"เรืองไกร" ยื่น ป.ป.ช. เอาผิด "สมาชิกรัฐสภา" โหวตหนุน "พิธา"นั่งนายกฯ
"เรืองไกร"ยื่น "วันนอร์" ค้านเสนอชื่อ "พิธา" โหวตนายกฯ รอบสอง พร้อมเผย ยื่น ป.ป.ช. เอาผิดสมาชิกรัฐสภา โหวตหนุนพิธา รอบแรก ชี้ขาดคุณสมบัติตามรธน.
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เข้ายื่นหนังสือต่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ผ่านสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอคัดค้านการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ฐานะแคนดิเดตนายกฯ ให้รัฐสภาพิจารณาในการ โหวตนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ในวันที่ 19 กรกฏาคม พร้อมระบุเหตุผลว่า แคนดิเดตนายกฯ ที่เสนอได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 88 มีเงื่อนไขตามมาตรา 89 ว่า การเสนอชื่อจะต้องถูกต้องด้วย แต่เมื่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีความเห็นส่งศาลรัฐธรรมนูญแล้วว่านายพิธามีตำหนิ รอศาลวินิจฉัยว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพส.ส.หรือไม่ แต่การสิ้นสภาพบัญชีนายกฯไม่มีตัวบทกฎหมายให้อำนาจศาลวินิจฉัย ด้วยเหตุนี้ ตามมาตรา 89 วรรคสอง จากที่ตนศึกษาตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา จะต้องไม่มีการเสนอชื่อนายพิธาแล้ว
"สมาชิกรัฐสภาต้องระมัดระวัง เพราะหากระหว่างทางการโหวตเลือกนายกฯพิธา ได้เสียง เกิน 376 เสียง แล้วศาลมีคำวินิจฉัยออกมา กระบวนการรัฐสภาจะดำเนินการต่ออย่างไร ซึ่งสอดคล้องกับที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เคยแสดงความเป็นห่วงถึงขั้นตอนการกราบบังคมทูลฯ" นายเรืองไกร กล่าว
นายเรืองไกร ระบุอีกว่าาการโหวตเลือกนายกฯรอบแรกก็สุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญมาแล้ว หากจะ โหวตนายกฯรอบ2 โดยพิจารณาตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ36 ถึงข้อ41 ระบุเข้าใจได้ว่า เมื่อเป็นญัตติแล้วและญัตติได้ตกไปจะเสนออีกไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามการจะเป็นญัตติหรือไม่ ผู้ที่ถูกเสนอชื่อจะต้องไม่มีคุณลักษณะต้องห้ามก่อน
“ยืนยันว่าผมจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ขณะนี้ได้รวบรวมรายชื่อผู้ลงมติสนับสนุนนายพิธา เมื่อวันที่ 13 กรกฏาคม ที่ผ่านมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วและเตรียมจะส่งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ต่อไป ส่วนวันที่ 19 กรกฏาคม หากมีการเสนอชื่อนายพิธาอีกครั้ง แม้จะมีผู้รับรองก็ถือว่าไม่ชอบ และสมาชิกผู้ลงมติก็ถือว่ารู้หรือควรรู้ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วย จึงมองว่าเป็นเรื่องปฏิเสธได้ยากมาก”นายเรืองไกร กล่าว
เมื่อถามว่าประธานรัฐสภาสามารถมีอำนาจชี้ขาดให้เสนอชื่อ นายพิธา เป็นนายกฯได้อีกในวันที่ 19 กรกฏาคม หรือไม่นั้น นายเรืองไกร กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าไม่สามารถทำได้ ตามที่ตนได้ยื่นร้องเรื่องนี้ และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 วรรค 4 ว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ของประธานรัฐสภา.