียนด้วยความจริงใจ ก่อนเราสร้างตึกสร้างบ้าน ต้องถกเถียงพิมพ์เขียวให้เด็ดขาดก่อน ถ้ายังไม่ลงตัว ถกเถียงให้จบ ยังมีเวลา เคารพ และให้เกียรติพรรคร่วมเสมอว่ายังเจรจาต่อไป ไม่อยากผูกมัด หรือสร้างเงื่อนไขอะไร
เมื่อถามย้ำว่า การเลื่อนหมายถึงพรรคก้าวไกลต้องคุยกันภายใน หรือปรับท่าทีอะไรก่อนนัดคุยกับพรรคเพื่อไทยรอบใหม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า คิดว่าเป็นโจทย์ของทุกพรรค ก้าวไกลต้องกลับมาทบทวนว่า จุดยืนเพื่อไทยเป็นแบบนี้ นพ.ชลน่าน บอกว่าไม่ใช่มติพรรค แต่เป็นความเห็นเสนอไปยังคณะเจรจาฯ ก้าวไกลก็มีความเห็นของสมาชิกเหมือนกันส่งให้ทางคณะเจรจาฯ แต่ไม่ได้เปิดเผย คิดว่าเชื่อใจคณะเจรจาฯทั้ง 2 ชุดของเรา ไม่ว่าก้าวไกล หรือเพื่อไทย มีวุฒิภาวะ เอาข้อเสนอสมาชิกไปคุยกันให้ได้ข้อตกลงดีที่สุด
เมื่อซักว่า ข้อเท็จจริงขณะนี้คือต่างฝ่ายต่างยืนยันต้องได้ประธานสภาฯ มีสมการอะไรบ้างที่จะเป็นทางออกเรื่องนี้ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า พูดได้เฉพาะฝั่งก้าวไกล สิ่งแรกต้องวางหลักการให้มั่นไว้ก่อนว่า พรรคที่ได้เสียงมากที่สุดเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เป็นตัวเลือกแรกในการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ถ้าเสียไปใน 2-3 รอบในประวัติศาสตร์ รอบนี้จะเสียอีกหรือไม่อย่างไร ความจำเป็นมีแค่ไหน อีกเรื่องความเป็นธรรมต่อพวกเรา และประชาชนที่เลือกเรามา ถ้ารู้ว่าเลือกประธานสภาฯเป็นก้าวไกล ประเทศได้รับอะไรบ้าง ไม่ได้คุยแค่ว่าเราเยอะกว่า ไม่ได้ขู่กว่าเยอะกว่า จะทำงานแบบนี้ แต่ข้อเสนอแบบนี้ ประชาชนและพรรคร่วมเห็นด้วยหรือไม่ เป็นหน้าที่เราทำท่ามกลางการเจรจาที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง
เมื่อถามว่า ต้องเอาเก้าอี้รัฐมนตรีบางกระทรวงแลกเปลี่ยนกับตำแหน่งประธานสภาฯหรือไม่ ถึงจะจบได้ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ตรงนี้เป็นหน้าที่ของคณะเจรจาฯอย่างเดียว ไม่ได้ไปก้าวล่วงตรงนั้น
เมื่อถามย้ำว่า แปลว่าประธานสภาฯ ก้าวไกลไม่ถอยใช่หรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า เราแสดงความตั้งใจรักษาหลักการเอาไว้ ตั้งใจว่าจะเข้าไปทำงานอะไร คิดว่าบทบาทแค่นั้นเพียงพอแล้ว ถ้าทีมเจรจาฯจะมีการหารืออย่างไร เราให้อิสระ และปล่อยเป็นความไว้วางใจดีกว่าว่า 2 ฝ่ายเจรจาหารือกันอย่างลงตัวที่สุด
ส่วนพรรคก้าวไกล พร้อมเป็นฝ่ายค้านใช่หรือไม่ นายปดิพัทธ์ หยุดคิดนิดหนึ่งก่อนกล่าวว่า เรารับฉันทามติเพื่อเป็นฝ่ายรัฐบาล ด้วยการรวมเสียงข้างมาก 312 เสียงได้ ในการจัดตั้งรัฐบาลที่ยากขนาดนี้ กติกาประเทศไทยขณะนี้ไม่ปกติ ถ้าเป็นกติกาปกติ สัปดาห์นี้เรามีรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว ถามว่าเราพร้อมหรือไม่ กลับไปดูกติกา ถ้ากติกานี้ทำให้เกิดการเล่นนอกเกมมาก ๆ ยิ่งสร้างความรับรู้ให้สังคมว่า ทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ เพราะทำให้การเลือกตั้งที่ประชาชนมอบฉันทามติมามันตะกุกตะกักเหลือเกิน
เมื่อถามว่า หากยืนยันจะเป็นรัฐบาลให้ได้ ต้องถอยให้พรรคเพื่อไทย แล้วอะไรที่ถอยได้บ้าง เช่น ประธานสภาฯจะถอยให้ได้หรือไม่ หรือต้องเอาอะไรไปแลกเปลี่ยน นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า อยากให้ทุกคนดูเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาของการต่อรองในระบอบประชาธิปไตย เมื่อเสียงไม่ขาดมากการต่อรองก็มี แต่สุดท้ายก็มีวัน Final และวัน Final ยังไม่ใช่วันนี้พรุ่งนี้ มีเวลาอีกหลายวัน อยากให้ดูกันด้วยความไว้ใจ รอบคอบ ให้โอกาสทีมทำงานทำกันเต็มที่ก่อน
สุดท้ายเมื่อถามว่า แต่จะโหวตประธานสภาฯ วันที่ 4 ก.ค.นี้ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ยังมีเวลา