เลือกนายกฯ ยืดเยื้อ มีแต่ผลเสียต่อประเทศ
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา 64 เสียง จึงเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยได้ แต่ถ้าคะแนนไม่ถึงก็ต้องโหวตใหม่จนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรี ซึ่งถ้าไม่จบภายในครั้งเดียวก็จะต้องยืดเยื้อออกไปอีก ซึ่งเป็นผลเสียต่อการบริหารประเทศ
รัฐสภาได้จัดการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 13 ก.ค.2566 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเป็นที่แน่นอนว่าพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคการเมือง จะเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือเพื่อเตรียมตัวเป็นรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะการตั้งคณะกรรมการช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เพื่อให้พร้อมเข้าบริหารประเทศได้ทันที
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ในบทเฉพาะกาลได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งรัฐสภาให้ความเห็นชอบ โดยต้องได้รับมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา จึงเป็นความท้าทายของนายพิธา ที่จะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา 64 เสียง จึงจะฝ่าด่านขึ้นไปเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยได้ แต่ถ้าคะแนนไม่ถึงก็ต้องโหวตใหม่จนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจทำให้ชื่อนายกรัฐมนตรีไม่ใช่นายพิธา
หลายฝ่ายคาดการณ์ตรงกันว่าการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจะไม่จบในครั้งเดียว ซึ่งทำให้มีความกังวลต่อความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล และความล่าช้าดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน โดยต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยอยู่ในช่วงของรัฐบาลรักษาการมาแล้วเกือบ 4 เดือน นับตั้งแต่มีการยุบสภาเมื่อวันที่ 20 มี.ค.2566 ทำให้รัฐบาลไม่สามารถพิจารณาอนุมัติงบประมาณและโครงการได้ ดังนั้นวาระที่เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนใหญ่จึงเป็นวาระเพื่อทราบ
แน่นอนว่าในปีที่มีการเลือกตั้งจะทำให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีต้องสะดุด รวมถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ไม่สามารถบังคับใช้ได้ในวันที่ 1 ต.ค.2566 แน่นอน ถึงแม้ว่าการบริหารราชการแผ่นดินจะใช้งบประมาณไปพลางได้ แต่เป็นเพียงการใช้งบประจำ ในขณะที่งบลงทุนใหม่ที่มีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังใช้ไม่ได้ ดังนั้นการหวังพึ่งการลงทุนภาครัฐเพื่อผลักดันเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแรงจึงหวังผลได้ไม่เต็มที่
ในขณะที่การดำเนินโครงการใหม่หลายโครงการต้องสะดุด เพราะรัฐบาลรักษาการไม่สามารถอนุมัติได้ จึงต้องยืดเวลาเริ่มดำเนินการออกไป รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเพื่อทดแทนที่เกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.2566 ก็ยังดำเนินการไม่ได้เต็มที่ แม้แต่การแต่งตั้งผู้บริหารรัฐวิสาหกิจยังต้องรอให้รัฐบาลใหม่มาพิจารณา ทั้งหมดจึงเห็นได้ว่ายิ่งจัดตั้งรัฐบาลล่าช้ายิ่งทำให้ประเทศเสียโอกาส โดยเฉพาะการเสียโอกาสในการขับเคลื่อนประเทศในช่วงที่ทั่วโลกเผชิญกับความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอย