เปิด 4 ขั้นตอนรับ "ทักษิณ" ผู้ต้องขังใหม่ เข้าเรือนจำ
เปิดกระบวนการแรกรับ 'ผู้ต้องขังใหม่' เจ้าหน้าที่ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเสร็จสิ้น หาก 'ทักษิณ ชินวัตร' รับโทษ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ คุมตัวเข้าเรือนจำ กลายเป็นผู้ต้องขังใหม่ ทันที
21 ส.ค. 2566 ภายหลังจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี มีการโพสต์ข้อความผ่านอินสตาแกรมส่วนตัว ยืนยันว่าบิดา นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางกลับประเทศไทย ในวันที่ 22 ส.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ณ ดอนเมือง
การกลับมาของ "ทักษิณ ชินวัตร" ในครั้งนี้ไม่ได้กลับมาเหมือนบุคคลทั่วไป แต่เป็นบุคคลที่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เมื่อ "ทักษิณ ชินวัตร" เหยียบแผ่นดินไทย จะต้องเข้าสู่กระบวนการของกฎหมาย เพื่อรับฟังคำพิพากษาของศาล ที่คดีถึงที่สุดแล้ว 4 คดี โทษจำคุกรวม 12 ปี
ทั้งนี้ หากศาลมีการพิจารณาพิพากษาลงโทษ "ทักษิณ ชินวัตร" จะต้องควบคุมตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เป็นผู้ต้องขังใหม่ทันที ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการตรวจร่างกายผู้ต้องขังเข้าใหม่และผู้ต้องขังเข้า-ออกเรือนจำ พ.ศ.2561
ขั้นตอนการควบคุมตัว
1. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะดำเนินการควบคุมตัวจากศาลฎีกาไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
2. เจ้าหน้าที่เรือนจำ จะดำเนินการตรวจค้นตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่และสัมภาระ อาทิ เสื้อผ้า หรือสิ่งของมีค่า เครื่องประดับ นาฬิกา สร้อย แหวน พระเครื่อง เป็นต้น
3. เจ้าหน้าที่เรือนจำ ไม่อนุญาตให้สิ่งของผ่านเข้าไปภายในเรือนจำทั้งสิ้น
4. เจ้าหน้าที่ จะเก็บเสื้อผ้าไว้ให้ญาติติดต่อขอรับกลับไป
5. ผู้ต้องขังประสงค์ให้เจ้าหน้าที่เก็บไว้ให้ก่อนได้ ในกรณีที่ผู้ต้องขังแจ้งว่าได้มีการยื่นขอประกันตัวต่อศาล อยู่ระหว่างรอฟังคำสั่งของศาล แต่ระยะเวลาต้องไม่เกินระหว่าง 7-15 วัน
6. เจ้าหน้าที่จะรับฝาก สิ่งของมีค่า และจะมีการจดบันทึกรายการว่ามีสิ่งของอะไรบ้าง ผู้ต้องขังฝากไว้เมื่อวันที่เท่าไร เมื่อพ้นโทษก็ติดต่อขอรับกลับ หรือจะให้ญาติติดต่อขอรับแทน
ขั้นตอนการจัดทำประวัติผู้ต้องขัง
1. เจ้าหน้าที่ต้องระบุประวัติผู้ต้องขังโดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับ ชื่อและนามสกุลของผู้ต้องขัง เลขประจำตัวประชาชน หรือเอกสารแสดงตนของผู้ต้องขังเท่าที่ทราบ
2. ข้อหาหรือฐานความผิดของผู้ต้องขัง
3. บันทึกลายนิ้วมือหรือสิ่งแสดงลักษณะเฉพาะของบุคคล และตำหนิรูปพรรณ เพื่อตรวจสอบว่าเป็นผู้ต้องขังถูกต้องตามหมายศาล ไม่ผิดตัว
