จาก“บุญทรง”ถึง “ทักษิณ” โจทก์เก่า-โจทก์ใหม่ ดาหน้า
การกลับประเทศไทย มารับโทษตามกระบวนการยุติธรรมในรอบ 17 ปีของ “ทักษิณ” คงได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ทั้งขั้ว "อนุรักษนิยม" และ "ขั้วเสรีนิยม" อย่าง "ก้าวไกล" หากถูกผลักเป็นฝ่ายค้าน
หากไม่มีการปรับปรุงแนวทางการจัดชั้น เลื่อนชั้นนักโทษ จากคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการอภัยโทษ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งขึ้น “บุญทรง เตริยาภิรมย์”อดีต รมว.พาณิชย์ ที่อยู่ในคุก คดีจำนำข้าว อาจเข้าเกณฑ์พักโทษ ติดกำไลอีเอ็มไปแล้ว
“บุญทรง” ปัจจุบันอายุ 63 ปี ถูกศาลพิพากษาจำคุก 48 ปี แต่ตามกฎหมาย จำคุกจริง 20 ปี ได้ปฏิบัติตนจนเป็น “นักโทษชั้นเยี่ยม” ได้ลดวันต้องโทษปี 2564 รอบแรก เหลือ 16 ปี และได้รับอภัยโทษในปีเดียวกันรอบ 2 เหลือโทษ 10 ปี
นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของ สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ว่าเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ หรือช่วยเหลือนักโทษคดีทุจริตทำความเสียหายให้ประเทศหลายแสนล้านบาท หรือไม่
เป็นที่มา หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม และ หมอเหรียญทอง แน่นหนา ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีมีการอภัยโทษนักโทษคดีทุจริต ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการปี 2565 มีข้อสรุปดังนี้
1.ยังไม่มีความจำเป็นในการแก้ไขพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2564
2.นักโทษที่จะได้รับอภัยโทษ (ไม่ว่าลดโทษหรือปล่อยตัว) ต้องผ่านระยะปลอดภัย คือ ต้องรับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือรับโทษจำคุกมาแล้ว 8 ปี (แล้วแต่ระยะเวลาใดถึงก่อน) และไม่ว่าจะเป็นนักโทษชั้นใด หลังจากนั้นจะมาดูอายุ สุขภาพ การจัดชั้น เพื่อลดโทษ ยกเว้นแต่เป็นการถวายฎีกาเฉพาะราย
3.วางหลักเกณฑ์ใหม่ที่เข้มขึ้นเกี่ยวกับการลดโทษคดีร้ายแรงในความรู้สึกของสังคม เช่น คดียาเสพติด คดีทุจริต คดีที่ศาลให้ประหารชีวิตโดยให้การลดโทษและปล่อยตัว
4.การจัดชั้นนักโทษ (ดี ดีมาก เยี่ยม) จะเข้มขึ้นและมีกฎเกณฑ์มากขึ้น
5.เตรียมการล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน และต้องวางแผนระยะยาวล่วงหน้า
6.การออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษฯ ยังมีความจำเป็น ตามโอกาส ตามสมควร เพื่อจูงใจให้นักโทษมีความหวัง ไม่ก่อจลาจล ลดความแออัดในเรือนจำ นำไปสู่การคืนคนดีกลับสู่สังคม และแสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณ
ส่งผลให้การอภัยโทษปี 2565 ไร้ชื่อ“บุญทรง”เพราะไม่ผ่านเกณฑ์ ซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้ ที่ไม่ได้ยึดเงื่อนไขต้องรับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 แต่ใช้คะแนนของนักโทษแบ่งตามชั้นเป็นหลัก นักโทษชั้นเลว นักโทษชั้นกลาง นักโทษชั้นดี นักโทษชั้นดีมาก นักโทษชั้นเยี่ยม
ทั้งนี้ หากมองข้ามช็อต การประกาศกลับบ้านของ “ทักษิณ ชินวัตร” ในวันที่ 10 ส.ค.2566 เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หลังมีคดีที่ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก มีโทษที่ยังไม่หมดอายุความ 3 คดี รวม 10 ปี
1. คดีทุจริตโครงการหวยบนดิน ศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา
2.คดีให้ธนาคารเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้เงินแก่เมียนมา 4,000 ล้านบาท ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา
3.คดีให้นอมินีถือหุ้นชินคอร์ป และเข้าไปมีส่วนได้เสียในกิจการโทรคมนาคม ศาลพิพากษารวมโทษ จำคุก 5 ปี และศาลฎีกาฯ ออกหมายจับ
นั่นหมายความว่า ทักษิณ ต้องติดคุก 1 ใน 3 ก่อน ยกเว้นกรณี เขียนฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ สามารถทำได้ทันที แต่หากไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ต้องเว้นวรรค 2 ปี ถึงจะสามารถยื่นได้อีกครั้ง
หมอวรงค์ นักการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยม ระบุว่า โดยส่วนตัว คุณทักษิณ เป็นคนไทย ก็มีสิทธิ์ที่จะกลับ เพียงแต่ต้องเคารพกติกากฎหมายของบ้านเมือง ซึ่งเป็นปัญหาที่ผ่านมา เป็นการปฏิบัติการที่ไม่ชอบด้วยการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทำให้ประชาชนต่อต้าน หากเคารพกติกา กฎหมายก็ไม่มีปัญหา ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ
"กติกาที่บังคับใช้กับประชาชนแบบไหน ก็ควรบังคับใช้กับคุณทักษิณให้เหมือนกัน และทุกวันนี้กระบวนการตรวจสอบมีความเข้มข้นมากอยู่แล้ว อีกทั้งเพื่อไทยน่าจะได้รับบทเรียน ในการใช้อำนาจมิชอบในอดีต ดังนั้นในรอบนี้ คุณทักษิณก็น่าจะรู้ว่าต้องมาแบบไหน มาเข้าคุก รับโทษให้ได้ 1 ใน 3 จะลดโทษ อภัยโทษ พักโทษ ก็ว่ากันไปหากเข้าเงื่อนไข แต่หากใช้อำนาจมิชอบเมื่อไหร่ ลำบากแน่ ที่ผ่านมาก็เห็นอยู่แล้ว กรณีนักโทษจำนำข้าว คุณบุญทรง ประชาชนก็ต่อต้าน จนต้องทบทวนระเบียบใหม่ " หมอวรงค์ ระบุ
ส่วน วัชระ เพชรทอง นักการเมืองสายอนุรักษ์นิยม ระบุว่า ต้องรอดูว่าคุณทักษิณกลับมาจริงหรือไม่ และหากกลับมาจริง เชื่อว่าฝ่ายมีอำนาจได้เตรียมการกันไว้ ส่วนจะมากน้อยแค่ไหน แต่ก็ทำให้ข้าราชการกรมราชทัณฑ์ หนักใจไม่น้อย ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ที่บุคคลวีไอพีกลับมา จะได้รับโทษเหมือนนักโทษทั่วไป ประเทศเราก็มีหลายมาตรฐานอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะให้ความยุติธรรมอย่างไร ถ้ากลับมาแล้วเป็นนักโทษที่มีอภิสิทธิ์เหนือนักโทษคนอื่น ทำห้องใหม่รอรับโดยเฉพาะ จะเป็นเรื่องควรหรือไม่ ก็น่าคิด
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สมศักดิ์ เทพสุทิน ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการ ภายหลังแก้กฎกระทรวงเอื้อประโยชน์ทักษิณ ไม่ต้องติดคุกในเรือนจำ จากแนวคิดนโยบาย House arrest (กักบริเวณในบ้าน) ควบคุมตัวนักโทษที่ไหนก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นที่เรือนจำ
ด้วยการออกกฎกระทรวงหลายฉบับในปี 2563
โดยเฉพาะกฎกระทรวง เรื่อง กำหนดสถานที่คุมขัง ลงนามโดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เมื่อวันที่ 25 ก.ย.ปี 2563 ประกาศราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 12 ต.ค.2563 ถือว่ามีผลบังคับใช้ แต่รัฐบาลปัจจุบันยังไม่ได้เริ่มประเดิมใช้
โดยกำหนดนิยาม “สถานที่คุมขัง” ว่าเป็นสถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำ ซึ่งเป็นสถานที่ของทางราชการ หรือเป็นเอกชนที่เจ้าของหรือผู้ปกครองดูแลรักษาสถานที่อนุญาตหรือยินยอมเป็นหนังสือให้ใช้ประโยชน์ในการควบคุมผู้ต้องขัง
สำหรับสถานที่หมายถึงสถานที่ทำการหรือสถานประกอบการเอกชน มูลนิธิ สถานสงเคราะห์ หรือสถานที่ใช้สำหรับการสังคมสงเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นของราชการหรือเอกชน รวมถึงโรงพยาบาล ฯลฯ
การกลับประเทศไทย มารับโทษตามกระบวนการของไทยในรอบ 17 ปีของ “ทักษิณ” คงได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ทั้งโจทก์เก่า และโจทก์ใหม่ อย่างพรรคก้าวไกล หากถูกผลักเป็นฝ่ายค้าน ดังนั้นคนที่รับบทหนักที่สุดคงหนีไม่พ้น นายกฯ คนที่ 30 และ รมว.ยุติธรรม คนใหม่