‘อัยการธนกฤต’ เฉลยเหตุ ไฉนไม่นับโทษต่อ ส่งผล ‘ทักษิณ’ คุกแค่ 8 ปี
‘อัยการธนกฤต’ อธิบายข้อกฎหมาย สาเหตุไม่มีการขอนับโทษคดีหวยบนดิน ต่อจากคดีเอ็กซิมแบงก์ ส่งผล ‘ทักษิณ’ ติดคุกแค่ 8 ปีจาก 3 คดี เหตุคดีหวยบนดินฟ้องก่อน ทำให้นับโทษต่อไม่ได้ ส่วนคดีเอ็กซิมแบงก์แม้ฟ้องภายหลังแต่ตัดสินก่อน ป.ป.ช.ที่เป็นโจทก์ ไม่ได้ขอแก้ฟ้อง
เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2566 ‘อัยการธนกฤต’ ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด และอาจารย์ผู้บรรยายวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความและกฎหมายพยานหลักฐาน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก อธิบายความเห็นทางกฎหมายกรณีคำพิพากษาของศาลฎีกาฯของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สาเหตุที่ไม่มีการขอนับโทษคดีหวยบนดิน ต่อจากคดีทุจริตปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์ ส่งผลให้จำคุกรวม 8 ปี ใน 3 คดี
ดร.ธนกฤต ระบุว่า มีผู้มาสอบถามหลายคนว่า เพราะเหตุใดจึงไม่มีการขอนับโทษคดีหวยบนดินต่อจากคดีทุจริตปล่อยกู้เอ็กซิมแบงค์ เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นการให้ความรู้ทางกฎหมายในเรื่องนี้แก่ท่านที่สนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ขออธิบายโดยสรุปดังนี้
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่า คดีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องรับโทษทั้ง 3 คดี มีการฟ้องคดีหวยบนดินเป็นคดีแรก เป็นคดีหมายเลขดำที่ อม. 1/2551
ต่อมาจึงมาฟ้องคดีทุจริตปล่อยกู้เอ็กซิมแบงค์ เป็นคดีที่สอง เป็นคดีหมายเลขดำที่ อม. 3/2551 และฟ้องคดีแก้สัมปทานเอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ปเป็นคดีสุดท้าย เป็นคดีหมายเลขดำที่ อม. 5/2551
แต่ทั้ง 3 คดีนี้ คดีทุจริตปล่อยกู้เอ็กซิมแบงค์ ซึ่งถูกฟ้องเป็นคดีที่สอง กลับกลายมาเป็นคดีแรกที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสิน จากนั้นจึงตัดสินคดีหวยบนดินตามมา และปิดท้ายด้วยการตัดสินคดีแก้สัมปทานเอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ป
เมื่อคดีหวยบนดินถูกฟ้องเป็นคดีแรก จึงยังไม่มีคดีเอ็กซิมแบงค์ที่จะมาขอให้นับโทษต่อในขณะที่ฟ้องคดีหวยบนดิน เพราะยังไม่มีการฟ้องคดีทุจริตปล่อยกู้เอ็กซิมแบงค์ต่อศาล ดังนั้น โดยสภาพความเป็นจริงแล้ว ในขณะที่ฟ้องคดีหวยบนดิน จึงขอนับโทษคดีหวยบนดินต่อจากคดีเอ็กซิมแบงค์ไม่ได้ เพราะยังไม่มีคดีเอ็กซิมแบงค์ที่จะขอให้นับโทษต่อ
อย่างไรก็ตาม ในบรรดา 3 คดีนี้ คดีเอ็กซิมแบงค์ที่ถูกฟ้องเป็นคดีที่สอง กลับกลายมาเป็นคดีแรกที่ศาลตัดสินดังที่กล่าวไปในตอนต้น โดยมีคำพิพากษาตัดสินคดีเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 และตัดสินคดีหวยบนดินตามมาเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2562 ถึงแม้ในขณะฟ้องคดีหวยบนดิน เป็นไปไม่ได้ที่โจทก์จะขอนับโทษคดีหวยบนดินต่อจากคดีเอ็กซิมแบงค์ด้วยเหตุผลที่กล่าวไปแล้ว
