ก้าวข้ามความขัดแย้งแบบขาวดำ 2 ขั้วสุดโต่ง เพื่อหาทางปฏิรูปประเทศ
ความเชื่อแบบขาวดำ 2 ขั้วสุดโต่ง ( เช่น ถ้าคุณไม่คิดแบบพวกเสื้อเหลือง คุณก็ต้องเป็นพวกเสื้อแดง ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งแบบตรงกันข้าม) คือความเชื่อแบบยึดอารมณ์ศรัทธา มองว่าฝ่ายเราถูก/ดี 100% ฝ่ายที่คิดต่างจากเราผิด/เลว 100%
นักจิตวิทยามองว่าเป็นความเชื่อแบบบิดเบือนหรือหลงผิด ขาดวุฒิภาวะ เพราะในโลกจริงนั้นต่างฝ่ายต่างมีจุดแข็งและจุดอ่อน ไม่มีใครถูกหรือผิด 100% ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และการตีความ คนที่มองปัญหาแบบใจกว้าง วิเคราะห์อย่างมีเหตุผล จะตีความใกล้ความเป็นจริงได้มากกว่า และจะมองหาทางแก้ไขปัญหาแบบที่มีเหตุผลและสร้างสรรค์มากกว่า
ชนชั้นผู้ปกครองทั้งฝ่ายขุนนางเก่าและนายทุนผูกขาดใหม่ ต่างมีส่วนทำให้ประชาชนแตกแยกเป็น 2 ขั้วสุดโต่ง พวกเขาใช้การโฆษณาประชาสัมพันธ์ (รวมทั้งการครอบงำทางสังคมวัฒนธรรม) เพื่อจูงใจให้ประชาชนเลือกข้างตน
ประชาชนจำนวนหนึ่งมีธรรมชาติที่ชอบใช้อารมณ์ความรู้สึกว่าชอบหรือไม่ชอบฝ่ายไหน ชอบรับรู้ข้อมูลข่าวสารทางเดียว (วิทยุ โทรทัศน์ สื่อออนไลน์ ที่อยู่ข้างพวกตน) ทำให้ชนชั้นผู้ปกครองสามารถครอบงำ ดึงเอาประชาชนไปเป็นพรรคพวกที่อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ของตนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้
ทั้งฝ่ายพวกเหลืองจัดหรือสุดโต่ง (อัลตรารอยัลลิสต์) และพวกแดงจัด ต่างฝ่ายใช้อารมณ์ ศรัทธา ในตัวผู้นำแบบหลงใหลและสรุปแบบง่ายๆ ว่า คนคิดต่างคือผู้ร้าย คือศัตรู
ประชาชนกลุ่มที่แบ่งขั้วเลือกข้างเป็นฝ่ายเสื้อเหลืองหรือฝ่ายเสื้อแดงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มักจะสนใจเรื่องหาเสียงทางการเมืองระดับประเทศที่เน้นการสนับสนุนฝ่ายตน และโจมตีฝ่ายตรงกันข้าม มากกว่าจะรู้จักคิดอย่างเป็นเหตุผลอย่างวิเคราะห์เป็นเรื่องๆ ไป
มากกว่าจะสนใจและไปเข้าร่วมแก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคมที่ภาคประชาชนเผชิญอยู่จริง เช่น เรื่องความยากจน การถูกรุกล้ำพื้นที่ การถูกขับไล่จากพื้นที่เพราะนายทุนต้องการพื้นที่ ฯลฯ
ความขัดแย้งแบบขาวดำ 2 ขั้วสุดโต่ง อีกเรื่องหนึ่งคือ ระหว่างฝ่ายที่อยากปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 (พรรคก้าวไกล) และฝ่ายที่คัดค้านการแก้ไขหรือการแตะต้องเรื่องนี้ (พวก สว.และกลุ่มจารีตนิยมอื่นๆ)
แม้ฝ่ายต้องการปฏิรูปมาตรา 112 จะอธิบายว่าพวกเขาเพียงแต่ต้องการปฏิรูป เช่น จำกัดคนที่ฟ้องได้และลดอัตราการลงโทษที่สูงมากไปลงมา
แต่ฝ่ายที่คิดตรงกันข้ามแบบขาวดำ 2 ขั้วสุดโต่ง ไม่สนใจฟัง พวกเขาคิดสรุปอย่างง่ายๆ ทางเดียวว่าพวกที่เสนอและสนับสนุนการปฏิรูปมาตรา 112 เป็นพวกไม่จงรักภักดีต่อกษัตริย์
บางคนอธิบายว่านักการเมืองพรรคอื่นและ สว.ใช้เรื่อง ม.112 นี้เป็นข้ออ้างเพื่อทำลายพรรคก้าวไกล ที่มีนโยบายก้าวหน้าต้องการปฏิรูปกองทัพ ระบบราชการและอื่นๆ ด้วย แต่คนที่เชื่อเรื่อง ม.112 แบบขาวดำสุดโต่งอย่างจริงจังก็มีอยู่จริง
สถิติช่วง 24 พ.ย.2463-31 ธ.ค.2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112 อย่างน้อย 220 คน จาก 244 คดี (จากเว็บไซต์ iLaw) คนถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่คือวัยรุ่นและคนหนุ่มสาว
นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมากผิดปกติในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา และไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์ในยุโรปและญี่ปุ่นด้วย
ในประเทศเหล่านั้น (ปัจจุบันมีราว 30 ประเทศ ประเทศส่วนใหญ่ร้อยกว่าประเทศยกเลิกสถาบันกษัตริย์ไปนานแล้ว) ชนชั้นผู้ปกครองปรับตัวเข้ากับคนรุ่นใหม่ได้ดีกว่า สถาบันกษัตริย์มีอยู่แบบเป็นสัญลักษณ์ทางประเพณีมากกว่า ไม่มีกฎหมายหมิ่นประมาทประมุขของประเทศ หรือมีบ้างก็ไม่หนักเท่าของไทย
