'ก้าวไกล' แฉโดนฝ่ายรัฐรุมกินโต๊ะแบ่งเค้ก กมธ. ลั่นจะไม่ให้ตรวจสอบเลยหรือ
'ปกรณ์วุฒิ' ออกโรงแฉฝ่ายรัฐบาล รุมกินโต๊ะ 'ก้าวไกล' แบ่ง กมธ.สภาฯ อ้าง 3 หลักเกณฑ์ แต่เลือกตัดสินในข้อที่ตัวเองได้ประโยชน์ ถามกลับถ้าไม่ยอม จะกลายเป็นคนดื้อหรือไม่ ลั่นจะไม่ให้ตรวจสอบรัฐบาลเลยหรือ
เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2566 นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานวิป สส.ก้าวไกล เปิดเผยความคืบหน้าการเจรจาเก้าอี้กรรมาธิการ (กมธ.) ในสภาผู้แทนราษฎร ว่า ในปี 2562 มีกติกาคือ พรรคที่ได้เสียงมาเป็นอันดับแรก ก็จะเลือก กมธ.กันไปก่อน ก็จะวนกัน หมายความว่า พรรคใหญ่ก็จะได้เปรียบในการในการเลือกก่อน สุดท้ายทุกคนก็ไม่ได้ทุกอย่าง และก็ไม่ได้เสียทุกอย่าง เหมือนหยิบไพ่เข้าไปอยู่ในมือ แล้วก็มาเจรจาแลกกันเอง และทุกอย่างก็จะเป็นไปอย่างราบรื่น แต่พอมาครั้งนี้ มีการเสนอกับพรรคร่วมรัฐบาลว่า ให้แต่ละพรรคเลือกมาก่อน หากอันไหนที่ซ้ำกันค่อยมาตกลงเจรจา ซึ่งพรรครัฐบาลต้องการจะเป็นประธานกมธ.ที่เกี่ยวเนื่องกับที่เป็นเจ้ากระทรวง ทำให้พรรคร่วมรัฐบาล มีการเลือกกมธ.ไม่ซ้ำกัน และทำให้ทุกพรรคตกลงกันได้หมด
"ธรรมชาติของฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล ต้องมีการเลือกซ้ำกัน เนื่องจากพรรคใหญ่ของฝ่ายค้านคือ พรรคก้าวไกลก็จะซ้ำมากที่สุด เพระฉะนั้นการโยนมาว่า ปัญหาคือพรรคก้าวไกลไปเลือกซ้ำกับคนอื่น แบบนี้ไม่แฟร์กับพรรคก้าวไกลเท่าไร แล้วจะบอกว่า เราไม่ถอย ก็ต้องถามกลับว่า แล้วคุณไม่ถอยในคณะกมธ.ที่คุณเป็นเจ้ากระทรวง เพื่อให้เราตรวจสอบบ้างเลยหรือ" นายปกรณ์วุฒิ กล่าว
เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลดูเหมือนถูกรุมกินโต๊ะหรือไม่ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า บรรยากาศเป็นแบบนี้มาสักพักแล้ว พอพรรคร่วมรัฐบาลเห็นพ้องต้องกันหมด แล้วให้เราไปตกลงในข้อตกลงที่ไม่สามารถยอมรับได้ เนื่องจากมีการเลือกซ้ำประมาณ 6-7 คณะ แล้วพอซ้ำขนาดนี้ ก็จะมี 6-7 คณะที่ไม่มีใครเลือกเลย ซึ่งความพยายามตอนนี้คือ พยายามให้ก้าวไกลยอม แล้วเอา 6-7 คณะที่ไม่มีใครเลือกเลยไปเป็นประธาน
โดยแนวคิดของพรรคก้าวไกล คณะที่ควรเป็นของฝ่ายค้าน กมธ.ตรวจสอบงบฯ และกมธ.ปปช. ถือเป็นความสง่างามของรัฐสภา ในการถ่วงดุลอำนาจในการตรวจสอบว่า การใช้งบประมาณ และการปราบปรามการทุจริต จะต้องเป็นหน้าที่ฝ่ายค้าน ที่ฝ่ายรัฐบาลเปิดโอกาสให้ตรวจสอบ แต่ก็กลับตกลงกันไม่ได้ ขณะเดียวกันยังมีนโยบายที่ต้องการผลักดัน เช่น กมธ.แรงงาน, กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ และกมธ.ที่ดิน ที่เราเคยเป็นประธาน ก็อยากจะผลักดันนโยบายต่อเนื่อง ก็มีติดขัดซ้ำกัน นอกจากนี้ยังมองคนของพรรค มีศักยภาพในการนั่งประธานกระทรวงใดบ้าง หากจะโยนอันที่ไม่มีใครเลือกมาให้ ก็อาจจะไม่มีคนศักยภาพพอในประเด็นนั้น และต้องรับกมธ.นั้นมาแทน ทำให้กลไกการตรวจสอบอ่อนแอ