4. สภาพของร่างกายและจิตใจ ความรู้และความสามารถ และอื่นๆ ตามที่ ผบ.เรือนจำฯ เห็นสมควร โดยให้เป็นไปในกรอบของระเบียบกรมราชทัณฑ์
5. เจ้าหน้าที่จะต้องดูว่าผู้ต้องขัง เป็นผู้กระทำความผิดจากคดีประเภทใดเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง
6. จำแนกผู้ต้องขังจากคดีอุกฉกรรจ์ร้ายแรง คดียาเสพติด หรือคดีที่กระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรงหรือไม่ เพื่อวางมาตรการ หรือ ผบ.เรือนจำฯ อาจจะมีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้คุมเฝ้าจับตากวดขันเข้มงวดเป็นพิเศษ และยังเป็นการป้องกันการคิดสั้นของผู้ต้องขังได้ด้วย
ขั้นตอนการตรวจร่างกายเบื้องต้น
1. ผู้ต้องขังมีโรคประจำตัว ยารักษาโรค หรือมีใบรับรองแพทย์ ให้ยื่นแสดงกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเก็บยาไว้ให้ และจะสอบถามถึงการกินยาว่าแพทย์สั่งให้กินยาอย่างไร
2. ผู้ต้องขังชายหรือหญิง ต้องเปลื้องผ้าทั้งหมด เพื่อดูว่าไม่ได้มีการนำสิ่งของ วัตถุอันตราย อุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร หรือยาเสพติดลักลอบเข้าไปข้างในเรือนจำ
3. ปัจจุบันจำทั่วประเทศไทย มีการติดตั้งเครื่องเอกซเรย์ร่างกายไว้แล้วจึงใช้เครื่องเอกซเรย์ตรวจร่างกาย
4. บันทึกรายงานเกี่ยวกับบาดแผลหรืออาการเจ็บป่วยของผู้ต้องขังก่อนเข้าเรือนจำ เพื่อใช้ยืนยันว่าผู้ต้องขังมีบาดแผลหรืออาการเจ็บป่วยมาก่อนเข้าไปในเรือนจำ ไม่ได้เกิดจากการถูกทำร้ายหลังก้าวเท้าเข้าเรือนจำแต่อย่างใด และผู้ต้องขังจะต้องเซ็นชื่อกำกับการบันทึกดังกล่าวด้วยตัวเอง
5. แพทย์หรือพยาบาลจะใช้ดุลพินิจดูว่าหากผู้ต้องขังมีโรคประจำตัวร้ายแรงต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่องก็อาจจะให้ไปทำการกักโรคโควิด-19 ที่ห้องกักโรคของสถานพยาบาลภายในเรือนจำฯ แทน เมื่อกักโรคครบกำหนดระยะเวลาไม่พบว่ามีเชื้อก็จะแยกผู้ต้องขังไปยังหอผู้ป่วยเพื่อรักษาโรคต่อไป
การจัดลำดับชั้นนักโทษ
1. การจัดลำดับชั้นนักโทษจะต้องเป็นกรณีเจ้าตัวเป็นนักโทษคดีเด็ดขาด คือ ศาลมีคำสั่งพิพากษาเรื่องโทษจำคุกเรียบร้อย โดยมีเด็ดขาดชั้นต้น เด็ดขาดชั้นอุทธรณ์ หรือเด็ดขาดชั้นฎีกา
2. กรณีที่ผู้ต้องขังรายใดไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน หรือ เรียกว่าเป็นการต้องโทษครั้งแรก เมื่อเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์พิจารณาองค์ประกอบต่างๆ แล้ว ผู้ต้องขังจะได้รับการจัดลำดับชั้นนักโทษเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง
อย่างไรก็ตามกระบวนการแรกรับผู้ต้องขังใหม่ เจ้าหน้าที่เรือนจำจะมีการใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 1 ชั่วโมง เป็นอันเสร็จสิ้น ส่งผู้ต้องขังเข้าเรือนจำตามกระบวนการยุติธรรม