เกมเฉพาะกิจ ส.ว.-เพื่อไทย ล้อม“ก้าวไกล”ติดหล่ม
ประชุมรัฐสภา เมื่อ19กรกฏาคม แสดงให้เห็น "ความเคี่ยว" ของ "ศึกชิงอำนาจ" ที่แกะรอยแล้ว ดูเหมือน "ส.ว." - คนของขั้ว "3ป." จับมือเฉพาะกิจกับ "เพื่อไทย" ผลัก "ก้าวไกล" ไปติดหล่มเกมสภา
ศึกการเมืองเรื่อง “โหวตนายกฯ“ ในรัฐสภา แม้จะนัดประชุมมาถึงรอบ 2 แล้ว แต่ยังไร้วี่แววจะเห็นโฉมหน้า “นายกรัฐมนตรี” คนที่ 30
เนื่องจากเป้าหมายของสงครามชิงอำนาจครั้งนี้ ถูกกำหนดไว้ชัดเจน คือผลัก “พรรคก้าวไกล” พรรคที่ชนะเลือกตั้ง อันดับหนึ่ง ให้ออกจากการกุมอำนาจทางบริหาร และนิติบัญญัติ โดยต้องการให้เป็น “ฝ่ายค้าน” เท่านั้น
ฟันเฟืองของ “ขั้วอำนาจเก่า” คือ “สมาชิกวุฒิสภา” ตัวละครสำคัญที่จะชี้ชะตาอนาคตพรรคก้าวไกล ออกอาการชัดทั้งต่อหน้าและลับหลัง ว่าไม่สนับสนุน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล และสร้างเงื่อนไขที่จะมอบเสียงโหวตให้แคนดิเดตนายกฯ จาก “ขั้วฝ่ายค้านเดิม” หากไม่มีชื่อพรรคก้าวไกลอยู่ร่วมในสมการรัฐบาลชุดใหม่
นอกจาก กลไกของ “ส.ว.” แล้ว ในการประชุมรัฐสภาวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ยังได้เห็นกลไกอำนาจของ “3 ป.” ที่ร่วมกำหนดเกมสกัด “พิธา-ก้าวไกล” เพื่อชี้ให้เห็นว่า “นอกจากไม่มีลุง ไม่มีเราแล้ว” หากมี “รัฐบาลใหม่ ต้องไม่มีก้าวไกล” เช่นกัน
ทั้งบทบาทของ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ที่แสดงจุดยืนคัดค้าน เสนอชื่อ “พิธา” กลับมาให้รัฐสภาโหวตเป็นนายกฯ รอบสอง หลังจากที่ “สุทิน คลังแสง” เสนอชื่อต่อรัฐสภา โดยยกข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 ว่าด้วย ห้ามเสนอญัตติที่ตกไปแล้ว ให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาซ้ำอีกในสมัยประชุมเดียวกัน
โดย “อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์” ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ผู้เปิดประเด็นว่า การเสนอชื่อนายพิธา เท่ากับการเสนอญัตติ เพราะมีผู้เสนอและมีคนรับรอง และชื่อนายพิธา นั้นไม่ได้รับความเห็นชอบจากการโหวตของรัฐสภาเมื่อ 13 กรกฎาคม ดังนั้นหากจะเสนอซ้ำอีก ถือว่าไม่ชอบด้วยข้อบังคับข้อ 41
แม้ประเด็นนี้จะถูกโต้แย้ง และ “ก้าวไกล” แท็กทีม “เพื่อไทย” ตอบโต้กลับ เนื่องจากเป็นคนละกระบวนการ และชี้ว่าประเด็นข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 ถือเป็นเรื่อง “นอกวาระ”
ทว่า การโต้แย้งของสองฝ่าย ได้ปรากฏความเคลื่อนไหวของ “พรรคพลังประชารัฐ” เข้ามาผสมโรงสนับสนุนประเด็นของพรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมกับโต้แย้งปมนอกวาระ ที่พรรคก้าวไกลพยายามยกมาดิสเครดิตว่า เป็นผู้ที่ไม่เคารพผลหารือของ “วิป 3 ฝ่าย” ที่เห็นพ้องร่วมกันว่า จะหารือประเด็นข้อ 41 ก่อนจะเดินหน้าโหวตนายกฯ หรือไม่
การประชุมรัฐสภาที่ต้องใช้เวลาถกเถียงประเด็นข้อพิจารณาตามข้อ 41 นั้น ใช้เวลาเกินครึ่งวัน ก่อนที่จะมีข้อสรุปเบื้องต้นว่า ข้อหารือที่ พรรครวมไทยสร้างชาติเสนอมา เข้าข่ายที่รับไว้พิจารณา และต้องใช้แนวทางตัดสินคือ “ลงมติ” แทนการให้อำนาจ “ประธานรัฐสภา” วินิจฉัย
แนวทางที่นำไปสู่การลงมติจากที่ประชุมรัฐสภานั้น เอาเข้าจริง “ก้าวไกล” ไม่คิดจะเล่นเกมนี้ แม้ฝั่งตัวเองจะมีคะแนนในมือ 310 เสียง แต่เมื่อบวกตัวเลขแล้ว มีแนวโน้มเข้าทางฝั่งขั้วรัฐบาลเดิมที่มี 188 เสียง เมื่อรวมกับ ส.ว.249 คน แปรผลแล้วอาจเป็นความเสี่ยง “แพ้” มากกว่า “ชนะ”
อย่างไรก็ดี ฝ่ายที่จุดชนวนให้หาทางออกด้วยการ “ลงมติ” นั้น หากพิจารณาให้ดี จะพบว่าเป็นข้อเสนอมาจากฝั่ง “พรรคเพื่อไทย” เริ่มต้นจาก “จุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์” และสำทับด้วย “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย
ยกข้อบังคับข้อ 151 ที่กำหนดให้ใช้คะแนนข้างมากเป็นพิเศษเป็นเกณฑ์ชี้ขาด คือ “ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสองสภา” หรือ 374 เสียง จากสมาชิกของรัฐสภาที่มี 748 คน
หมายความว่า หากขั้วรัฐบาลเดิมบวกกับ ส.ว.ลงคะแนนไม่ถึง 374 เสียง เท่ากับว่า “แพ้ภัยตัวเอง” และต้องถอยการคัดค้านเสนอชื่อ “พิธา” ให้ที่ประชุมรัฐสภา โหวตเป็นนายกฯ รอบสอง
ข้อเสนอของ “พรรคเพื่อไทย” ที่ดูผิวเผินว่าจะเป็นทางออกที่ดี แต่มีผลที่แฝงด้วย “ยาพิษ” เพราะแม้จะสร้างโอกาส “รอด” แต่ชื่อของ “ก้าวไกล” มิอาจไปต่อจนสุดทาง เพราะอุปสรรคสำคัญ คือ ส.ว.ที่ตั้งป้อมเป็นกำแพงเหล็กขวางทาง
ดังนั้น กลยุทธ์ของ “เพื่อไทย” ที่เห็นต่างจาก “ก้าวไกล” ที่ขอให้เดินหน้าโหวต สุดท้ายก็ไม่ต่างจากการส่ง "พิธา-ก้าวไกล” ไปสู่บ่อโคลนทางการเมือง ที่ทำให้ “ทางไป” กลายเป็น “ทางหล่ม”
และเป็นเงื่อนไขสำคัญ ให้ต้องแตะมือเปลี่ยนให้ “พรรคเพื่อไทย” เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน
เกมชิงอำนาจ หลังการเลือกตั้ง ยังมีอีกหลายฉากทัศน์ให้ต้องจับตา โดยเฉพาะการเดินเกมในรัฐสภา ทั้งจากขั้วอำนาจอนุรักษนิยม และขั้วอำนาจเก่าที่ “ไม่เผาผี” กันมาก่อน
ในวาระที่ต้องการปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง จึงได้เห็นกลเกมจับมือกันเฉพาะกิจ ปิดดีล รอเปลี่ยนเกมใหม่