ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ “ก้าวไกล”ขยายแนวรบนอกสภาฯ

ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ “ก้าวไกล”ขยายแนวรบนอกสภาฯ

"ก้าวไกล" ไม่ทิ้งจังหวะไปไกล เมื่อ "ส.ว." รบเกม "โหวตนายกฯ" เอาชนะไปได้ในรอบแรก จึง "ประกาศสู้รบเต็มที่" ผ่านการยื่นแก้รธน. โละอำนาจส.ว. สิ่งที่ต้องการไม่ใช่ "ชัยชนะ" แต่คือ ปลุกและเอาใจ "ด้อมส้ม" เท่านั้น

เกมของ “ก้าวไกล” ต่อการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว.ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี ที่มีเฉพาะ “ส.ส.พรรคก้าวไกล” เข้าชื่อ ยื่นต่อ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา เมื่อ 14 กรกฏาคม


แม้ “ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล” จะปฏิเสธว่าเป็นเกมการเมือง แต่คำสัมภาษณ์ที่จั่วหัวไว้ว่า

“วุฒิสมาชิกจำนวนมาก งดออกเสียง ไม่มาประชุม จะนำไปสู่ทางตันทางการเมือง พรรคก้าวไกลเสนอทางออกให้ ส.ว. ไม่ประสงค์จะใช้อำนาจนี้ ด้วยความกระอักกระอ่วนใจ หรือเหตุผลอื่นใดที่จะโหวตให้ พิธา เป็นนายกฯ ทางออกตอนนี้จึงตอบโจทย์ เป็นทางออกของรัฐสภาให้การเมืองไทยเดินหน้าต่อไป”

 

คือ สัญญาณของการ “ประกาศรบในสงครามการเมืองในรัฐสภา” ตามวิถีทาง ส่วนหนึ่งเพื่อ เอาใจ “ด้อมส้ม” รักษามวลชน หลังจากที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ฐานะแคนดิเดตนายกฯ พ่ายโหวตในสภาได้เสียงไม่ถึง 375 ที่จะเพียงพอส่งให้เป็นนายกฯ คนที่ 30 เมื่อ 13 กรกฏาคม

ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ “ก้าวไกล”ขยายแนวรบนอกสภาฯ

โดยผลคะแนนพบว่า เสียงเห็นชอบ 324  เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และ งดออกเสียง 199 เสียง  เมื่อเจาะไส้ในของคะแนนแล้ว พบว่า ส.ว.ให้ความเห็นชอบ 13 เสียง ไม่เห็นชอบ 34 เสียง งดออกเสียง 159 เสียง  และไม่มาประชุมรวมถึงลงคะแนน รวม 43 คน

 

 

จึงเท่ากับว่า “ส.ว.” ไม่ประสงค์ใช้อำนาจของตัวเอง เพื่อโหวต "นายกฯ"

 

แต่ต้องการทำแค่ขวาง “พิธา” แคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นเสียงข้างมากของสภาฯ ซึ่งการเลือกตั้ง เมื่อ 14 พฤษภาคม ”ก้าวไกล” ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนสูงสุดใน 17 พรรคการเมือง

สอดรับกับการปลุกมวลชนมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง ระหว่างเลือกตั้งว่า “ส.ว.” คือ ขวากหนามสำคัญของการส่ง “พิธา” เป็นนายกฯ  และเดินสายย้ำกระแสหลังเลือกตั้ง ประมาณ 2 สัปดาห์ ให้ “ส.ว.” เคารพในมติของประชาชน ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณ “พุ่งชนส.ว.” ตลอดเวลา 

ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ “ก้าวไกล”ขยายแนวรบนอกสภาฯ

ดังนั้นเมื่อผลโหวตนายกฯ ออกมาเป็นที่ประจักษ์ เกมปลุกมวลชน ต้องเดินหน้าต่อ เพื่อทำให้ “ด้อมส้ม” เห็นว่า “พรรคก้าวไกลไม่เคยยอมจำนน”

 

และอาจจะเป็นผลดดีในกาลต่อไป หาก “พรรคก้าวไกล” สามารถยืนระยะทางการเมืองได้ยาวไปจนถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า

 

ทว่าการยื่นแก้รัฐธรรมนูญ ที่ทำขึ้นของ​ “พรรคก้าวไกล” ที่มาก่อนกาลในรอบนี้ ถูกจับตาอย่างมาก ว่าจะสำเร็จหรือไม่ และ ส.ส.ในสภาฯ จะยอมรับด้วยหรือไม่

 

เดิมที การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นหนึ่งในสัญญาใจของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ยินดีจะยื่นแก้ไขทั้งฉบับ ผ่านกระบวนการของ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” (ส.ส.ร.) ที่มาจากการตัวแทนของประชาชน ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจาก “ส.ว.ชุดปัจจุบัน” ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หมดอำนาจลงในเดือนพฤษภาคม 2567

 

แต่เมื่อเกมแก้มาตรา 272 ถูกชงให้รัฐสภาพิจารณาตามหลักการ และขั้นตอนแล้ว ฝ่ายธุรการของสภาฯ จะต้องตรวจสอบความถูกต้องของการลงลายมือชื่อผู้ร่วมยื่น ความถูกต้องของเนื้อหา ก่อนจะเสนอให้ “ประธานรัฐสภา” พิจารณา บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับญัตติ  คือในช่วงปลายเดือนกรกฏาคม หรืออย่างช้าไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม 

แต่การบรรจุในวาระ ตามที่ข้อบังคับการประชุมรัฐสภากำหนดนั้น ไม่ใช่ว่า ต้องพิจารณาทันที ในระยะ  15 วันนั้น เห็นได้จากแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ที่มักจะดูความเหมาะสม และข้อตกลงของ “คณะกรรมการประสานงาน” ซึ่งที่ผ่านมาจะยึดตามส่งสัญญาณจาก “ฝั่งรัฐบาล” เป็นหลัก

 

สถานการณ์จัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคที่ยัง “ลูกผีลูกคน” และมีสัญญาณดังต่อเนื่องว่าอาจจะพลิกขั้ว จึงยังไม่ชัดว่า ฝั่งไหน คือ ฝั่งรัฐบาล หรือฝั่งไหนคือฝั่งเสียงข้างน้อย ฝั่งฝ่ายค้าน

 

ดังนั้นการพิจารณาของตัดสินใจ จึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ “วันมูหะมัดนอร์” ประธานรัฐสภา จากพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลอันดับ 3 เป็นหลัก ว่าจะยอมให้เรื่องนี้กลายเป็นชนวนขัดแย้งในรัฐสภา ระหว่าง “ก้าวไกล” และ “ส.ว.” ปะทุขึ้นอีกครั้งหรือไม่ ในระหว่างที่ประชาชนรอคอยอย่างมีความหวัง ต่อการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อมาแก้ปัญหาปากท้อง-เศรษฐกิจ-สังคม

ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ “ก้าวไกล”ขยายแนวรบนอกสภาฯ

ที่สำคัญ แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง “พรรคเพื่อไทย” ที่มีสิทธิเป็นเบอร์ 1 ในการจัดตั้งรัฐบาลแทน “ก้าวไกล” จะเอาด้วยหรือไม่ เนื่องจากในกาลต่อไป “เพื่อไทย” ต้องพึ่งพิงและอาศัยอำนาจของ “ส.ว.” ในการเกื้อหนุนการทำงาน โดยเฉพาะ “เกมโหวตนายกฯ” ในรัฐสภา

 

 

หาก “เพื่อไทย” ออกตัวร่วมเกมชิงมวลชนกับ “ก้าวไกล” แสดงท่าทีต่อต้าน “ส.ว.” ดีไม่ดี ความหวังของการได้ตั้งรัฐบาลฝั่งประชาธิปไตยอาจจะ “พลิกผัน” ก็เป็นไปได้ ในเมื่อต้องอาศัยมือของ ส.ว.ในระยะนี้

 

ล่าสุด ส.ว. ที่มีสิทธิตามเงื่อนไขโหวตแก้รัฐธรรมนูญ ดาหน้าออกมาคัดค้าน และมั่นใจว่า ด่านแรกของการรับหลักการที่ต้องได้เสียง ส.ว.หนุน 84 เสียง จะไม่มีใครเทเสียงให้ได้ถึงเกณฑ์แน่นอน 

ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ “ก้าวไกล”ขยายแนวรบนอกสภาฯ

ดังนั้น ในเกมของก้าวไกล ต่อการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญในเวลานี้ เพื่อหวังตอบโต้ “ส.ว.” ดูท่าแล้ว อาจจะทำได้แค่ “ยื่น” เพื่อให้เกิดภาพ-ได้ใจมวลชน  และขยายผลแนวรบสู่ส้งคมภายนอก-โซเชียล

เหมือนที่ “ก้าวไกล-ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ์” เคยทำ

แต่หากหวังผลเพื่อ “ชนะในเกม” ดูท่าจะยาก.