"ดิเรกฤทธิ์" ชี้ปม "พิธา" ขาดคุณสมบัติ อาจกระทบ "ส.ส.-ส.ว." โหวตนายกฯ
"ดิเรกฤทธิ์" หนุน ศาลรธน.ชี้ขาด คุณสมบัติ "พิธา" ประเมินวันโหวตนายกฯ ส.ว.-ส.ส. อาจมีผลกระทบทำผิดรธน. หาก บทสรุปพิธา ขาดคุณสมบัติตามรธน.
นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. กล่าวถึงประเด็นคุณสมบัตินายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฐานะแคนดิเดตนายกฯ ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่ากระทบต่อการโหวตนายกฯ วันที่ 13 กรกฏาคม ว่า เชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะทำให้เกิดการอภิปรายอย่างกว้างขวาง เพราะอาจมีคนยกมาตรา 272 ว่าด้วยการเลือกนายกฯ โยงกับมาตรา 160 และ มาตรา 98 ดังนั้นในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมพิจารณาเรื่องดังกล่าวและส่งศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดนั้น จะเป็นข้อบ่งชี้ว่าเรื่องดังกล่าวยุติอย่างไร กรณีที่คนจะเลือกอาจขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
"กกต. ถือเป็นหน่วยงานกลั่นกรองเบื้องต้น เหมือนพนักงานสอบสวนในคดีอาญา แต่คดีในรัฐธรรมนูญ กกต.รับเรื่องแล้ว ก็ควรจะตรวจหลักฐานว่าครบองค์ประกอบหรือไม่ ข้อกล่าวหามีพยานหลักฐานครบถ้วนหรือไม่เท่านั้นเอง ดังนั้นหน้าที่ของกกต.คือต้องรีบส่งศาลฯวินิจฉัย ผมคิดว่าเป็นเรื่องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาด้วย นายพิธา จะถูกหรือผิด จะมีคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามหรือไม่ อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องชี้" นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว
นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่อง เชื่อว่าต้องสั่งเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยด่วน เช่น กรณีมีการกล่าวหาว่ามีลักษณะต้องห้าม เป็นส.ส.ไม่ได้ ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้ ท่านจะต้องมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวหรือไม่ เพราะเห็นว่ามีการร้องว่าขาดคุณสมบัติ ซึ่งการขาดคุณสมบัติจะมีผลย้อนไปถึงวันเลือกตั้ง ดังนั้นวิธีการของศาลจะต้องให้หยุดไว้ก่อนชั่วคราว ถ้าผลออกมาชนะก็ทำงานต่อได้ แต่ถ้าแพ้ การเป็นส.ส.จากการได้รับเลือกตั้งตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม มาจะเป็นโมฆะทั้งหมด รวมถึงกระบวนการไปสู่นายกฯก็เป็นโมฆะด้วย
เมื่อถามถึงกรณีที่เคยออกมาระบุว่าจะโหวตให้กับผู้ที่มีเสียงข้างมาก แต่ขณะนี้นายพิธาถูกยื่นตีความเรื่องคุณสมบัติสมาชิกภาพส.ส. ยังยืนยันที่จะโหวตให้เหมือนเดิมหรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า จุดยืนตนประกาศต่อสาธารณะ เราต้องประคับประคองประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ตามบันได3ขั้น คือ
1.ส.ส.รวมกันเป็นเสียงข้างมาก ในเมื่อสภาฯมีหน้าที่เลือกรัฐบาล เราควรสนับสนุน
2.ต้องมีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ ตนเห็นว่า2เดือนที่ผ่านมามีการร้องกล่าวโทษนายพิธา ถ้านายพิธา ไม่ผ่านคุณสมบัติ ตนก็เลือกไม่ได้ เพราะสุ่มเสี่ยงจะทำผิดรัฐธรรมนูญเสียเองถือเป็นประเด็นสำคัญ
3.ไม่ต้องถกเถียงกันว่าจะสามารถขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความสงบเรียบร้อยได้หรือไม่
เมื่อถามย้ำว่ากรณีที่นายพิธา ถูกยื่นตีความจะมีผลต่อการพิจารณาของส.ว.หลายคนหรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ไม่ใช่มีผลต่อการพิจารณาของส.ว. แต่มีผลต่อการพิจารณาทั้งสภาฯ เพราะประเด็นนี้จะมีคนยกขึ้นมาได้ว่ามาตรา272 ห้ามเลือกคนที่ขาดคุณสมบัติมีลักษณะต้องห้าม ถ้าส.ส. ส.ว.ไปเลือก ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติ จะทำผิดรัฐธรรมนูญ และต้องรับโทษเสียเอง ส่วนที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าต้องเลื่อนโหวตนายกฯ นั้น ตนมองว่าขึ้นอยู่กับรัฐสภา และสมาชิกทั้ง 750 คน
"เห็นประเด็นว่าถ้าเราเลือกแล้วไม่มีปัญหาทั้งสภาฯ ก็เดินต่อไปได้ แต่ถ้าเห็นว่าเลือกแล้วมีปัญหา ก็สามารถใช้มติของรัฐสภาในการเลื่อนได้ ถ้ามีเหตุผลจำเป็นเหมาะสม เพื่อประโยชน์การทำงานของประเทศ" นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว.