‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ ไร้แววเคลียร์หนี้ ประชาชนยังได้นั่งฟรีส่วนต่อขยาย
“รถไฟฟ้าสายสีเขียว” กทม.ยังไร้แววเคลียร์หนี้คงค้างกว่า 1 แสนล้านบาท หลัง ครม.โยนรัฐบาลใหม่ตัดสิน ผลบวกประชาชนยังคงนั่งฟรีต่อเนื่อง
โครงการ รถไฟฟ้าสายสีเขียว กับปัญหาภาระหนี้ 1 แสนล้านบาท ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องแบกรับ ยืดเยื้อมานาน 3 รัฐบาล นับตั้งแต่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าสู่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และกำลังจะก้าวสู่รัฐบาลใหม่อีกครั้ง โดยหนี้ดังกล่าวประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่
- ค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย แบริ่ง – สมุทรปราการ จำนวน 23,000 ล้านบาท และส่วนต่อขยายหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ประมาณ 40,000 ล้านบาท รวม 63,000 ล้านบาท หากรวมดอกเบี้ยที่ไม่จ่ายไปจนถึงปี 2572 ประมาณ 70,000 ล้านบาท เจ้าหนี้ คือ กระทรวงการคลัง
- ค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 23,884 ล้านบาท เจ้าหนี้ คือ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC โดยคาดการณ์ว่าหากรวมดอกเบี้ยจนถึงปี 2572 จะมียอดหนี้รวม 30,000 ล้านบาท
- ค่าจ้าง BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และแบริ่ง – สมุทรปราการ ซึ่งเริ่มติดค้างมาตั้งแต่ เม.ย. 2560 ประมาณการณ์ยอดหนี้ในปัจจุบันราว 30,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้นำรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สิน และการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยระบุถึง กทม.มีภาระหนี้รวมวงเงินประมาณ 7.8 หมื่นล้านบาท ไม่รวมส่วนของดอกเบี้ย และ กทม.ต้องการขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ซึ่ง ครม. ไม่มีการอนุมัติแต่อย่างใด ทำได้เพียงรับทราบเพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาลใหม่พิจารณา
ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้เรายังไม่ได้จ่ายหนี้ให้กับภาคเอกชน คงต้องรอดูแนวทางรัฐบาลหน้า เพราะเรื่องที่เสนอนั้นเป็นการขอเงินสนับสนุนต้องใช้งบประมาณ ซึ่งรัฐบาลรักษาการอาจจะตัดสินใจไม่ได้ ส่วนเรื่องคำสั่ง ม.44 ที่ให้เจรจาสัมปทานแลกหนี้ คงต้องรอรัฐบาลหน้าในการหารือเพื่อหาข้อยุติเช่นกัน ขณะเดียวกันเรื่องนี้ต้องรอการพิจารณาจากสภา กทม.เพื่ออนุมัติงบประมาณไปจ่ายหนี้ให้เอกชนด้วย
ส่วนกรณีของการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่เปิดให้บริการประชาชนมาตั้งแต่ปี 2562 และยังไม่มีการจัดเก็บรายได้นั้น เนื่องจากปัจจุบัน กทม.ยังไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโครงการดังกล่าวอย่างสมบูรณ์ เพราะยังคงค้างหนี้งานโยธาที่ต้องชำระให้กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดังนั้นหาก กทม.ยังไม่มีงบประมาณส่วนนี้ ประชาชนก็จะยังใช้บริการโดยไม่สามารถจัดเก็บค่าโดยสารได้
รายงานข่าวจาก กทม.เผยว่า ภาระหนี้ที่เกิดขึ้น กทม.ประเมินว่าเป็นวงเงินหนี้ที่มีจำนวนมาก โดยในส่วนของ กทม.ปัจจุบันมีเงินสะสมจ่ายขาดอยู่ราว 4 – 5 หมื่นล้านบาท ดังนั้นต้องการให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนค่างานโยธาเหมือนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ โดยเฉพาะในโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น ค่างานโยธาที่ กทม.ต้องรับผิดชอบ มีเจ้าหนี้ คือ กระทรวงการคลัง เพราะภาครัฐโดย รฟม.ได้ลงทุนก่อสร้างส่วนนี้ด้วยงบประมาณภาครัฐไปก่อนแล้ว
ดังนั้นหาก กทม.จะรับสิทธิบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายทั้งหมดนั้น จำเป็นต้องนำเงินไปจ่ายงานโยธาให้กับ รฟม. เพื่อคืนเงินส่วนดังกล่าวให้กับกระทรวงการคลัง ซึ่ง กทม.มองว่าเป็นก้อนหนี้ของภาครัฐต่อหน่วยงานภาครัฐ ดังนั้นมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ภาครัฐจะเข้ามาช่วยสนับสนุน เพื่อทำให้ กทม.สามารถเข้าไปบริหารโครงการได้อย่างสมบูรณ์ และนำมาสู่การเริ่มจัดเก็บรายได้ค่าโดยสาร