++ ‘วีระศักดิ์’ ถามกลับหลักการ ส.ว. ปิดหรือไม่ปิดสวิตช์
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นจะโหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ว่า ขณะนี้ ส.ว. ต่างระมัดระวังที่จะไม่คุยกัน เพราะไม่มีพรรคการเมืองในวุฒิสภา ที่มาจากคนที่มีความหลากหลายแตกต่าง จากสารพัดอาชีพและพื้นที่ ทุกคนไม่กลับมาเป็น ส.ว. ตลอดชีวิต ตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นแต่ละคนมีวิธีคิดและการกำหนดท่าทีของตัวเองที่แตกต่างกันไป
“ความคืบหน้าของพรรคก้าวไกลในการพูดคุยกับ ส.ว. ผมไม่ทราบเลย เพราะปิดสมัยประชุมฯ ไม่ได้เจอกัน และ ส.ว. เขาก็เป็นผู้ใหญ่ด้วยกันทั้งนั้น จึงไม่มีใครไปแทรกแซงถาม เว้นแต่ว่าจะมีการคุยกันวงเล็ก 4-5 คน”
ส่วนเกณฑ์ที่จะพิจารณาโหวตเลือกนายกฯ มีอะไรบ้างนั้น มองว่านั่นเป็นคำถามเบื้องต้น แต่เรื่องที่ย้อนไปก่อนหน้านั้นคือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว กระแสเรียกร้องและยื่นรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเข้าไปในรัฐสภาเพื่อขอให้ ส.ว. ปิดสวิตช์อย่ามายุ่งกับการเลือกนายกฯ นั้น ตนเองคือหนึ่งในน้อยคนที่ได้โหวตปิดสวิตช์ตัวเอง ส่วนรอบนี้จะปิดสวิตช์อีกรอบหรือไม่นั้น อยู่ระหว่างทบทวน
“อยากให้ลองตอบคำถามผมดู ว่าหลักการของ 2 ปีที่แล้วกับหลักการของปีนี้ ทำไมมันถึงได้กลับแบบ 180 องศาเมื่อ 2 ปีที่แล้วเรียกร้องว่า ส.ว. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อย่ามายุ่งกับการเลือกนายกฯ ไม่ว่าเขาจะเป็นใครมาจากไหน ไม่ควรจะมายุ่ง แต่พอมาวันนี้บอกว่า ส.ว. ห้ามปิดสวิตช์ ต่างจากเมื่อ 2 ปีที่แล้วที่เรียกร้องให้มีการปิดสวิตช์ แต่พอมาวันนี้เรียกร้องให้เปิดสวิตช์ ตกลงหลักการที่ถูกต้องจะให้เอาอย่างไร”
++ มองการเมืองยังไม่ถึง ‘ทางตัน’
อย่างไรก็ตามการเมืองต้องคุยกัน เพราะการเมืองต้องไม่นำไปสู่ทางตัน และยังมองว่าการเมืองยังไม่ไปถึงทางตัน และสังเกตดูว่าต่างฝ่ายต่างระมัดระวังกองเชียร์ไม่ให้เกิดอารมณ์เร็วหรือแรงเกินไป การเมืองที่แท้จริงไม่ใช่อยู่ที่ว่าใครชนะ แต่ต้องเป็นบ้านเมืองที่ชนะ
“ตอนนั้นผมปิดสวิตช์ ก็ไม่มีใครชมนะ แต่ก็ไม่มีใครมาด่า ซึ่งตอนนี้ผมก็ยังไม่เข้าใจว่าจะทำเรื่องทั้งหมดนี้ด้วยหลักการหรือว่าด้วยอารมณ์”
ส่วนคำถามที่ว่ามีทีมงานจากพรรคก้าวไกลมาโน้มน้าวขอให้โหวตนายพิธา เป็นนายกฯ หรือไม่ นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ยังไม่มี และเชื่อว่าทีมงานก้าวไกลก็เห็นเรคคอร์ด (Record) ที่พูดด้วยตัวของมันเองเกี่ยวกับการวางตัวในสังคมของตนเกือบ 30 ปีที่ผ่านมานั้นเป็นอย่างไร ไม่ได้บอกว่าตนเองดีงามที่สุด แต่หมายถึงมีความต่อเนื่อง (Consistence) มาเรื่อยๆ
โดยตนเคยเป็น ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านมาแล้ว เคยอยู่มาแล้วกับรัฐบาลทุกสี ทั้งรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง มีแต่เรื่องความร่วมมือ เพราะทุกคนที่เข้ามามีเป้าหมายเดียวกันคือเพื่อให้บ้านเมืองรุ่งเรือง เรารู้เป้าหมายนั้นอยู่แล้ว
“ที่ผ่านมา ผมไม่ได้อยู่ร่วมกระบวนการขัดแย้งกับใคร ไม่ว่าจะเป็นยุคของกีฬาสีชุดไหนก็ตาม เราก็ไม่เคยไปอยู่ในความขัดแย้งนั้น เพราะการเข้าไปอยู่ในกีฬาสี ไม่ช่วยอะไรกับภาคท่องเที่ยวแน่นอน”
++ หวังทุกฝ่ายเรียนรู้ศิลปะการชุมนุม
ส่วนการที่มีผู้วิเคราะห์ซีนาริโอในวันโหวตเลือกนายกฯ ว่าจะมีฝูงชนลงถนนเพื่อกดดันการตัดสินใจของ ส.ว. นายวีระศักดิ์กล่าวว่า ตนเคยถูกล้อมอยู่ในสภามาแล้วหลายรอบ แต่ละรอบก็ให้การเรียนรู้ ทั้งคนถูกล้อมและผู้ล้อม และไม่มีการล้อมครั้งไหนที่มันดีต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ไม่มีการล้อมครั้งไหนที่ดีต่อภาคธุรกิจ
แต่ในกระบวนการประชาธิปไตย การชุมนุมกับการล้อมไม่เหมือนกัน ตนเคยอยู่ในรัฐสภาอู่ทองในในวันที่กลุ่มคนเสื้อเหลืองล้อม เคยเป็นประธานบอร์ดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในวันที่กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมกันในเมือง และเห็นการออกแบบของรัฐสภาแห่งใหม่ที่ออกแบบเพื่อรองรับผู้ชุมนุมด้วย คือไม่มีรั้ว และมีพื้นที่ขนาดใหญ่ไว้พร้อมรับการชุมนุม
“การชุมนุมเป็นสิ่งจำเป็นต้องยอมให้มีในระบอบประชาธิปไตย เพราะความเห็นของคนไม่ต้องเหมือนกัน แต่ว่าความรุนแรงต่างหากที่ไม่ว่าจะมีชุมนุมหรือไม่มีชุมนุม ก็ไม่มีใครอยากจะให้ความรุนแรงเกิดขึ้น"
ทั้งนี้การชุมนุมที่ไม่นำไปสู่ความรุนแรง ก็มีให้เห็นบ่อยครั้ง จึงเป็นศิลปะของทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและผู้ถูกชุมนุมกดดัน ว่าจะมีวิธีในการสื่อสารกองเชียร์ การสื่อสารกับผู้ถูกชุมนุม สื่อสารภาคประชาสังคมอย่างไร ถ้าสื่อสารเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ครบ 3 ฝ่าย ก็จะทำให้เรื่องนั้นดูเหมือนจะยังไม่จบ การชุมนุมไม่เคยมีเลยที่จะสามารถลงได้โดยไม่คุยให้เข้าใจเรื่องเดียวกันทั้ง 3 ฝ่าย