23 วัน"รทสช." ไร้เงา "ประยุทธ์" จุดเปลี่ยนขั้วรัฐบาล เสี่ยงแพแตก
เมื่อการเมืองเข้าโหมดปกติ "รทสช." คงมีการเปลี่ยนแปลงภายในครั้งใหญ่เพื่อรับแรงกระแทกที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้
หาก "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ไม่ประกาศวางมือทางการเมือง พร้อมลาออกจากสมาชิกพรรคไปเมื่อ 11 ก.ค.2566 บรรยากาศที่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ซอยอารีย์ครบรอบ 1 ปีวันก่อตั้งพรรค (3 ส.ค.)คงคึกครื้นมากกว่านี้
บรรดาคีย์แมน แกนนำพรรค ส.ส.ทั้งระบบเขตและปาตี้ลิตส์ ทยอยเดินทางมาตั้งแต่เช้าร่วมประกอบพิธี 2 ศาสนา คือ ศาสนาอิสลาม และ ศาสนาพุทธ ถวายภัตตาคารเพล พร้อมร่วมรับประทานอาหารกลางวัน โดยมี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรคเป็นประธาน ก่อนแยกย้ายกันกลับ
ปัจจุบัน รทสช.เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยน หลังภาพลักษณ์ "พรรคลุงตู่" ค่อยๆจางหาย และกำลังถูกจับตาว่าจะกลายเป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล หลังการเมืองพลิกขั้ว ภายใต้การนำ พรรคเพื่อไทย ซึ่งจะเข้าโหมดกึ่งๆรัฐบาลแห่งชาติ โดยมี "พรรคก้าวไกล" เป็นฝ่ายค้าน
เพราะ "เพื่อไทย"ไม่ได้มองเพียงแค่การหาเสียง สส.-สว.โหวตนายกฯผ่านเท่านั้น แต่ยังมองไกลไปถึงอนาคตที่ต้องการสร้างความแข็งแกร่ง ยิ่งมีเสียงในมือมากเท่าไหร่รัฐบาลจะมีเสถียรภาพมากเท่านั้น เพราะต้องรับมือฝ่ายค้านอย่างพรรคก้าวไกล
แม้ รทสช. เป็นพรรคน้องใหม่เปิดตัวได้ไม่นาน แต่ประสบความสำเร็จไม่น้อยในการเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 ด้วยกระแสของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นจุดขายส่งผลให้พรรคได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 4,766,408 คะแนน ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 13 คน มาเป็นอันดับสาม รองจากพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย
การประกาศเฟดตัวออกจากการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ แม้เป็นเรื่องไม่เหนือความคาดหมาย แต่บั่นทอนขวัญกำลังใจคนในพรรคไม่น้อย รวมถึงการขับเคลื่อนพรรคต่อจากนี้ยามไร้แม่เหล็กดึงดูด ต้องยอมรับว่ามีโอกาสที่แกนนำ รทสช.แต่ละคนต้องขบคิดและตัดสินใจอนาคตการเมืองว่าควรขยับขยายหาบ้านหลังใหม่หรือไม่
ที่เห็นเค้าลางนานแล้ว "เสี่ยเฮ้ง" สุชาติ ชมกลิ่น รองหัวหน้าพรรค รทสช. หลังมีกระแสข่าวย้ายไปอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ตามคำชวน เฉลิมชัย ศรีอ่อน เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ก็เป็นการพูดทีเล่นทีจริง พร้อมย้ำว่าไร้ปัญหาแกนนำ รทสช.บางกลุ่ม
เพราะก่อนหน้านี้มีข่าวคราวว่า "เสี่ยเฮ้ง" ไม่พอใจกับแนวทางการทำงานของแกนนำพรรคสาย พีระพันธุ์-เอกนัฐ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค มักจะดันแต่คนของตัวเองที่เป็นอดีตปชป.-กปปส.
อีกทั้งการย้ายมาอยู่ รทสช. ของ เสี่ยเฮ้ง เพื่อตามมาช่วยงานพล.อ.ประยุทธ์ เมื่อประกาศวางมือก็รู้สึกใจเป๋ พร้อมยอมรับว่าการจะอยู่กับ รทสช.ต่อหรือไม่ ต้องดูทิศทาง สส.คนอื่นด้วย เพราะชวนกันมาหลายคน ว่ายังโอเคหรือไม่
ทั้งนี้จุดแตกหักน่าจะเป็นวัน "พีระพันธุ์-เอกนัฐ" ขน ส.ส.ในสังกัดเข้าหารือพรรคเพื่อไทย ตามคำเชิญเพื่อรับฟังความคิดเห็นทิศทางโหวตนายกฯ พร้อมร่วมกันแถลงข่าว เมื่อ 22 ก.ค.2566 แต่ไม่มีการแจ้งให้ "เสี่ยเฮ้ง" ทราบในฐานะรองหัวหน้าพรรค และควรจะเดินทางไปร่วมด้วย
โดยปัจจุบัน "เสี่ยเฮ้ง" มี สส.ในมือ อาทิ จิรวุฒิ สิงโตทอง ส.ส.ชลบุรี เขต 4 ชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ ปาร์ตี้ลิสต์ จากฉะเชิงเทรา ธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ส.ส.เพชรบุรี เขต 1 และอภิชาติ แก้วโกศล ส.ส.เพชรบุรี เขต 3 และมีแนวโน้มจะไปอยู่พรรคภูมิใจไทย
ส่วนอดีตกลุ่มสามมิตรอย่าง อนุชา นาคาศัย และ ธนกร วังบุญคงชนะ ซึ่งมีเหตุผลที่ย้ายมา รทสช.ไม่ต่างกับกลุ่มเสี่ยเฮ้ง คือมาช่วยงาน พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนอนาคตอาจมีแนวโน้มต้องกลับไปพึ่งบารมี "สมศักดิ์ เทพสุทิน" ที่ปัจจุบันสังกัดพรรรเพื่อไทยหรือไม่ ก็เป็นเรื่องน่าคิด
โดย กลุ่มเสี่ยเฮ้ง-อดีตกลุ่มสามมิตร ได้พูดคุยและระบายความในใจกันมาตลอด และไม่สบายใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ลึกๆแล้วไม่อยากเป็นสาเหตุทำให้พรรคแตก ปัจจุบันทำได้เพียงดูท่าที่ เมื่อถึงเวลาเหมาะสม อาจต้องขยับขยายกันออกไป
นอกจากนี้ยังมี ส.ส.เขตอีกหลายคน โดยเฉพาะ กลุ่มส.ส.ภาคใต้ เช่น จ.ชุมพร ที่ชนะยกจังหวัด หรือ จ.สุราษฎร์ธานี ที่ได้มา 6 ที่นั่งย่อมส่งผลกระทบแน่นอน
เชื่อกันว่าหลังสถานการณ์การเมืองเข้าสู่โหมดปกติ มีรัฐบาล และ นายกฯ เข้ามาบริหารประเทศ ส่วน รทสช. ไม่ว่าสุดท้ายแล้วจะเป็นพรรคที่ต้องรับบทบาทฝ่ายค้าน หรือ พลิกมาเป็นขั้วรัฐบาล ตามกลเกมการเมืองที่เปลี่ยนไป
แต่ที่แน่ รทสช. คงมีการเปลี่ยนแปลงภายในครั้งใหญ่เพื่อรับแรงกระแทกที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้