‘จิรัฏฐ์’ ผิดหวังนโยบายกองทัพ 'รัฐบาลเศรษฐา' ไร้ร่องรอยปฏิรูป
‘จิรัฏฐ์’ ผิดหวังนโยบายรัฐบาล ไร้ร่องรอยคำสัญญาปฏิรูปกองทัพ ไล่โจทย์ยากที่ต้องแก้ ทั้งคำสัญญาลดจำนวนนายพล - ธุรกิจกองทัพกับความไม่โปร่งใส - การจัดซื้อจัดจ้าง - เรือดำน้ำ - เครื่องบินรบ - เรือหลวงสุโขทัย หวัง ‘สุทิน’ เป็นมากกว่าแค่แมสเซนเจอร์-โฆษกกองทัพ
เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2566 ที่รัฐสภา นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายการแถลงนโยบายของรัฐบาล ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ โดยระบุว่านี่เป็นครั้งแรกที่ตนได้เห็นความจริงของรัฐบาลชุดนี้ผ่านคำแถลงนโยบายในกระดาษ 7 แผ่น 14 หน้า เป็นที่น่าผิดหวัง เพราะพรรคเพื่อไทยพูดเรื่องการปฏิรูปกองทัพมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนมีพรรคก้าวไกลและพรรคอนาคตใหม่ด้วยซ้ำ และยังเป็นพรรคที่โดนทหารยึดอำนาจรัฐประหารมาแล้วถึง 2 รอบ เราก็คิดไปว่าจะเป็นแนวหน้าในการปฏิรูปกองทัพ แต่ 7 แผ่น 14 หน้าของการแถลงนโยบาย ไม่มีคำว่าปฏิรูปกองทัพแม้แต่คำเดียว
นายจิรัฏฐ์ กล่าวว่า นอกจากไม่มีคำว่าปฏิรูปแล้ว ในสิ่งที่นายกฯ ให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ ที่ระบุว่าไม่อยากให้ใช้คำว่าปฏิรูป แต่อยากให้เป็นการพัฒนาร่วมกัน ซึ่งเป็นคนละความหมายและใช้แทนกันไม่ได้เลย ที่ขัดใจที่สุดคือการให้ สุทิน คลังแสง มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งตนก็มีความเคารพเป็นการส่วนตัว แต่เมื่อต้องมารับบทบาทนี้ ก็รู้สึกอนาถใจ ยิ่งได้เห็นคำสัมภาษณ์แล้ว ยิ่งรู้สึกว่าไม่มีความหวังเลย โดยเฉพาะการสัมภาษณ์ครั้งล่าสุด ที่บอกว่ากองทัพมีความตั้งใจจะลดจำนวนนายพลอยู่แล้วภายในปี 2570
"คำถามคือนายสุทินเชื่อได้อย่างไร เพราะตัวเลขล่าสุดที่สื่อเปิดเผยออกมา จำนวน พล.อ. ในประเทศนี้รวมกันมีจำนวนถึง 1,800 คนไปแล้ว มากกว่าสหรัฐอเมริกาที่มีเพียง 600 คนถึง 3 เท่าตัว ที่สำคัญคือในปี 2559 โฆษกกระทรวงกลาโหมระบุว่ากองทัพมีแผนจะลดจำนวนนายพลลง 2.5% ต่อปี จากจำนวน 768 คนในปีนั้น แต่เมื่อ พ.ค. ที่ผ่านมานี่เอง จำนวนนายพลกองทัพไทยมีจำนวนถึงราว 1 พันคน สิ่งนี้เรียกว่าเพิ่มหรือลดลงกันแน่" นายจิรัฏฐ์ กล่าว
สส.พรรคก้าวไกล กล่าวอีกว่า อีกประการที่เป็นข้อน่ากังวล และเป็นคำถามต่อไปถึงนายกรัฐมนตรี คือธุรกิจและการใช้ที่ดินของกองทัพ ผ่านกรมธนารักษ์ ที่มีตั้งแต่ โรงแรม 5 ดาว ปั๊มน้ำมัน สนามกอล์ฟ สนามม้า สนามมวย เหมืองหิน และยังมีช่องทีวี สถานีวิทยุ แท่นขุดเจาะน้ำมัน โรงพยาบาล ธุรกิจพิพิธภัณฑ์ แปลงผัก สถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ คำถามคือรัฐบาลจะดำเนินการใดๆ กับเรื่องนี้หรือไม่ เพราะนี่คือหนึ่งในที่มาของปัญหาความไม่โปร่งใสในรายได้และงบประมาณของกองทัพมาโดยตลอด
