ถนนโหวตนายกฯ ยังไม่เคลียร์ ศาล รธน.เปิดช่อง“ก้าวไกล”ได้สู้

ถนนโหวตนายกฯ ยังไม่เคลียร์ ศาล รธน.เปิดช่อง“ก้าวไกล”ได้สู้

เมื่อ "ศาลรธน." ไม่ชี้เนื้อหาคำร้อง ว่า มติของรัฐสภา เมื่อ 19ก.ค. ตีตกชื่อ "พิธา" ทำถูกต้องหรือไม่ เท่ากับเปิดช่อง "ก้าวไกล" ได้สู้อีกยก และปมนี้ทำให้เส้นทางโหวตนายกฯ "เพื่อไทย" เดินหน้า ไม่ง่าย

แม้มติของ ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินที่เป็นตัวแทนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวมถึง สส.พรรคก้าวไกล ที่ยื่นขอให้พิจารณามติรัฐสภา เมื่อ 19 ก.ค. ปัดตกชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล เสนอโหวตเป็นนายกฯ ซ้ำสอง

 

ทว่า สมรภูมิการเมืองว่าด้วยเรื่องโหวตนายกฯ ที่เปลี่ยนมือเป็น “พรรคเพื่อไทย” ใช่ว่าจะเคลียร์ทางให้เดินหน้าได้ง่าย

ถนนโหวตนายกฯ ยังไม่เคลียร์ ศาล รธน.เปิดช่อง“ก้าวไกล”ได้สู้

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญยกมาประกอบคำวินิจฉัย ว่าเพราะผู้ที่ยื่นคำร้องทั้ง พรชัย เทพปัญญา บุญส่ง ชเลธร รวมถึง ปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ สส.นนทบุรี พรรคก้าวไกลและคณะ ไม่ใช่ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง และไม่ถือว่าไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเรียนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213

 

เท่ากับว่า ไม่ได้ตัดสิทธิ “พิธา” ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ที่เสนอต่อรัฐสภา ซึ่งถูกละเมิดสิทธิ์โดยตรง ที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และยังเปิดทางให้ต่อสู้ได้

 

กับอีกประเด็น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเว้นวรรคการวินิจฉัยในเนื้อหาที่มีผู้เสนอให้พิจารณามติของรัฐสภา เมื่อ 19 ก.ค.ที่ยืนยันตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 ที่ห้ามญัตติที่รัฐสภาตีตกไปแล้วกลับมาเสนอใหม่ภายในสมัยประชุมเดียวกันนั้น ถูกรับรองความถูกต้อง หรือความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ พร้อมกับใช้กลไกของข้อบังคับการประชุมข้อ 151 เพื่อเป็นเกณฑ์ตัดสินชี้ขาด ทำให้เปิดช่อง “ก้าวไกล” ต่อสู้ได้อีก

รวมถึงสร้างสิทธิอันชอบธรรมของพรรคก้าวไกล ที่จะดันญัตติที่เสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาเมื่อ 4 ส.ค. ที่ขอให้รัฐสภาทบทวนมติเมื่อ 19 ก.ค. คัดค้านการเสนอแคนดิเดตนายกฯ ที่ถูกตีตกไปแล้ว

“รังสิมันต์ โรม” สส.บัญชีรายชื่อ ฐานะผู้เสนอญัตตินี้ต่อรัฐสภาย้ำว่า “การเสนอญัตติเมื่อ 4 ส.ค.นั้นถูกต้อง เพราะมีผู้รับรองครบถ้วน ถูกต้องตามข้อบังคับ อีกทั้งในประเด็นที่รัฐสภาเคยทำไม่ถูกต้อง หรือทำผิดไป โดยหลักการทั้งหมดรัฐสภามีอำนาจที่จะแก้ไขปรับปรุง”

ถนนโหวตนายกฯ ยังไม่เคลียร์ ศาล รธน.เปิดช่อง“ก้าวไกล”ได้สู้

พร้อมเดินหน้าให้ “รัฐสภา” ลงมติชี้ขาด

 

นัยสำคัญคือ การประกาศต่อสู้เกมรัฐสภาด้วยกลไกของรัฐสภา รวมถึงต้องการ “มิตรแท้” ที่ยังพอมีอยู่

 

ตามกระบวนการประชุมรัฐสภาครั้งต่อไป หาก “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” นัดโหวตนายกฯ วันใด ต้องประเดิมด้วยญัตติที่ขอให้ทบทวนมติรัฐสภาเสียก่อน โดยขณะนี้มีญัตติที่ยันของก้าวไกลไว้ คือของ “สว.สมชาย แสวงการ” 

