ป.ป.ช.เปิดผล ITA 66 ภาพรวม 90.19 คะแนน 6,737 หน่วยงานรัฐผ่านเกณฑ์
ป.ป.ช.เปิดผลคะแนน ITA ประจำปีงบ 66 ภาพรวมทั้งประเทศ 90.19 คะแนน หน่วยงานรัฐผ่านเกณฑ์ 6,737 แห่ง จาก 8,323 แห่ง ‘วัชรพล’ เผยปรับเปลี่ยนเรตติ้งสกอร์ใหม่ เพื่อประสิทธิภาพดีขึ้น
เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวเปิดงานประกาศผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปีงบประมาณ 2566 หรือ ITA Day 2023 ว่า ปีนี้เป็นปีที่สำคัญปีหนึ่ง ตามที่ได้มีการนำวีดิทัศน์ 11 ปีมาแล้วในการประเมิน ITA โดยรัฐบาลได้กำหนดนโยบาย ตอนแรก ๆ เราอาจเป็นการแจ้งการประเมิน ไม่ว่าจะเป็นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการประเมินให้รับผิดชอบในกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ต่อมาการแยกประเมินอาจไม่มีมาตรฐานเทียบเคียงกัน หรืออาจจะไม่มีภาพที่ชัดเจน เราจึงมีระบบ ITAs ขึ้นมา ตอนแรกมีการจ้างที่ปรึกษามาประเมิน ใช้เวลากับกระบวนการจ้างที่ปรึกษาในแต่ละปีงบประมาณ บางปีโชคดีได้ที่ปรึกษาเร็ว บางปีได้ช้า กระบวนการประเมินก็ล่าช้า
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมาเป็นความท้าทายหลังจากดำเนินการแล้วเห็นว่า อยู่ในวิสัยที่สำนักงาน ป.ป.ช.ดำเนินการหลักได้ เราก็ดำเนินการมาด้วยตัวเองเป็นปีที่ 2 แต่อาศัยความร่วมมือจากเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็น อปท. สคร. ยังร่วมมือกับเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นหน่วยงานสอบทานต่าง ๆ ช่วยเราในการดำเนินการในพื้นที่
การประเมิน ITA เหมือนการตรวจสุขภาพ ปัจจัยสำคัญการเป็นหน่วยงานรัฐ เรามีหน่วยงานรัฐเพื่อทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย ปัจจัยสำคัญคือการให้บริการประชาชนตามอำนาจหน้าที่ ITA คือการประเมินว่า 8,323 หน่วย ได้ทำหน้าที่ไปลุล่วงเป้าหมายได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร เป็นการเปิดโอกาสว่า เราไปทำหน้าที่ให้บริการแก่ประชาชนแล้ว เราเปิดโอกาสว่า ประชาชนผู้รับบริการ สามารถให้ข้อมูลได้ว่า การให้บริการหน่วยงานของรัฐมีคุณภาพดีมากน้อยแค่ไหนเพียงไร อีกมิติหนึ่งคนของเราเอง สามารถให้ข้อคิดเห็นการให้บริการของเราด้วย
การเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานของรัฐ โลกปัจจุบันคือโลก IT ข้อมูลข่าวสารรวดเร็วมาก การทำหน้าที่หน่วยงานรัฐ ยิ่งได้ข้อมูลข่าวสารจากประชาชน หน้าที่เราทำได้มากน้อยเท่าไหร่ การให้บริการเราจะครบถ้วนยิ่งขึ้น เป็นการเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วม ผู้รับบริการ บุคลากรได้มีส่วนร่วมในการสะท้อนถึงประสิทธิภาพของหน่วยงาน