นายจิรัฏฐ์ กล่าวถึงกรณีการจัดซื้อเรือดำน้ำว่า ตนต้องทวงถามว่ารัฐบาลจะเอาอย่างไรต่อ ข้อเสนอให้ใช้เครื่องยนต์จีนที่ไม่เคยมีใครใช้มาก่อนดูเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยง ขณะที่เยอรมนีก็ไม่ผลิตเครื่องยนต์นี้อีกต่อไปแล้ว เรื่องนี้หมดสัญญาไปแล้ว 40 เดือน หากจะมีการต่อสัญญาก็ต้องนำเข้าคณะรัฐมนตรี คำถามคือรัฐบาลจะมีการอนุมัติแก้ไขสัญญาหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น คณะรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบแทนกองทัพเรือ
นายจิรัฏฐ์ กล่าวว่า ยังมีประเด็นเรื่องการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ทดแทนรุ่น F-35 อีก ซึ่งในปีที่แล้วแม้จะมีการอนุมัติงบประมาณไป แต่สหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้ขายให้ ผู้บัญชาการทหารอากาศได้สัญญาว่าจะคืนงบประมาณให้ แต่จากข่าวที่ได้ทราบเมื่อไม่นานมานี้ ดูเหมือนว่าจะมีการเอาไปดาวน์เครื่องบินขับไล่รุ่นกริพเพน 3 ลำแทน ซึ่งเรื่องนี้ตนขอย้ำและเรียกร้องว่ากระทรวงกลาโหมจะต้องเอาเข้าสภาเท่านั้น รัฐบาลต้องไม่ปล่อยให้กองทัพอนุมัติอะไรโดยที่ไม่ผ่านสภาโดยเด็ดขาด และยังมีกรณีของเรือหลวงสุโขทัย ที่เกิดอุบัติเหตุจมลงกำลังจะครบรอบปีในอีกไม่ช้านี้ ผ่านไปปีหนึ่งแล้วยังไม่ได้กู้ขึ้นมา งบประมาณถูกจัดสรรให้แล้วราว 2 ร้อยล้านบาท มีการเปิดประมูล มีผู้ยื่นซองประมูลหลายราย แต่มีบริษัทหนึ่งที่ได้ยื่นซองเข้ามาในวันสุดท้ายอย่างผิดปกติ และที่ผิดปกติกว่าคือการที่อยู่ๆ ผู้บัญชาการทหารเรือ ก็ยกเลิกการประมูลไปเสีย
นายจิรัฏฐ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อตนไปดูรายละเอียดแล้ว ก็พบว่าบริษัทสุดท้ายที่ยื่นซองประมูล เพิ่งจดจัดตั้งเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2565 นี่เอง จะให้มีการรับงานระดับนี้แล้วหรือ และที่น่าสังเกตคือผู้จดจัดตั้งบริษัท ก็มีนามสกุลเดียวกับ ผบ.สส. คนใหม่อีกต่างหาก นั่นแปลว่าผู้บัญชาการทหารเรือมีเจตนาต้องการควบคุมผลของการตรวจสอบการกู้ซากเรือ ว่าที่เกิดอุบัติเหตุนั้นเป็นเพราะอะไร ใช่หรือไม่
“รัมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะต้องใช้อำนาจที่มีโดยตรงเข้าไปจัดการเรื่องเหล่านี้ ผมหวังว่าชื่อเสียงของท่านจะไม่เสียหายไปมากกว่านี้ และช่วยตอบคำถามที่สังคมคาดหวังสงสัยให้ด้วย หากท่านไม่ได้มาเป็นเพียงแค่แมสเซนเจอร์ หรือโฆษกกองทัพ ที่เพียงแต่จะรับคำสั่งจากสภากลาโหม ส่งต่อให้ ครม.อนุมัติเท่านั้น” นายจิรัฏฐ์ กล่าว