ป.ป.ช.มติเอกฉันท์แจ้งข้อหา 'จักรทิพย์' คดีซื้อไบโอเมทริกซ์ 2.1 พันล้าน
ป.ป.ช.มติเอกฉันท์แจ้งข้อกล่าวหา 'พล.ต.อ.จักรทิพย์' อดีต ผบ.ตร. พร้อมนายพลตำรวจอีก 3 นาย คดีจัดซื้อ 'ไบโอเมทริกซ์' ของ สตม. วงเงิน 2.1 พันล้านบาท โดนข้อครหาขยายเวลาเอื้อเอกชน
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2566 มีรายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดใหญ่ มีมติเอกฉันท์ให้แจ้งข้อกล่าวหา พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กับพวก 3 ราย ได้แก่ พล.ต.ท.ติณภัทร ภุมรินทร์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานส่งกำลังบำรุง พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พล.ต.ต.สุรพงษ์ ชัยจันทร์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ในคดีการดำเนินงานโครงการจัดซื้อไบโอเมทริกซ์หรือการตรวจสอบอัตลักษณ์บุคคลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) วงเงิน 2,100 ล้านบาท
โดยขั้นตอนต่อไป คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะทำหนังสือแจ้งข้อกล่าวหากับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ,พล.ต.ท.ติณภัทร ภุมรินทร์ ,พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง และ พล.ต.ต.สุรพงษ์ ชัยจันทร์ เป็นทางการ และเรียกผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 ราย มาชี้แจงต่อไป จากนั้นจะมีการสรุปสำนวนการไต่สวนเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่พิจารณาชี้มูลเป็นทางการอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เดือน พ.ค.2562 นายษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนเพื่อประชาชนและสังคม เดินทางเข้าให้ข้อมูลกับคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะผู้ร้องเรียนให้ตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องไบโอเมทริกซ์และรถตรวจการณ์ไฟฟ้า ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) วงเงิน 2,100 ล้านบาท
โดยนายษิทรา ระบุว่า จากการใช้งานเครื่องไบโอเมทริกซ์ ของ ตม.จังหวัดต่างๆ เช่น เชียงใหม่ ตาก เชียงแสน ชลบุรี ซึ่งทั้งหมดพบว่าระบบมีปัญหา ไม่สามารถใช้งานได้ตามคุณสมบัติที่ระบุไว้ในทีโออาร์ และรายงานปัญหาดังกล่าวไปยังบริษัทคู่สัญญาแต่ไม่ได้มีการแก้ไขใดๆ
นอกจากนี้ในการส่งมอบงานบางงวด เอกชนยังไม่สามารถส่งมอบงานได้ตามกำหนดนัด แต่ สตช.เซ็นตรวจรับงานให้ก่อน เพื่อไม่ให้เอกชนเสียเงินค่าปรับวันละ 5 ล้านบาท รวมถึงกรณีรถตรวจการณ์ไฟฟ้าที่จัดซื้อในราคาคันละ 4 ล้านบาท ที่อาจใช้งานได้ไม่คุ้มค่าและไม่สามารถเชื่อมต่อสัญญาณไวไฟได้ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่อาจมีปัญหาสัญญาณอ่อน
นายษิทรา จึงเข้าร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้ตรวจสอบ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา พล.ต.ท.ติณภัทร ภุมรินทร์ ซึ่งทั้ง 2 คนนี้เกี่ยวข้องในฐานะผู้อนุมัติการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าว และขอให้สอบ พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง และ พล.ต.ต.สุรพงษ์ ชัยจันทร์ ในฐานะเป็นผู้ตรวจรับงานโครงการดังกล่าวและเป็นผู้ขยายสัญญาให้กับเอกชน
สำหรับ ไบโอเมทริกซ์ (Biometrics) ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) มีประสิทธิภาพในการตรวจสิทธิหรือแสดงตน เช่น ลายนิ้วมือ ฝ่ามือ เสียง ม่านตา เรตินา ใบหน้า ดีเอ็นเอ ลายเซ็น ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวมีให้เห็นกันเช่นในภาพยนตร์แนวไซไฟหลายเรื่อง รวมทั้งภาพยนตร์แอ็กชั่น แนวสืบสวนสอบสวนที่อิงกับการใช้งานจริงของ หน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐอเมริกา (ซีไอเอ) และ สำนักงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษสหรัฐ (เอฟบีไอ) ซึ่งมีการใช้งานมากว่า 25 ปี
การจัดซื้อครั้งนั้นถือว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานหลักด้านความมั่นคงที่ใช้สแกนคนเข้าออกประเทศ โดยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติหน้าที่ให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ในการตรวจสอบบุคคลที่เดินทางเข้าประเทศ