“ถามว่า ITA พยายามจะเปลี่ยนอะไร หัวใจที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ เราต้องการที่จะให้เปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ไปสู่สาธารณชน ให้มีประสิทธิภาพที่สุด ให้สาธารณชนที่อยู่ในทุกแห่งหนทั่วประเทศได้รับรู้รับทราบถึงการให้บริการ สิ่งที่เขาคาดหวังว่า ชุมชนของเขาจะได้รับการปรับปรุงแก้ไขในการให้บริการ การอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภค ทรัพย์สินต่าง ๆ ถ้าเราให้ข้อมูลเขามากเท่าไหร่ เขาจะเป็นหูเป็นตาเขาจะได้รู้ว่าได้ตามที่หน่วยงานบอกหรือไม่ หลายปีที่ผ่านมามีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวอีกว่า ผลการประเมินวันนี้ ต้องเรียนว่า ITA มองว่าเป็นการเสริมสร้าง ไม่ได้มองว่า ITA เป็นเรื่องของการตรวจจับผิดว่าเขาทำไม่ครบ ไม่สำเร็จ แต่เป็นการเสริมสร้างให้หน่วยงานของรัฐแข่งขันกันในการที่จะให้บริการประชาชนให้เต็มความสามารถ ให้เป็นที่พึงพอใจของประชาชน การที่บางหน่วยงานคะแนนอาจไม่ได้ถึงเป้าหมาย ต้องไปดูว่า เขามีข้อจำกัดอะไรหรือไม่ บางหน่วยอาจมีความไม่พร้อมในเรื่องบุคลากร หรืองบประมาณมีไม่มากที่จะทำ เช่น อปท.ขนาดเล็ก ค่อนข้างมีข้อจำกัด แต่การมีคะแนน ITA เป็นตัวผลักดันว่า เราที่เป็นรัฐบาลก็ดี ผู้บริหารก็ดี ควรต้องดูแลเขาอย่างไร แต่ ป.ป.ช.เรามีสำนักประเมิน ITA และสำนักส่งเสริมและพัฒนาฯ จะไปตามเพื่อช่วยสนับสนุนการป้องกันการทุจริต มาใช้บริบทส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐสามารถปฏิบัติงานการให้บริการได้ดียิ่งขึ้น จากกรณีศึกษา จากผลการประเมิน ITA ที่ผ่านมาทุก ๆ ปี เราหวังว่าจะพัฒนาหน่วยงานรัฐได้ดียิ่งขึ้น
ในปีนี้ที่ทำการอำเภอทั่วประเทศ และสถานีตำรวจภูธรทั่วประเทศ เข้ารับการประเมินเป็นครั้งแรก แต่ยังไม่ได้เอาคะแนนหน่วยงานพวกนี้มาแถลงในวันนี้ อยู่ระหว่างจะประกาศผลในเร็ว ๆ นี้ โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการ ITA เพื่อรองรับคะแนน ก่อนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.รับทราบ
ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ทุกหน่วยงาน 8,323 แห่ง ทุกหน่วยงาน โดย ป.ป.ช.คือหนึ่งในหน่วยงานเหล่านั้น ต้องเข้าประเมินทั้งหมด แต่การประเมิน ITA ที่สำคัญ เราประเมินตัวเจ้าหน้าที่ พนักงาน แต่เราไม่ได้ประเมินบอร์ด ไม่ได้ประเมินรัฐมนตรี เช่นเดียวกัน ป.ป.ช.องค์กรอิสระ เราประเมินเจ้าพนักงาน ป.ป.ช. แต่ไม่ได้ประเมินคณะกรรมการ ป.ป.ช. 9 คน
เมื่อประเมินแล้วต้องมาทบทวนการประเมินว่ามีจุดอ่อนอย่างไร ปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงคือ การปรับเปลี่ยน Rating Score หรือการให้คะแนน หลายปีที่ผ่านมาเห็นว่า เราให้คะแนนเป็นระดับขั้นตัวอักษรภาษาอังกฤษ (เช่น AA, A, B เป็นต้น) เป็นคำว่า ผ่านดีเยี่ยม ผ่านดี เป็นต้น โดยหัวใจคือความคาดหมาย เป้าหมายของการดำเนินงานที่ได้มีการกำหนดเป็นแผนคือ หน่วยงานภาครัฐคะแนนต้องผ่าน ต้องได้ 85 คะแนนขึ้นไป ดังนั้นระดับ A คือแค่ผ่าน ถ้าได้ AA จะผ่านดีมากขึ้น เกิดความสับสน เพราะคนอาจไม่เข้าใจว่า ทำไม B ถึงยังไม่ผ่าน ทำให้เกิดความตีความของหน่วยงานบางหน่วยที่มีเรื่องถูกกล่าวหา กลับได้คะแนน A ทำให้คณะกรรมการต้องปรับ Rating Score ใหม่ให้อธิบายได้มากขึ้นคือ ระดับผ่าน (คะแนนรวมเกิน 85 คะแนน) แต่อาจไม่ผ่าน 1 ใน 3 เครื่องมือชี้วัดที่ใช้ประเมิน ถ้าได้คะแนนรวมทุกเครื่องมือชี้วัดได้ 85 คะแนน จะถือว่าผ่านดี แต่ถ้าได้ 95 คะแนน และผ่านทุกเครื่องมือชี้วัดจะได้ผ่านดีเยี่ยม เป็นต้น
ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า สำหรับผลการประเมิน ITA 2566 ในภาพรวมระดับประเทศพบว่า มีค่าคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 90.19 คะแนน มีทิศทางแนวโน้มดีกว่าปีที่ผ่านมา 2.62 คะแนน เมื่อพิจารณาสัดส่วนของหน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมิน ที่มีผลคะแนนผลการประเมินในระดับ 85 คะแนน หรือระดับผ่านขึ้นไป พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 6,737 หน่วยงาน จากทั้งหมด 8,323 หน่วยงาน คิดเป็น 80.94% โดยเป็นทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาถึง 10.42%
สำหรับหน่วยงานรัฐที่ได้คะแนนสูงสุดในปีงบประมาณ 2566 แต่ละประเภท แบ่งเป็นกลุ่ม
ศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ และหน่วยงานในรัฐสภา ได้แก่ สำนักงานศาลปกครองได้คะแนนเฉลี่ย 97.74 คะแนน ได้จัดอยู่ในระดับผ่านดี เพราะยังไม่ผ่านทั้ง 3 เครื่องมือชี้วัด
ส่วนราชการระดับกรม คือ กรมการปกครอง ได้ 99.03 คะแนน ได้อยู่ระดับผ่านดี เพราะไม่ผ่าน 3 เครื่องมือชี้วัดเช่นกัน น่าเห็นใจ ทำได้ถึง 99.03 แต่ได้แค่ผ่านดี
รัฐวิสาหกิจ คือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้ 99.35 คะแนน อยู่ระดับดีเยี่ยม คือผ่าน 3 เครื่องมือ
องค์การมหาชน คือ องค์การบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ได้ 98.06 คะแนน อยู่เกณฑ์ผ่านดี
หน่วยงานอื่นของรัฐ คือ สำนักงาน กสทช. ได้ 98.48 คะแนน อยู่ในระดับผ่านดี
กลุ่มกองทุน คือ กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาได้ (กยศ.) ได้ 95.77 คะแนน อยู่ในระดับผ่าน
สถาบันอุดมศึกษา คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี คะแนน 98.37 คะแนน ถือว่าผ่านดีเยี่ยม เพราะผ่าน 3 เครื่องมือ
กลุ่มราชการส่วนภูมิภาคหรือจังหวัด คือ จ.แพร่ ได้ 99.72 คะแนน ผ่านดีเยี่ยม
องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (กทม. และเมืองพัทยา) คือ อบจ.ยโสธร ได้ 99.43 คะแนน ผ่านดีเยี่ยม
กลุ่มเทศบาลนคร คือ เทศบาลนครสกลนคร ได้ 98.10 คะแนน ผ่านดีเยี่ยม
กลุ่มเทศบาลเมือง คือ เทศบาลเมืองบางระจัน 99.63 คะแนน ผ่านดีเยี่ยม
กลุ่มเทศบาลตำบล คือ เทศบาลตำบลตะกรุด 99.81 สระบุรี ผ่านดีเยี่ยม
กลุ่มองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ประมาณ 5,700 แห่ง คือ อบต.ลาดกระทิง จ.ฉะเชิงเทรา กับ อบต.โคกเจริญ จ.พังงา ได้คะแนนเท่ากัน 99.79 คะแนน ผ่านดีเยี่ยมทั้ง 2 อบต.
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวด้วยว่า มีข้อมูลที่น่าสนใจคือ มีหน่วยงานที่เข้ามาร่วมประเมินใหม่ 20 หน่วยงาน เป็นหน่วยงานเล็ก ๆ นิติบุคคล อยู่ในกระทรวงการต่างประเทศ เป็นกรมภูมิภาค ที่เข้ามาร่วมประมาณ 5 กรม รวมภายใน 20 หน่วยงาน น่าดีใจว่า 20 หน่วยงานประเมินปีแรก สามารถผ่านประเมินตามเป้าหมายได้