'ปดิพัทธ์' ให้เวลาทีมเจรจายุติปม ปธ.สภาฯ เชื่อไม่กระเทือนสัมพันธ์พรรคร่วม
'ปดิพัทธ์' เผยให้เวลาคณะเจรจาไปหาข้อยุติศึกชิงประธานสภาฯ มั่นใจไม่กระเทือนสัมพันธ์พรรคร่วม ชี้เป้าหมายใหญ่คือตั้งรัฐบาล ลั่นถ้าได้เป็นประมุขนิติบัญญัติ พร้อมลาออก กก.บห.ก้าวไกล เพื่อวางตัวเป็นกลาง
เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2566 นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 และกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตตำแหน่งประธานสภาฯของพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า สาเหตุที่พรรคก้าวไกลเลื่อนหารือกับพรรคเพื่อไทยในวันนี้ (28 มิ.ย.) เป็นการเลื่อนของคณะเจรจา ดังนั้นไทม์ไลน์วันที่ 28-29 มิ.ย. ที่จะมีความชัดเจนเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯก็ต้องเลื่อนออกไปก่อน จะต้องให้ความไว้วางใจ เพราะคณะเจรจาได้รับผลตอบรับจาก ทั้ง ส.ส.ของแต่ละพรรคและสังคมไปแล้ว ก็ให้ได้เดินหน้าเจรจากัน
ส่วนที่มีการมองว่าเป็นเกมต่อรองของพรรคก้าวไกลหลังจากนี้จะจบอย่างไรนั้น นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ตอนนี้การเจรจา ยังไม่สิ้นสุด ตราบใดที่ยังไม่มีการโหวตประธานสภา การเจรจาก็ยังคงเดินต่อไปได้เรื่อยๆ แต่ด้วยเงื่อนเวลาบีบว่าจะต้องการความชัดเจนแล้ว ก็ยังไม่จำเป็นที่จะต้องตอบภายใน 1-2 วันนี้ จะต้องให้เวลากับคณะทำงานให้ได้มากที่สุด แล้วแต่ละฝั่งก็ไม่ได้หยุดเตรียมการ หากเปิดสภาแล้วและหากพรรคก้าวไกลได้รับตำแหน่งเป็นประธานสภา ก็จะต้องเตรียมภารกิจที่จะทำไว้ให้พร้อม
ส่วนแนวโน้มก้าวไกลจะถอยหรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของทีมเจรจา ส่วนที่นักวิชาการต้องการให้ถอยคนละก้าวระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล มองว่าตนมีหน้าที่เตรียมงานสภา จึงต้องเตรียมงานสภาให้มีความพร้อม ส่วนทีมเจรจาจะไปรับฟังกลุ่มต่างๆ และมีหน้าที่ในการไปเจรจา ดังนั้น จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของทีมเจรจา
เมื่อถามว่า จะทันกรอบระยะเวลาในการทำรัฐพิธีในวันที่ 3 ก.ค.นี้ หรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ทันแน่นอน เพราะก่อนที่จะลงทุนสร้างบ้าน ก็จะต้องทะเลาะกันเรื่องพิมพ์เขียวให้เรียบร้อยก่อน ถ้ายังออกแบบแล้ว ยังไม่พอใจกัน ก็ยังไม่ต้องสร้าง แต่สุดท้ายแล้วมันก็มีวันสร้างก็คือวันที่เริ่มต้นรัฐพิธี
ส่วนสองพรรคจะหาข้อตกลงกันได้อยู่หรือไม่นั้น นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า แนวโน้มจากเสียงโหวตที่ประชาชนมอบให้ยังไงสองพรรคก็ต้องตกลงกันได้อยู่แล้ว เพราะจุดยืนของพรรคก้าวไกลมีความตั้งใจว่า ถ้าสามารถยึดหลักการไม่ได้ คือ พรรคอันดับหนึ่ง จะได้ความชอบธรรมในการเป็นประธานสภา เหมือนกับที่พรรคอันดับหนึ่งได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จึงเดินหน้าตามหลักการนี้ก่อน และต้องมีคำตอบให้สังคมว่าทำไมถึงพร้อมทั้งเรื่องของวิสัยทัศน์และนโยบาย ซึ่งพรรคได้เตรียมแบบที่ควรจะเป็นในทิศทางของพรรคไว้ก่อน ส่วนแผนอื่นจะเป็นอย่างไรค่อยว่ากัน
ส่วนปัญหาเรื่องตำแหน่งประธานสภาจะทำให้พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยแตกกันหรือไม่นั้น นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ในฝั่งของก้าวไกลคิดว่าเรื่องนี้ เป้าหมายของพรรคใหญ่มากในการจัดตั้งรัฐบาล ที่เป็นความหวังของประชาชน ตนคิดว่าคงไม่ให้ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งมาทำให้เป้าหมายที่เสียไป