ประชาชนสนใจเรื่องปัญหาเศรษฐกิจการเมืองสังคมที่กระทบตัวพวกเขาโดยตรงมากกว่าที่จะสนใจเรื่องบทบาทและอำนาจของสถาบันกษัตริย์
นี่เป็นปัญหาที่ยาก ซับซ้อน ละเอียดอ่อน เนื่องจากฝ่ายที่จงรักภักดีเชื่อเรื่องนี้แบบศรัทธาเหมือนเชื่อเรื่องลัทธิศาสนา ขณะที่ฝ่ายเรียกร้องการปฏิรูปมาตรา 112 ก็คิดแบบขาวดำสุดโต่งให้ความสำคัญเรื่องนี้มากไปว่า ต้องปฏิรูปเรื่องนี้ก่อน จึงจะปฏิรูปเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคมอื่นๆ ได้
ทั้งที่ความจริง การจะพัฒนา/ปฏิรูปประเทศในประเทศใดก็ตามได้ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่จะต้องปฏิรูป ควรจะดูตัวอย่างจากประเทศอื่น ไม่ว่ามีหรือไม่มีสถาบันกษัตริย์ว่าที่เขาปฏิรูปประเทศได้ดีกว่าไทยนั้น มาจากปัจจัยอื่นๆ
เช่น การพัฒนาทั้งระบบการเมืองและเศรษฐกิจสังคมให้เป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ มีโอกาสมากขึ้น ทั้งในเรื่องการศึกษา การมีงานที่เหมาะสมทำ การได้รับการบริการทางสุขภาพและบริการสังคมอื่นๆ
ประชาชนไทยควรทบทวนลดความขัดแย้งแบบ 2 ขั้วสุดโต่ง และพยายามพัฒนาความคิดเรื่องการเมืองสังคมแบบเสรีนิยมที่ใจกว้างคิดอย่างมีเหตุผล
เราจึงจะหาทางออกแนวปฏิรูปเศรษฐกิจสังคมของประเทศอย่างสันติวิธีเหมือนประเทศอื่นๆ ได้ ความขัดแย้งแบบ 2 ขั้วสุดโต่งนั้นต่างไม่ใช่แนวทางที่จะพัฒนา/ปฏิรูปประเทศได้ทั้งคู่ ถ้ายังต่างฝ่ายต่างไม่ฟังกัน และขัดแย้งกันอย่างไม่ฟังฝ่ายที่สามและอื่นๆ
ประชาชนที่มีความคิดความอ่านแบบรอบด้าน มองการณ์ไกล ควรหาทางช่วยกันพัฒนาประชาชนส่วนใหญ่ให้ฉลาด มีวุฒิภาวะพอที่จะหาทางแก้ไขปัญหาที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งประเทศ มากกว่าการไปยึดติดความเชื่อ อุดมการณ์แบบใดแบบหนึ่งที่สุดโต่งและไม่เป็นจริงในภาคปฏิบัติ
แนวทางการปฏิรูปที่สำคัญ 3 เรื่อง คือ 1.การปฏิรูปทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ปฏิรูประบบภาษีและงบประมาณเพื่อให้มีการกระจายทรัพย์สินและรายได้ที่เป็นธรรมเพิ่มขึ้น พัฒนาคนและการใช้ทรัพยากร พลังงาน ให้มีงานที่เหมาะสมทำ และเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน
2.การปฏิรูปทางการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยทางตรงและประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง มากกว่าประชาธิปไตยแบบผู้แทนที่พรรคใหญ่ของชนชั้นนำผูกขาดอำนาจมากไป และ
3.การปฏิรูปทางการศึกษาและเรื่องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้นใช้งาน (ในการทำงานและชีวิตทางสังคม) ได้จริง
เรื่องสำคัญคือทำอย่างไรจึงจะช่วยให้ประชาชนรู้จักคิด วิเคราะห์ อย่างมีเหตุผล การส่งเสริมการพัฒนาทางวัฒนธรรมแบบเสรีนิยมที่ใจกว้าง มีลักษณะก้าวหน้า/ปฏิรูป เคารพความหลากหลายทั้งทางชีวภาพ (สิ่งแวดล้อม) และความหลากหลายทางวัฒนธรรมความเชื่อต่างๆ ของกลุ่มคนต่างๆ ที่อยู่ในสังคมเดียวกับเรา
ให้มีวินัย จิตสำนึกเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม มีวิสัยทัศน์ในการมองการณ์ไกลว่า การสามัคคีกันปฏิรูปประเทศเพื่อประโยชน์ส่วนรวมนั้น จะเป็นประโยชน์กับทุกคนทั้งคนรวยและคนจน
แนวทางทั้งสามนี้จะทำให้เศรษฐกิจสังคมเข้มแข็ง และกลับมาเป็นประโยชน์สำหรับตัวเราและลูกหลานอย่างยั่งยืน มากกว่าการแก่งแย่งแข่งขันกันในระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมแบบเห็นแก่ตัวระยะสั้น ที่เคยทำให้หลายประเทศ (เช่น เยอรมัน ยุคฮิตเลอร์ สเปน สงครามกลางเมือง ปี 1934 การปฏิวัติในอิหร่าน ปี 1979 ฯลฯ) เคยผ่านสงคราม ความรุนแรง ภายในประเทศอย่างสูญเปล่า โง่เขลา มาแล้ว.