เราควรปฏิรูปอะไรและอย่างไร | วิทยากร เชียงกูล

เราควรปฏิรูปอะไรและอย่างไร | วิทยากร เชียงกูล

50 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค.16 ประเทศไทยยังคงอยู่ภายใต้รัฐบาลที่เป็นตัวแทนของเจ้าที่ดินและนายทุน/นายธนาคาร ผู้มุ่งแสวงหากำไรเอกชนสูงสุด และสร้างขัดแย้ง ความไม่สมดุล ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความยากจน และวิกฤติทั้งทางเศรษฐกิจการเมือง สังคม และสภาพแวดล้อม (ระบบนิเวศ) 

ปัญหาหลักคือ ชนชั้นผู้ปกครองหัวเก่า จารีตนิยม เห็นแก่ตัวและขาดวิสัยทัศน์ในการปฏิรูปประเทศเพื่อคนส่วนใหญ่ ส่วนประชาชนก็ถูกระบบเศรษฐกิจแบบคนมือยาวสาวได้มากกว่า ทำให้คนส่วนใหญ่ยากจน/มีรายได้ต่ำ และถูกโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้คนหวังพึ่งและเลือกเข้าข้างชนชั้นผู้ปกครอง พรรคหรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด 

ประชาชนไม่เข้มแข็งทั้งด้านความรู้ ความคิดอ่าน และการจัดตั้งองค์กรประชาชน เช่น สหภาพแรงงาน สมาคมอาชีพ สหกรณ์ กลุ่มชาวไร่ชาวนา ฯลฯ ทำให้ประชาชนสร้างอำนาจต่อรองได้น้อยกว่าชนชั้นผู้ปกครองอย่างไม่สมดุล (เทียบกับประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมส่วนใหญ่)

ทางออกคือต้องช่วยกันทำให้ประชาชนคิดวิเคราะห์เป็น มองปัญหาต่างๆ อย่างจำแนกเป็นเรื่องๆ ไม่ต้องไปเลือกข้าง/ปกป้องชนชั้นสูงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

เช่น วิเคราะห์ว่าเรื่องนักการเมือง/ข้าราชการทุจริตฉ้อฉล เป็นเรื่องที่ผิด ทำความเสียหายต่อส่วนรวมทั้งสิ้น ที่ไม่ว่าจะเป็นใคร กลุ่มไหนเป็นคนทำ ก็ผิดทั้งนั้น ไม่ใช่เลือกโจมตีเฉพาะฝ่ายตรงกันข้าม นั่นก็คือประชาชนจะต้องหาแนวทางแก้ไขปัญหาประเทศอย่างมองภาพใหญ่และหาแนวทางที่จะทำให้เกิดปฏิรูปทั้งระบบโครงสร้าง 

ประชาชนต้องแสวงหาความรู้และจัดตั้งกลุ่ม/องค์กรภาคประชาชน พยายามหาทางปฏิรูปทางการเมืองแบบผลักดันจากข้างล่างขึ้นข้างบน เลิกพึ่งให้ชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดมายื่นผลประโยชน์บางส่วนเล็กๆ น้อยๆ แบบผูกมัดให้ประชาชนต้องอยู่ภายใต้การ “อุปถัมภ์” ของชนชั้นนำ และการถูกโฆษณาให้ประชาชนเชื่อว่าพวกชนชั้นนำเป็นผู้ให้ “อุปถัมภ์” ประชาชน

เราควรปฏิรูปอะไรและอย่างไร | วิทยากร เชียงกูล

เพราะนั่นเป็นแค่ภาพลวงตา ภาพจริงคือพวกเขาใช้เงินจากงบประมาณ ทรัพยากร และกำไรที่พวกเขาได้ขูดรีดไปจากประชาชนทั้งประเทศมาแบ่งปันให้ประชาชนนิดหน่อย ขณะที่พวกเขาอยู่กันอย่างมั่งคั่งกว่า มีอำนาจมากกว่าอย่างมหาศาล พรรคที่เคยอยู่คนละขั้วเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมาช่วงนี้ก็จับมือกันได้

เพราะเนื้อแท้พวกเขาคือพวกเดียวกัน ประชาชนบางส่วนหลงคิดไปเองว่าพวกเขาอยู่คนละขั้ว

ประชาชนควรมีความรู้/ตระหนักว่า ประชาชนเป็นเจ้าของทรัพยากรของประเทศและผู้เสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม (เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีน้ำมันทุกครั้งที่เราไปซื้อสินค้าต่างๆ) เจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด ทั้งนักการเมือง และข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ

ต่างกินเงินเดือนจากงบประมาณรัฐ (เงินของประชาชน) ต่างหากที่ควรรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณประชาชน และตั้งใจทำงานให้บริการประชาชนอย่างดี มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ไม่คดโกง ถ้าหากว่าพวกเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนทำหน้าที่ไม่ได้ ประชาชนก็ควรจะต้องหาทางถอดถอนพวกเขาได้

การปฏิรูปทางเศรษฐกิจสังคมมี 3 เรื่องที่สำคัญ คือ 1.ปฏิรูประบบภาษี การคลัง กระจายทรัพย์สินรายได้ให้ประชาชนทั้งประเทศมีฐานะรายได้แบบพึ่งพาตนเองได้อย่างทั่วถึง เป็นธรรม มีโอกาสได้รับการศึกษา บริการทางสาธารณสุขและทางสังคมอื่นๆ สู่ประชาชนทั้งประเทศอย่างทั่วถึง เป็นธรรม 

2.ทำให้คนส่วนใหญ่มีโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพแบบคิดวิเคราะห์อย่างเป็นตัวของตัวเองเป็น 

3.ปฏิรูปทางการเมือง ทำให้ระบบเลือกตั้งผู้แทน และผู้บริหารระดับต่างๆ มีการซื้อเสียง ขายเสียง การใช้ระบบอุปถัมภ์ นโยบายประชานิยมน้อยลดลง สร้างประชาธิปไตยทางตรง เช่น การกระจายอำนาจ/ทรัพยากร ไปสู่ท้องถิ่นโดยตรงเพิ่มขึ้น การทำประชามติ ประชาพิจารณ์ในเรื่องนโยบาย/กฎหมายที่สำคัญ

ทั้ง 3 เรื่องควรทำพร้อมกันและส่งเสริมกันและกัน ข้อ 2 นั้น ถ้าประชาชนส่วนใหญ่มีโอกาสได้รับการศึกษา รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพ รู้จักใช้สิทธิเลือกตั้งโดยพิจารณาจากนโยบายและความรู้ ความสามารถของผู้สมัครอย่างมีวิจารณญาณ

รู้จักจัดตั้งกลุ่มองค์กรที่จะเข้าไปตรวจสอบ ผลักดันการบริหาร การพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมของภาครัฐในแนวที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ได้มากขึ้นพอ

เราควรปฏิรูปอะไรและอย่างไร | วิทยากร เชียงกูล

ประชาชนต้องเรียกร้องเรื่องสิทธิเสรีภาพและโอกาสในหลายเรื่อง นอกจากสิทธิในการเลือกผู้แทน เช่น 

1.สิทธิเสรีภาพในการได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและหรือมีงานที่เหมาะสมทำ

2.สิทธิเสรีภาพในการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงเป็นธรรมแล้ว

3.สิทธิทางเศรษฐกิจสังคมอื่นๆ เช่น สิทธิในเรื่องที่ทำกินและการใช้ทรัพยากรร่วมกันของชุมชน สิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม สิทธิเด็ก สิทธิผู้หญิง สิทธิผู้บริโภค ฯลฯ

แม้รัฐธรรมนูญจะเขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้หลายเรื่อง แต่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ยากจน การศึกษาต่ำ มีโอกาสในการได้สิทธิ เสรีภาพ หลายเรื่องน้อยกว่าคนรวย คนชั้นกลางมาก 

เรื่องโอกาสที่จะได้ใช้สิทธิเสรีภาพจริงเป็นเรื่องสำคัญ ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรม (หรือตลาดเสรี) ที่อ้างว่าทุกคนมีเสรีภาพที่จะมีทรัพย์สิน ไปลงทุนแสวงหากำไรเพื่อความร่ำรวยของเอกชนได้ทุกคนนั้น

ในโลกที่เป็นจริงคือ ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมกึ่งผูกขาด คนมือยาว (คนรวย คนชั้นกลางส่วนน้อย) สาวได้มากกว่า มีเฉพาะคนรวยและคนชั้นกลางเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้ใช้เสรีภาพดังกล่าว คนจนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาส ไม่มีช่องทางที่จะไปแข่งขันสู้คนรวยกว่าได้

การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมือง เช่น การให้จังหวัดมีอำนาจในการจัดการตนเองเพิ่มขึ้น มีการเลือกผู้ว่าฯ สภา คณะกรรมการชุดต่างๆ ระดับจังหวัด และบางเรื่อง เช่น สาธารณสุข การศึกษา สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ควรกระจายอำนาจการบริหารและทรัพยากรไปถึงระดับอำเภอและตำบลด้วย

เราควรปฏิรูปอะไรและอย่างไร | วิทยากร เชียงกูล

ส่งเสริมการจัดตั้งสหกรณ์ผู้ผลิตและผู้บริโภค สหภาพแรงงาน สมาคมอาชีพต่างๆ กลุ่มชมรมต่างๆ ของภาคประชาชน ฯลฯ เป็นแนวทางสำคัญในการสร้างอำนาจผลักดัน/ต่อรองของประชาชน เพื่อทำให้เกิดความเป็นธรรม ความโปร่งใส ความมีประสิทธิภาพ ในการบริหารภาครัฐ (ซึ่งใช้ทรัพยากรและภาษีของประชาชน) เพิ่มขึ้น

การปฏิรูปในแนวที่กล่าวมา นอกจะมุ่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ความขัดแย้งแล้ว ยังนำไปสู่การสร้างความไว้วางใจ การร่วมมือกัน และสามัคคี ในหมู่ประชาชนส่วนใหญ่ ที่จะทำให้เศรฐกิจสังคมของประเทศไทยเข้มแข็งขึ้น แข่งขันและร่วมมือกับประเทศอื่นได้มากขึ้น และอย่างเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ด้วย.