ส่วนบทบาทความไม่เชื่อมั่นเพราะอยากได้ประธานที่น่าเชื่อถือมีประสบการณ์ มีความเหมาะสม มองเรื่องนี้อย่างไร หากก้าวไกลเข้าไปแล้วจะทำได้มากน้อยแค่ไหนนั้น นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า เป็นสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ และข้อเสนอ ข้อเสนอเรื่องประสบการณ์ ได้รับผลตอบรับมาตั้งแต่สมัยที่แล้ว จึงต้องแลกด้วยการทำงานหนัก และการค้นคว้าข้อมูลและถามผู้รู้ในประสบการณ์ต่างๆ
"ผมไม่สามารถบอกได้ว่า ผมจะเป็นประธานที่ดีที่สุดให้ทุกคนไว้ใจได้อย่างไร แต่ผมได้นำเสนอแล้วว่าเรามีความพร้อมและเราพร้อมที่จะทำงานหนักร่วมกับทุกฝ่ายจึงเป็นเรื่องที่ทีมเจรจาจะไปพิจารณากัน" นายปดิพัทธ์ กล่าว
เมื่อถามว่า อยากจะบอกกับผู้ที่จะโหวตให้พรรคก้าวไกลในการเป็นประธานสภาอย่างไรบ้างเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการทำหน้าที่ของตนเอง นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ตามข้อบังคับในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า ก่อนจะมีการโหวตประธานสภา จะต้องมีการแสดงวิสัยทัศน์ก่อน ตนคิดว่าเวทีในการแสดงวิสัยทัศน์ในวันที่ 4 ก.ค. จะเป็นเวทีที่ตนสามารถให้ความมั่นใจกับสมาชิกสภาได้ แต่ทั้งหมดจะต้องจบที่ทีมเจรจาก่อน ดังนั้นความไว้ใจของตนตอนนี้ ไม่ใช่จะไว้ใจใคร แต่ไว้ใจทีมเจรจาก่อน เพราะเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะของทั้งสองพรรคได้คุยกัน
ส่วนกระบวนการเสนอชื่อมาเป็นตนเองนั้นได้รับความไว้วางใจจาก ส.ส. 151 คนในพรรคหรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ในพรรคจะแบ่งเป็นสามปีก คือ ปีกทีมเจรจา ปีกฟอร์ม ครม. และปีกฟอร์มทีมสภา แต่ละปีกมีอิสระต่อกันไม่ได้มีการมานั่งดูว่าใครเป็นของใคร แต่อาจจะมีการพูดคุยเรื่องตัวละคร ว่าจะโยกจากคนนี้ไปเป็นคนนี้ได้หรือไม่ ซึ่งในทีมสภาเราได้ออกแบบร่วมกัน ว่านโยบายควรเป็นอย่างไร มีอะไรที่ควรปรับในกระบวนการนิติบัญญัติบ้าง แล้วจะยกระดับการทำงานในสภาอย่างไรบ้าง
"อย่างไรก็ตาม ซึ่งเป็นคนในทีมที่ทำงานร่วมกัน และไปรับฟังความคิดเห็นจากคนหลากหลายกลุ่มว่าอยากเห็นสภาพเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ส่วนชื่อของผมถูกพิจารณาโดยกรรมการบริหารพรรค มีการนำเสนอชื่อผ่านกรรมการบริหารและประกาศให้ที่ประชุม ส.ส.ได้รับทราบ" นายปดิพัทธ์ กล่าว
เมื่อถามว่า ท้ายที่สุดแล้ว ถ้าเพื่อไทยไม่ถอย ก้าวไกลไม่ถอย จะทำให้พรรคใดพรรคหนึ่งเป็นฝ่ายค้านหรือไม่นั้น นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า การเจรจาจะจบลงด้วยดี ตราบใดที่ยังไม่ถึงวันนั้น ก็ให้เวลาหน่อย ทุกคนก็อยู่ในความกดดัน ประชาชนก็คาดหวังเยอะ ถ้าไม่ไว้ใจกันคิดเล็กคิดน้อย คนนั้นพูดอย่างนั้น คนนี้พูดอย่างนี้ทีมทำงานก็ทำงานไม่ได้ ก็ขอให้ทีมเจรจาทำงานให้เต็มที่ให้ได้ และยืนยันว่ายังไว้ใจกันอยู่แน่นอน
ส่วนหากได้นั่งประธานสภาจะมั่นใจหรือไม่ว่า สามารถเอาอยู่ในปัญหาความวุ่นวายของการทำงานต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นภายในสภา นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า คิดว่าทุกคนมีวุฒิภาวะ และเชื่อมั่นว่าไม่ต้องมาเคารพที่ตัวของตนเอง และมาฟังตอนเบรก แต่ทุกคนต้องเชื่อในข้อบังคับที่เป็นกฎหมายของการประชุมและเคารพรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจทุกคนอยู่ในกติกานี้ได้ แล้วตนคิดว่าคงไม่ได้ไปตั้งหน้าตั้งตาปิดไมค์ใครด้วย เพราะทุกคนมีเอกสิทธิ์ในการอภิปราย ตราบใดที่อยู่ในข้อบังคับ จึงคิดว่ากติกานี้จะทำให้เอาอยู่ ไม่ใช่ตัวบุคคล
"ผมยืนยันว่า ยังคงเปิดกว้างในการเสนอกฎหมาย ไม่ใช่แค่ผลักดันในกฎหมายของก้าวไกลอย่างเดียว แต่หากได้ตำแหน่งประธานสภา ผมก็จะลาออกจากกรรมการบริหารพรรค และไม่เข้าประชุม ส.ส. เพื่อรักษาความเป็นกลาง และเปิดโอกาสให้การเสนอกฎหมายฝั่งทั้งจากของ ครม. ของ ส.ส. และประชาชน 10,000 คน ที่เข้าชื่อกัน ก็จะได้รับการพิจารณาอย่างมีสัดส่วนและเท่าเทียม" นายปดิพัทธ์ กล่าว