“กลยุทธ์หน้าด้าน” มัดเพื่อไทย ทาง 3 แพร่ง สู่ ทางตัน ?
การตั้งรัฐบาลเพื่อไทย อาจไม่ได้บทสรุปง่ายๆ เมื่อทางสามแพร่งไปสู่อำนาจ ที่คาดว่าเลือกได้ อาจกำลังนำไปสู่ทางตัน
เสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ดราม่ามินต์ช็อก ถูกวิจารณ์สนั่นเมือง เมื่อคณะเจรจาเพื่อไทย เปิดพรรคต้อนรับแขกเหรื่อจาก 5 พรรคการเมือง ขั้ว 188 เสียง คือภูมิใจไทย ชาติพัฒนากล้า รวมไทยสร้างชาติ ชาติไทยพัฒนา และพลังประชารัฐ มาพูดคุยหาทางออกในการจัดตั้งรัฐบาล
หมอชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะย้ำว่า เป็นการทำตามมติ 8 พรรคร่วมที่มอบภารกิจให้เพื่อไทยหาเสียงสนับสนุนเพิ่มเติม ไม่ได้คุยเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลขั้วใหม่ แต่กลยุทธ์ของเพื่อไทย ที่เชิญขั้ว 188 ดูเอิกเกริกผิดปกติ เนื่องจากรู้อยู่แล้วว่า 5 พรรคที่เชิญมามีจุดยืนชัดเจนคือ ไม่เอาพรรคที่แก้ไข ม.112 หรือไม่เอาพรรคก้าวไกล
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการวิเคราะห์กันว่า เพื่อไทยต้องการเปิดการแสดงใหญ่ เพื่อยืมมือ 5 พรรคกดดันก้าวไกลหรือไม่ อีกทั้งเพื่อเช็กกระแสสังคม และมวลชนด้อมส้มว่ายังมีพลังแค่ไหน
ตามกำหนดการที่ 8 พรรค ขั้ว 312 เสียง จะนัดถกกันในวันที่ 25 ก.ค. จะนำข้อสรุปมากางบนโต๊ะเจรจาเพื่อพิจารณาทางออกร่วมกัน และนำไปสู่การโหวตนายกฯ รอบใหม่ในวันที่ 27 ก.ค.
ในวันดังกล่าว วงหารือ 8 พรรค ย่อมถูกตั้งข้อสังเกตว่า พรรคใดจะเป็นฝ่ายเลือกเพราะการที่ก้าวไกลส่งไม้ต่อให้เพื่อไทยไปหาทางออกสำหรับ 8 พรรคร่วม ยังมีประเด็นอยู่ว่า มอบสิทธิขาดให้เพื่อไทยเป็นแกนนำ หรือมอบหน้าที่ชั่วคราวแล้วมาหาข้อสรุปร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม จากละครฉากใหญ่ เพื่อไทยก็ได้เห็นผลสะท้อนหลากหลายในภารกิจมินต์ช็อกครั้งนี้
โดยเฉพาะแกนนำ และคีย์แมน ก้าวไกล ส่งสัญญาณชัด “ใครจะถีบผมออกจากเรือผมไม่รู้ ผมบอกอย่างเดียวว่า ผมไม่ยอม ถ้าเรือมันรั่วต้องช่วยกันซ่อม ไม่ใช่มาถีบเพื่อนออกจากเรือ และไม่ถีบประชาชนออกจากเรือด้วย 25 ล้านเสียงสู้ 250 เสียงไม่ได้ ให้มันรู้ไป” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นายกฯนอกสภา ส่งสัญญาณผ่านเวทีปราศรัยกับด้อมส้มที่ชลบุรี
ส่วน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ทวีต 2 ข้อความ “กูไม่ออก ออกแล้วประชาชนจะเอาอะไรแxก” “สู้กับคนหน้าด้าน ต้องหน้าด้านกว่า เท่านั้น”