 

ทว่า ประเด็นญัตติขอให้ทบทวน ที่กลายเป็น “ปมปัญหาการเมือง” ได้สร้างความปวดหัวให้กับประธานรัฐสภา “วันนอร์” ไม่น้อย 

ถนนโหวตนายกฯ ยังไม่เคลียร์ ศาล รธน.เปิดช่อง“ก้าวไกล”ได้สู้

เนื่องจากเจ้าตัวเคยใช้สิทธิวินิจฉัยญัตติของ “รังสิมันต์” ว่าไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากการลงมติรัฐสภาเมื่อ 19 ก.ค. ข้อ 151 นั้น เขียนไว้ชัดเจนว่า มติวินิจฉัยจากการออกเสียงของรัฐสภานั้น ให้ถือว่า “คำวินิจฉัยนั้นเป็นเด็ดขาด” จึงไม่มีทางเป็นอื่น ที่จะมีผู้เสนอให้ทบทวนได้

โดยกรณีดังกล่าวต่างจากการลงมติชี้ขาดในประเด็นต่างๆ ที่คะแนนทิ้งห่างกันไม่เกิน 25 เสียง ที่ตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ กำหนดให้ขอที่ประชุมออกเสียงใหม่ได้

 

อย่างไรก็ดี การตัดสินที่เป็นข้อยุติ ตามหลักการของข้อบังคับการประชุมรัฐสภากำหนดว่า คำวินิจฉัยของประธานให้ถือเป็นที่สิ้นสุด แต่ในกรณี “ญัตติที่ถูกเสนอและมีผู้รับรองถูกต้องตามข้อบังคับ” ไม่ได้ให้อำนาจประธานฯ ตัดสิทธิการเสนอญัตติอย่างถูกต้อง หากจะไม่พิจารณา “ผู้เสนอญัตติ” ต้องขอถอนด้วยตนเอง

 

กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อ “ก้าวไกล” ยืนยันเสนอญัตติให้ทบทวนมติรัฐสภา และมีผู้เสนอญัตติต่อสู้ ซึ่งถูกต้องตามข้อบังคับ ทำให้ “วันนอร์” ต้องพิจารณา และยึดแนวทางข้อบังคับการประชุมรัฐสภาไว้ให้มั่น เพื่อไม่ให้กลายเป็นตำบลกระสุนตก

ถนนโหวตนายกฯ ยังไม่เคลียร์ ศาล รธน.เปิดช่อง“ก้าวไกล”ได้สู้

ตามที่ผู้กำหนดเกมให้ประธาน “วันนอร์” ตกเป็นจำเลยสังคม และกระทบชิ่งไปยังฝ่ายการเมืองที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

 

ทางออกของเรื่องนี้ที่พอจะไปได้ และ “ทุกฝ่าย” ไม่เฉพาะ สส.ในสภาฯ แต่ยังหมายถึงมวลชนนอกสภาฯ จะยอมรับร่วมกัน คือการเดินหน้าให้ “ญัตติก้าวไกล” ไปสู่การลงมติ ว่าจะทบทวนมติของรัฐสภา เมื่อ 19 ก.ค. หรือไม่ 

 

แน่นอนว่า เมื่อดูเสียงข้างมากของรัฐสภา ยามนี้ที่มี สว.249 คน พ่วงกับพรรคที่พร้อมจับมือร่วมรัฐบาล “317 เสียง” ที่จะสู้กับ “ก้าวไกลและคณะ” ที่คาดว่าจะมี 156 เสียง คะแนนก็ยังทิ้งห่างกันครึ่งต่อครึ่ง และการลงมติในรอบแรกนี้ ใช้เพียงแค่เสียงข้างมากของแต่ละฝั่งเท่านั้น ดังนั้นต่อให้ “สว.ส่วนใหญ่” พ่วงกับ “พรรคขั้วรัฐบาลเดิม” ไม่ร่วมเล่นเกมนี้ “ก้าวไกล” ก็มีแนวโน้มพ่ายแพ้อยู่ดี

 

เท่ากับว่า “ก้าวไกล” ย้ำปมปิดสวิตช์ตัวเอง ฟื้นชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ให้รัฐสภาลงมติอีกรอบแบบถาวรในสมัยประชุมนี้ พร้อมกับตอกย้ำสถานะ “ฝ่ายค้าน” ที่แท้จริง นับจากรู้มติในญัตติที่เสนอ เพื่อวัดพลังอำนาจในรัฐสภา.