ยิ่งเรียนสูง ยิ่งตกงาน รัฐต้องเร่งปฏิรูปตลาด
สถานการณ์ "ตลาดแรงงาน" ปัจจุบันไม่สอดคล้องกับแรงงานที่จบใหม่ โดยผู้ที่จบอุดมศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปมีสัดส่วนที่สูงมาก แต่ตำแหน่งงานรองรับน้อย ทำให้แรงงานกลุ่มนี้ต้องทำงานต่ำกว่าระดับ
ดูเหมือนว่าประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาหนักเรื่อง “การว่างงาน” ของผู้ที่จบการศึกษาในระดับสูง เมื่อไม่กี่วันก่อน ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมค้าปลีกไทย เขียนบทความลงใน “กรุงเทพธุรกิจ” โดยตั้งข้อสังเกตว่า “เหตุใด การศึกษายิ่งสูง ยิ่งว่างงาน” ซึ่ง ดร.ฉัตรชัย ได้ยกสถิติหนึ่งที่น่าสนใจขึ้นมา คือ จำนวนคนว่างงานตามระดับการศึกษา โดยในทุกๆ 100 คน พบว่าในจำนวนนี้เป็นคนที่จบอุดมศึกษา (ระดับปริญญาตรีขึ้นไป) 46 คน มัธยมปลาย 15 คน มัธยมต้น 18 คน ประถมศึกษา 18 คน และต่ำกว่าระดับประถมศึกษา 2 คน
ข้อมูลนี้ใกล้เคียงกับข้อมูลที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นำมาเผยแพร่ ซึ่งเป็นผลสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ได้สำรวจความต้องการแรงงานจากโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ในช่วงปี 2561-2565
ต้องบอกว่าในภาพรวมความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นพอสมควร โดยเพิ่มจาก 95,566 คน ในปี 2561 เป็น 168,992 คน ในปี 2565 แต่เมื่อพิจารณาสัดส่วนความต้องการแรงงานที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป กลับลดลงค่อนข้างมาก
กล่าวคือในปี 2561 ความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีขึ้นไปอยู่ในระดับ 30.1% แต่ล่าสุดปี 2565 กลับลดลงเหลือเพียง 17.2% เท่านั้น ขณะที่สัดส่วนความต้องการแรงงานระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6 กลับเพิ่มขึ้นจาก 41.1% ในปี 2561 เป็น 57.3% ในปี 2565
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาข้อมูลความต้องการแรงงานของบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพื้นที่ EEC ช่วงปี 2565 จำนวน 419 โครงการ รวม 52,322 คน พบว่า ระดับการศึกษาที่มีความต้องการมากสุด คือ ประถมศึกษาปีที่ 6 ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6 สัดส่วน 59.1% ขณะที่ความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีขึ้นไปอยู่ที่เพียง 14.7% เท่านั้น
สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีขึ้นไปที่สูง ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล เกษตรและแปรรูปอาหาร ส่วนอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานระดับ ปวช. และ ปวส. คือ อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ รวมไปถึงเทคโนโลยีชีวภาพ ขณะที่แรงงานไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุดมศึกษาหรือระดับปริญญาตรีขึ้นไปจำนวนมาก
ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนชัดถึงสถานการณ์ "ตลาดแรงงาน" ที่กำลังเผชิญปัญหาความไม่สอดคล้องกันระหว่างกำลังแรงงานที่ผลิตออกมา และความต้องการของตลาด นั่นคือ แรงงานจบใหม่ที่เข้าสู่ตลาดซึ่งจบอุดมศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปมีสัดส่วนที่สูงมาก ทำให้แรงงานกลุ่มนี้ต้องทำงานต่ำกว่าระดับมากขึ้น และสัดส่วนผู้ว่างงานในระดับปริญญาตรีก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย จึงกลายเป็นข้อจำกัดตลาดแรงงานไทย ซึ่งเราเห็นว่าเป็นประเด็นที่รัฐบาลใหม่ควรต้องรีบจัดการ!