อีกด้าน ยังมีกระแสมวลชนต่อดราม่ามินต์ช็อก ที่เจ้าบ้านเสิร์ฟเมนูโปรดหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ให้กับแกนนำ 5 พรรค พร้อมทั้งมีภาพชนแก้วหวานชื่น ก็ได้เกิดปรากฏการณ์รณรงค์เลิกดื่ม จนร้านคาเฟ่แห่ยกเลิกเมนูนี้ และเรียกว่าเมนูหักหลังเพื่อนอย่างคึกคัก
นี่เป็นเพียงประเด็นเล็กๆ ที่กำลังถูกขยายผลต่อ และถ้าเพื่อไทยดันเปิดดีลข้ามขั้วจริง ก็อาจจะเจอการต่อต้านจากมวลชนอีกหลายรูปแบบ
ขณะที่ประเด็นใหญ่ ที่หลายฝ่ายกำลังวิเคราะห์ถึงทางสามแพร่งของเพื่อไทย
ทางแรก 8 พรรค ยังจับมือกันเดินหน้าตั้งรัฐบาลร่วมกัน เอ็มโอยูยังมีเหมือนเดิม แต่ขอให้ก้าวไกลลดเงื่อนไขเรื่องแก้ไข ม.112 ตามที่ สว. และพรรคขั้ว 188 เสียงเรียกร้อง
ทางที่สอง 8 พรรค ไม่ทิ้งกัน ยอมเป็นฝ่ายค้านด้วยกัน
ทางที่สาม เพื่อไทยเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล โดยเป็นแกนนำเอง แต่ตัดก้าวไกลออก
สถานการณ์ภายในพรรคเพื่อไทยเอง ก็มีความเห็นต่าง ทางเลือก ที่ขัดแย้งกันมากขึ้นโดยเฉพาะเสียงคัดค้านจากบิ๊กเนมหลายคน ไม่เห็นด้วยกับการเชิญพรรค 2 ลุง รวมไทยสร้างชาติ และพลังประชารัฐ มาปรึกษาหารือเรื่องจัดตั้งรัฐบาลในพรรค
ขณะที่โลกโซเชียล ก็เริ่มขุดคุ้ยการประกาศจุดยืนของเพื่อไทย ในห้วงที่เคยหาเสียงประกาศชัดไม่เอาพรรค 2 ลุง ตั้งแต่ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร เศรษฐา ทวีสิน สองแคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทย รวมทั้งหมอชลน่าน หัวหน้าพรรค ที่ประกาศเดิมพันด้วยตำแหน่งหัวหน้าพรรค
อย่างไรก็ตาม เป็นที่รู้กันว่า ผู้มีบารมีเหนือพรรคเพื่อไทย ต้องการเลือกทางที่ได้กลับสู่อำนาจเท่านั้น ขณะที่จุดยืนก้าวไกลเวลานี้ ก็ไม่ยอมถอย
มิหนำซ้ำ สถานการณ์ล่าสุดก็อาจเป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อ “พิธา” มีโอกาสลุ้นโหวตรอบ 2 อีกครั้ง เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติยื่นศาล รัฐธรรมนูญชี้ขาด ปมข้อบังคับ 41 รัฐสภา เสนอชื่อแคนดิเดตก้าวไกล ชิงนายกฯ อีกรอบได้หรือไม่ พร้อมขอให้ออกมาตรการชะลอโหวตนายกฯ รอบ 3 ไปก่อน
ดังนั้น จึงต้องลุ้นต่อว่า ที่ประชุมหารือรัฐสภา 3 ฝ่ายในวันที่ 26 ก.ค.นี้ จะเลื่อนการโหวตนายกรัฐมนตรีออกไปก่อนหรือไม่
ขณะเดียวกันเพื่อไทย ก็อาจมีเวลาหาทางออกจากสถานการณ์สุ่มเสี่ยงจากดีลข้ามขั้วในเมื่อก้าวไกลไม่ยอมถูกถีบลงจากเรือ
การตั้งรัฐบาลอาจไม่ได้บทสรุปง่ายๆ เมื่อทางสามแพร่ง ที่เพื่อไทยคิดว่าเลือกได้ อาจกำลังนำไปสู่ทางตัน