เมื่อถามว่า มีการหารือกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านหรือไม่ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ก็มีการหารือกัน แต่พรรคประชาธิปัตย์พอซ้ำน้อย ก็เหมือนจะเจรจากันได้ ก็ไปเอาคณะอื่นแทน พอไม่ใช่ปัญหาที่เขาเจอก็ไม่รู้จะช่วยพรรคก้าวไกลอย่างไร สุดท้ายมีเพียงแค่ 2 คณะ โอกาสในการมาช่วย หรือขอให้พรรคก้าวไกล ก็ไม่ได้มีสิทธิมีเสียงมากนัก
นายปกรณ์วุฒิ กล่าวต่อ การที่จะมาตั้งประเด็นว่า พรรคก้าวไกลมีปัญหา ซึ่งตอนนี้การพูดคุยกับพรรครัฐบาล มี 3 หลักที่ถูกหยิบยกขึ้นมา ก็คือ
- ข้อบังคับข้อกฎหมาย
- ธรรมเนียมปฏิบัติ
- การพูดคุยเจรจา
นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า อันไหนหากพรรครัฐบาลได้เปรียบ ก็จะเลือกหลักนั้นขึ้นมา ซึ่งพอพรรคก้าวไกลเสนอไป ก็จะพูดว่า ธรรมเนียมปฏิบัติไม่เคยทำแบบนี้ พอเสนอธรรมเนียมปฏิบัติก็บอกว่า เป็นการเจรจาตกลงกัน เหมือนทุกทางที่ได้เปรียบก็จะหยิบยกขึ้นมา และพรรคก้าวไกลก็จะเป็นพรรคเดียวที่ไม่ไปตาม ซึ่งมองว่า จะเป็นการรุมกินโต๊ะกันมากไป และการที่จะให้ไปคุยทีละพรรคที่ซ้ำกันมีอยู่ 3-4 พรรค ก็ตั้งคำถามว่า หากใช้วิธีการพูดคุยเจรจาเป็นหลัก คณะที่ไม่ซ้ำกันเลยก็เอาไปเลย อันที่ซ้ำไปคุยแล้ว แล้วถ้าหาก ทั้ง 3-4 พรรคนั้น ไม่ถอยให้พรรคก้าวไกล เรื่องจะจบอย่างไร และถ้าหากถึงตอนนั้น แล้วพรรคก้าวไกลไม่ยอม จะกลายเป็นคนดื้อหรือไม่ หรือจริงๆแล้ว 3-4 พรรคนั้น ไม่ถอยให้พรรคก้าวไกลสักก้าวหนึ่งเลย ส่วนคณะกมธ.ที่เลือกซ้ำกัน คือ กมธ.ที่ดิน, กมธ.แรงงาน ส่วนกมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ และกมธ.ติดตามงบฯ ลงตัวแล้ว แต่ยังติดปัญหาการเจรจาคือ กมธ.ปปช. ส่วนที่เหลือไม่ได้เจาะจง แต่ไม่ได้รับความยืดหยุ่นกลับมาเลยแม้แต่สักนิดเดียว
เมื่อถามว่า การที่พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้ง แต่เมื่อเจอกติกาการเลือก กมธ.แบบนี้ เหมือนจะไม่มีประโยชน์หรือไม่ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ก่อนหน้านี้มีการตั้งธงว่า จะใช้กติกาแบบปี 62 เนื่องจากแฟร์กับทุกพรรคมากที่สุด และพรรคใหญ่ก็จะได้เปรียบในฐานะศักดิ์ศรีผู้ที่ชนะเลือกตั้งมาก่อน แต่เมื่อตกลงไม่ได้ และเจรจาไม่ได้ ก็เห็นว่า ควรจะต้องกลับไปที่กติกาเดิม แต่ก็กลับมีการเสนอในที่ประชุมว่า ให้จับสลาก ผลก็จะเหมือนเดิมคือ พรรคก้าวไกลก็จะได้กมธ.ที่ไม่มีใครเลือก ซึ่งขณะนี้มีการตั้งธง เพื่อให้ผลเป็นแบบที่ต้องการ
นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ทุกพรรคเคยร่วมงานกับพรรคก้าวไกลในกมธ. และในสภาฯแล้วเชื่อว่า ทุกพรรครู้ดีว่า พรรคก้าวไกลประนีประนอมในการร่วมงานในสภาฯมากแค่ไหน แล้วมีบางคนบอกว่า ประธานไม่ต้องเอาหรอก เอารอง 1 ไป จึงขอย้อนถามว่า หากประธานไม่ได้สำคัญ แล้วจะมามีปัญหากับพรรคก้าวไกลทำไม แต่ท่านก็มองว่า ประธานสำคัญมาก จึงไม่ยอมปล่อยเช่นกัน
“ถ้าไม่สำคัญแล้วทะเลาะกันทำไม ทุกคนรู้ดีว่าสำคัญแค่ไหน ถึงตกลงกันไม่ได้ ทุกท่านทราบดี ไม่เช่นนั้นคงไม่มีธงมาตั้งแต่ต้น ทุกกระทรวงที่ผมนั่ง ผมจะต้องได้กมธ. และไม่ยอมถอยแม้แต่ก้าวเดียว ถ้าไม่ได้สำคัญแบบนั้น คงไม่มีธงแบบนี้มาหรอก” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว
นายปกรณ์วุฒิ กล่าวอีกว่า ถ้าหากนับว่า การทำงานเป็นประธานกมธ. ตัวเองกล้าพูด และให้ทุกพรรคนั้นยืนยันได้ว่า พรรคก้าวไกลไม่เคยปิดกั้น แต่ในทางกลับกัน ประธานกมธ.ของฝ่ายรัฐบาลชุดที่แล้ว ไม่เปิดโอกาสให้พรรคฝ่ายค้านเสนอวาระอะไรเลย เมื่อพรรคฝ่ายค้านเป็นรอง 1 เมื่อประธานไม่อยู่ กลับมอบหมายให้รอง 2 นั่งหัวโต๊ะ เมื่อพรรคก้าวไกลเสนอวาระไป ก็ถูกปฏิเสธ ไม่ให้ตรวจสอบ ตอนนี้ขอให้ถอยกันคนละก้าว อย่างที่พรรคร่วมรัฐบาลบอก ถ้าหากจะถามว่า พรรคก้าวไกลถอยหรือยัง ก็จะถามกลับว่า แล้วตอนนี้ท่านถอยแล้วหรือไม่
เมื่อถามว่า ขณะนี้พรรคเพื่อไทยยังยืนยันจะนั่งกมธ.ปปช.อยู่หรือไม่ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยยังยืนยันจะต้องนั่งกมธ.ปปช. แต่ส่วนตัวก็ยังยืนยันเหมือนเดิมว่า 2 กมธ.นี้ เป็น 2 กมธ.หลักที่ควรจะต้องเป็นของฝ่ายค้าน และก็ปฏิบัติเช่นนั้นมา จะเป็นภาพที่สง่างาม ในการทำงานของสภาฯที่จะยืนยันว่า กลไกหลักของสภาฯคือ กมธ. สามารถทำงานตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้เต็มที่ ซึ่งถ้าหากให้พรรคแกนนำรัฐบาลมานั่งกมธ.ปชช. ภาพก็ไม่สวยงามแล้ว เนื่องจากเป็นการตรวจสอบกันเอง
ส่วนถ้าหาข้อสรุปเก้าอี้ กมธ.ไม่ทันภายในสัปดาห์นี้ การเลือกตั้งซ่อมสส.ระยอง จะมีผลทำให้พรรคก้าวไกล ได้เปรียบมากขึ้นหรือไม่ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ไม่ได้มองเรื่องนั้นเป็นหลัก ต้องการให้ตั้งเร็ว เพื่อจะได้ทำงาน ไม่ว่าจะ 10 หรือ 11 คณะ ก็ยอมโอนอ่อน ผ่อนตามได้ ตกลงเจรจาแบบไหนพูดคุยได้ ไม่ได้ดื้อดึง แต่ถ้ายื้อกันไปแล้วไม่ยอมตั้ง แน่นอนว่า เมื่อมีการรับรองผลการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดระยอง จะต้องคำนวนใหม่ และพรรคก้าวไกล ก็จะได้ 11 คณะ โดยพรรคที่เสียผลประโยชน์ก็จะเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีกมธ.ใด ซ้ำกับพรรครวมไทยสร้างชาติ
นายปกรณ์วุฒิ กล่าวด้วยว่า ในวันพรุ่งนี้ (6 ก.ย.) น่าจะมีการพูดคุยเจรจากับพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ เนื่องจากมีเพียงการคุยผ่านทางโทรศัพท์ และเป็นการคุยกันระหว่างพรรคที่ไม่ได้มีปัญหาอะไร