เร็วกว่าประชานิยมผสมวิกฤติศรัทธา | ไสว บุญมา

เร็วกว่าประชานิยมผสมวิกฤติศรัทธา | ไสว บุญมา

รัฐบาลใหม่เข้ารับงานอย่างเป็นทางการในวันครบรอบ 1 ปี ซึ่ง นสพ. นี้พาดหัวเรื่องที่หน้าการเมืองว่า “โหมโรง‘ประชานิยม’กู้เศรษฐกิจ” และมีภาพสรุปนโยบายของ 7 พรรคการเมืองประกอบ หน้านี้ยังมีอีก 2 เรื่องพาดหัวว่า “13 พรรคดัน‘ปลดหนี้ กยศ.’” และ “‘ประชานิยม’สวัสดิการ ดาบสองคม”

หัวเรื่องเหล่านี้ชี้ชัดว่า หลังถูกนำเข้ามาใช้เมื่อปี 2544 นโยบายประชานิยมแบบเลวร้ายได้ทำให้สังคมไทยเสพติดแล้วดังคำทำนายในหนังสือชื่อ “ประชานิยม:  หายนะจากอาร์เจนตินาถึงไทย?” ซึ่งวิวัฒน์มาเป็นเรื่อง “ประชานิยม:  ทางสู่ความหายนะ” (ดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา และฟังได้จาก YouTube)

พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลใหม่  ในบรรดาแนวนโยบาย 5 ด้านของพรรคนี้ที่สรุปไว้ในภาพดังกล่าวมีข้อเสนอที่น่าสังเกตเป็นพิเศษได้แก่ การจะ “ฟื้นโครงการรับจำนำข้าว” 

คงไม่ต้องพูดถึงด้านทฤษฎีว่าแนวคิดนี้จะทำลายเมืองไทยได้อย่างไร หรือตัวอย่างที่ทำให้ฟิลิปปินส์เป็น “คนป่วยแห่งเอเชีย” ส่วนหนึ่งเพราะนโยบายควบคุมมะพร้าว ทั้งนี้เพราะความเสียหายที่สังคมไทยแบกรับไว้ในรูปหนี้ของภาครัฐเป็นตัวอย่างจากด้านปฏิบัติอย่างชัดแจ้งอยู่แล้ว

เนื่องจากพรรคเพื่อไทยสืบทอดอุดมการณ์มาจากพรรคไทยรักไทย ซึ่งเริ่มนำนโยบายประชานิยมแบบเลวร้ายเข้ามาใช้และต่อมาเริ่มโครงการรับจำนำข้าว น่าจะสรุปได้ว่าเขาต้องการรื้อฟื้นขึ้นมาเพราะมันถูกยกเลิกไปก่อนบรรลุเป้าหมายส่งผลให้เมืองไทยไม่ได้เป็น “คนป่วยแห่งเอเชีย” แทนฟิลิปปินส์

หากโครงการนี้บรรลุเป้าหมาย ไทยจะไม่เป็นแค่คนป่วยแห่งเอเชีย แต่อาจจะเป็นถึงรัฐล้มเหลวเช่นซีเรีย  เพราะอะไร?  คำตอบมีอยู่ในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับนโยบายด้านการควบคุมข้าวสาลีของซีเรีย (มีคำอธิบายอยู่ในหนังสือชื่อ “จดหมายจากวอชิงตัน” ซึ่งดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ดังกล่าว)

ด้านพรรคร่วมรัฐบาล ภาพที่อ้างถึงนั้นสรุปแนวนโยบายของ 2 พรรคไว้ด้วยคือ แนวนโยบายของพรรคภูมิใจไทยที่ชี้ชัดว่าเป็นประชานิยมแบบเลวร้าย ได้แก่ การพักหนี้ 3 ปีต่อรายได้ไม่เกิน 1 ล้านบาทและการเพิ่มเบี้ย อสม. 2,000 บาทต่อเดือน 

ส่วนของพรรคพลังประชารัฐ ได้แก่ การต่อยอดโครงการคนละครึ่ง โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและโครงการบ้านประชารัฐ

รัฐบาลเพิ่งเริ่มบริหารประเทศจึงต้องรอดูต่อไปว่าเขาจะทำอะไรก่อนหลังและมีความเข้มข้นเท่าไร  หากเป็นประชานิยมแบบเลวร้ายที่ไม่เข้มข้นนัก ผลเสียหายอาจไม่ร้ายแรงดังเช่นในกรณีของอาร์เจนตินาและเวเนซุเอลา 

อย่างไรก็ดี ในขณะนี้มีเรื่องจูงใจให้รัฐบาลเร่งทำให้มันเข้มข้นสูงเพื่อซื้อใจและเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชน 

เร็วกว่าประชานิยมผสมวิกฤติศรัทธา | ไสว บุญมา

การกู้เศรษฐกิจมีความสำคัญเป็นอันดับต้นดังที่พาดหัวข่าวดังกล่าวอ้างถึง รัฐบาลจึงจะต้องทำอะไรให้เป็นที่ปรากฏแบบฉับพลัน เช่น การลดราคาพลังงาน การพักหนี้และการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน

ปัจจัยที่จะนำไปสู่ด้านการเบี่ยงเบนความสนใจได้แก่วิกฤติศรัทธาสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ในวันที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่จากพรรคเพื่อไทยได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภา

กล่าวคือ ผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยซึ่งนำนโยบายประชานิยมแบบเลวร้ายเข้ามาใช้และต้องคดีจำคุก 8 ปีแต่หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศเป็นเวลานานกลับมารับโทษ  แต่แทนที่จะถูกจำคุก เขาถูกส่งไปนอนในห้องรับรองบุคคลสำคัญของโรงพยาบาลตำรวจเพราะอ้างว่าป่วย 

ไม่เพียงเท่านั้น อีกไม่กี่วันต่อมา โทษของเขาถูกลดเหลือเพียงปีเดียว  เนื่องจากเขายังมีอิทธิพลเป็นที่ประจักษ์ต่อพรรคเพื่อไทย สุดท้ายเขาอาจไม่ต้องนอนคุกแม้แต่คืนเดียว

จากมุมมองของการใช้นโยบายประชานิยม ไทยอาจไม่ล่มจมแบบอาร์เจนตินาและเวเนซุเอลาในอนาคตอันใกล้  อย่างไรก็ดี ยังมีมุมมองจาก 2 ประเทศนั้นอีกโดยเฉพาะด้านการบริหารบ้านเมืองซึ่งทั้ง 3 ฝ่ายล้มเหลว 

กล่าวคือ ฝ่ายบริหารใช้ประชานิยมและมีความฉ้อฉลสูง  รัฐบาลใหม่ของไทยมีรัฐมนตรีผู้มีประวัติด่างพล้อย  ฝ่ายนิติบัญญัติขาดความรับผิดชอบ  การประชุมนัดแรกของสภาใหม่ของไทยล้มเหลวเพราะขาดองค์ประชุม  ฝ่ายตุลาการไม่เที่ยงธรรม  ไทยกำลังมีกรณีนักโทษดังกล่าว 

ฉะนั้น เป็นไปได้สูงที่ไทยจะเผชิญวิกฤติใหญ่ในเร็ววัน.