ดร.ธนกฤต ระบุอีกว่า แต่เมื่อศาลฎีกาได้ตัดสินคดีเอ็กซิมแบงค์ก่อนคดีหวยบนดิน โจทก์ในคดีหวยบนดิน คือ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดย ป.ป.ช. เข้ามาเป็นคู่ความแทน และเป็นโจทก์ในคดีเอ็กซิมแบงค์ด้วย ยังสามารถขอแก้ไขคำฟ้องคดีหวยบนดิน เพื่อขอให้นับโทษในคดีหวยบนดินต่อจากคดีเอ็กซิมแบงค์ได้ เพราะได้มีการฟ้องคดีและมีการตัดสินคดีเอ็กซิมแบงค์แล้ว ซึ่งแล้วแต่ดุลพินิจของศาลฎีกาว่าจะอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องคดีหวยบนดินเพื่อให้นับโทษต่อจากคดีเอ็กซิมแบงค์หรือไม่
แต่โจทก์ คือ ป.ป.ช. ในขณะนั้น ไม่ได้มีการแก้ไขคำฟ้องเพื่อขอให้นับโทษคดีหวยบนดินต่อจากคดีเอ็กซิมแบงค์ ดังนั้น จากที่กล่าวมาจึงเป็นสาเหตุ 2 ประการ ที่ทำให้ไม่มีการขอนับโทษคดีหวยบนดินต่อจากคดีเอ็กซิมแบงค์ ทั้งการที่คดีหวยบนดินเป็นคดีแรกที่ฟ้องก่อน จึงไม่สามารถที่จะขอให้นับโทษต่อจากคดีใดได้ และเมื่อต่อมา คดีเอ็กซิมแบงค์ ซึ่งถูกฟ้องภายหลัง แต่ถูกตัดสินก่อนเป็นคดีแรก
โจทก์ในคดีหวยบนดินก็ไม่ได้ขอแก้ไขคำฟ้องคดีหวยบนดิน เพื่อขอให้นับโทษต่อจากคดีเอ็กซิมแบงค์ด้วย ทำให้การนับโทษคดีหวยบนดินซึ่งถูกตัดสินเป็นคดีที่สองให้จำคุก 2 ปี ต้องนับซ้อนไปกับโทษในคดีเอ็กซิมแบงค์ที่ถูกตัดสินเป็นคดีแรก ให้จำคุก 3 ปี โดยเริ่มนับโทษไปพร้อมกันตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ที่เป็นวันที่ศาลออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุด หรือ หมายแดง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 ที่บัญญัติให้โทษจำคุกเริ่มตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
ดร.ธนกฤต ระบุด้วยว่า ส่วนคดีแก้สัมปทานเอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ป มีอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องคดี และเป็นคดีสุดท้ายที่ศาลตัดสิน เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ซึ่งอัยการสูงสุดได้ขอให้ศาลนับโทษคดีชินคอร์ปต่อจากคดีเอ็กซิมแบงค์และคดีหวยบนดินครบถ้วนถูกต้องแล้ว เมื่อคดีชินคอร์ป ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก 5 ปี จึงนับโทษต่อจากคดีเอ็กซิมแบงค์และคดีหวยบนดินที่ตัดสินไปก่อนแล้ว รวมโทษจำคุกทั้งสิ้น 8 ปี ( 3 ปี (3 ปี คดีเอ็กซิมแบงค์กับ 2 ปี คดีหวยบนดิน นับโทษซ้อนกัน) + 5 ปี คดีชินคอร์ป = 8 ปี) ตามที่ผมได้เคยให้ความเห็นลงในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 เวลา 8.30 น.
ข้อสังเกต ทั้ง 3 คดีนี้ โจทก์ได้ขอให้นับโทษต่อจากคดีที่ดินรัชดาทั้งสิ้น เพราะคดีที่ดินรัชดาฟ้องก่อน เมื่อปี 2550 ส่วนอีก 3 คดี มาฟ้องภายหลัง เมื่อปี 2551 แต่คดีที่ดินรัชดา ศาลตัดสินก่อน เมื่อปี 2551 ส่วน 3 คดีนี้ ศาลมีคำพิพากษาตัดสินหลังจากเวลาล่วงไปเป็นสิบปีแล้วคือ คดีเอ็กซิมแบงค์ และ คดีหวยบนดิน ตัดสินเมื่อปี 2562 และคดีชินคอร์ป ตัดสินเมื่อปี 2563
โดยทั้ง 3 คดี ศาลไม่ให้นับโทษต่อจากคดีที่ดินรัชดาตามที่โจทก์ขอมาในฟ้อง เพราะนายทักษิณ ชินวัตร หลบหนีไป จนล่วงเลยอายุความลงโทษ 10 ปี แล้ว ซึ่งเป็นกำหนดอายุความลงโทษสำหรับโทษจำคุก 2 ปี ที่ศาลตัดสินในคดีที่ดินรัชดา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 98 (3)