สส.ก้าวไกลป้อง 'ช่อ' ยันคดีจริยธรรมเปิดช่องกลั่นแกล้ง ลุยร่าง รธน.ใหม่
'สส.ก้าวไกล' เคลื่อนไหว! กางปีกป้อง 'ช่อ พรรณิการ์' หลังโดนศาลฎีกาลงดาบตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป คดีฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ชี้เปิดโอกาสกลั่นแกล้งทางการเมือง หวังทุกคนมองเห็นปัญหา ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยแท้จริง
เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2566 ที่รัฐสภา สส.ก้าวไกล นำโดยนายปิยรัฐ จงเทพ สส.กทม. เขตพระโขนง บางนา พรรคก้าวไกล แถลงข่าวกรณีศาลฎีกามีคำพิพากษาถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง รวมถึงสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิตของ น.ส.พรรณิการ์ วานิช อดีต สส.พรรคอนาคตใหม่ และอดีตผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล ด้วยความผิดฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามกฎหมาย
นายปิยรัฐ กล่าวว่า ไม่ได้ตั้งใจเจาะจงกรณีของพรรณิการ์เท่านั้น แต่ตั้งใจชี้ให้เห็นปัญหาของรัฐธรรมนูญ อภิปรายหลักนิติธรรมและปัญหาโครงสร้างของประเทศ ที่มีการใช้นิติสงครามเพื่อดำเนินการกับนักการเมือง ทั้งนี้เนื้อแท้ของรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ต้องตั้งคำถามว่าปราบใคร และการปราบโกงครั้งนี้เพื่อให้อำนาจองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ออกมาตรฐานจริยธรรมของตนเองขึ้นมา ส่งผลต่อไปยัง สส. สว. ไปจนถึงรัฐมนตรี ให้อยู่ภายใต้มาตรฐานจริยธรรมชุดนี้ด้วย ทำให้เกิดปัญหาตามมา เมื่อ สส. สว. หรือรัฐมนตรี มีปัญหาข้อพิพาทใดก็ตามเกี่ยวกับจริยธรรม ก็ไม่ได้จบหรือเอาผิดกันแค่ในองค์กรของตนเอง แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 235 กลับให้อำนาจองค์กรอิสระวินิจฉัยหรือส่งเรื่องต่อเพื่อเอาผิด เรื่องนี้เป็นปัญหามาก ทั้งการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วน การลงโทษซ้ำซ้อน แม้จะมีโทษทางการเมืองไปแล้ว ก็ยังมีโทษตัดสิทธิย้อนหลังอีก
นายปิยรัฐ กล่าวด้วยว่า ต้องตั้งคำถามต่อองค์กรอิสระด้วยว่า ในอดีตก่อนดำรงตำแหน่ง ท่านเคยผิดจริยธรรมหรือไม่ เพราะกรณีพรรณิการ์ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตนจึงเชื่อว่านี่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้มีการใช้เครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมือง ปราบนักการเมืองที่ไม่ยอมจำนน ให้สยบอยู่ใต้กฎหมายนี้ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สังคมต้องตั้งคำถาม เพราะเป็นปัญหาของทุกคน เราจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อให้เป็นประชาธิปไตย เป็นหลักนิติรัฐนิติธรรมโดยแท้จริง
ส่วน น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. เขตสายไหม กล่าวย้ำถึงหลักกฎหมายเบื้องต้น คือไม่ควรมีกฎหมายลงโทษย้อนหลัง รวมถึงความไม่ได้สัดส่วนของการลงโทษกับการกระทำความผิด เพราะการตัดสิทธิ์ทางการเมืองนั้น หากเทียบกับกฎหมายอาญา เท่ากับการประหารชีวิตทางการเมือง