"เสรี" ระบุ "รัฐบาล" ออกนโยบาย-แนวทางบริหาร ต้องโยงยุทธศาสตร์ชาติ

"เสรี" ระบุ "รัฐบาล" ออกนโยบาย-แนวทางบริหาร ต้องโยงยุทธศาสตร์ชาติ

"กมธ.การเมืองฯ" หารือวางกรอบ อภิปรายนโยบายรัฐบาล พร้อมระบุนโยบายต้องอิงยุทธศาสตร์ชาติ พร้อมเตือน "รัฐบาลใหม่" ระวังใช้อำนาจมาเกินไป หนุนออกพ.ร.ก.นิรโทษกรรมคดีการเมือง

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา  กล่าวถึงการประชุมกมธ. วานนี้ (4 ก.ย.)  เพื่อพิจารณาถึงการแถลงนโยบายของรัฐบาล ว่า กมธ.ได้วางแนวทางเบื้องต้นต่อประเด็นที่จะอภิปรายตามที่ สว. ที่เป็นกมธ. เชี่ยวชาญ รวมถึงเสนอแนะ ทิศทางไปยังรัฐบาล  เพื่อให้บริหารงานได้ราบรื่น เบื้องต้น นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท มีนายสถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธ์ สว. ซึ่งเป็นอดีตปลัดกระทรวงการคลัง  เป็นผู้ดำเนินการ  ขณะที่นโยบายเกี่ยวกับการเมือง กรณีการสร้างความปรองดอง ที่มีข้อเสนอจากนักวิชาการให้ออก พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) นิรโทษกรรมนักโทษคดีการเมืองนั้น ตนมองว่าหากเห็นพ้องต้องกัน ไม่ขัดข้องต่อกัน สามารถดำเนินการได้ แต่ในการแก้ไขความขัดแย้งที่ทำได้จริง และประเทศปรองดอง  มีความสงบ ผู้ที่กระทำผิดต้องยอมรับในสิ่งที่ตนได้กระทำผิด และระบุว่าไม่ทำผิดซ้ำอีก

เมื่อถามว่านโยบายของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ยังต้องมียุทธศาสตร์ชาติกำกับด้วยหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติคือหลักในการบริหารประเทศและรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดไว้ เพื่อไม่ให้รัฐบาลใช้อำนาจบริหารมากเกินไป โดยยุทธศาสตร์ชาติจะมีการกำหนดทิศทาง รวมถึงมีกระบวนการตรวจสอบที่เข้มข้น

 

“แนวทางเหล่านี้รัฐบาลก็ต้องให้ความสำคัญด้วย เพราะยังอยู่ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน และเป็นเรื่องสำคัญที่จะถูกผิดกันได้ในการที่จะต้องดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติที่ถือเป็นเป้าหมายในการบริหารประเทศขั้นสูง ดังนั้นรัฐบาลพึงต้องกระทำ รวมถึงรัฐบาลใหม่ต้องระมัดระวังการใช้อำนาจที่มากเกินไป ใช้อำนาจที่แสวงหาประโยชน์ ดังนั้นรัฐบาลต้องเตือนตัวเองและระมัดระวังตนเอง รัฐบาลต้องใช้มาตรการทางกฎหมายที่เป็นธรรม ไม่มีการกระทำใดที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ก็จะไม่ถูกต่อต้านมาก” นายเสรี กล่าว

เมื่อถามถึงการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่อาจเกี่ยวข้องกับต่างชาติ  นายเสรี กล่าวว่า ต้องรอดูต่อไป เพราะเป็นเรื่องความมั่นคงที่จะต้องพึ่งระมัดระวัง ในยุคปัจจุบันหลายประเทศ หลายชาติที่เป็นมหาอำนาจพยายามก้าวก่ายแทรกแซงประเทศต่าง ๆ และส่งผ่านมาทางองค์กรภาคเอกชน ที่จะสร้างปัญหาได้เช่น เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ หรือจัดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้น ซึ่งผ่านองค์กรภาคเอกชนที่มีเงินอุดหนุน มีงบประมาณสนับสนุน ตนคิดว่ารัฐบาลพึ่งต้องระมัดระวังและอย่าคล้อยตาม.