7 องค์กรวิชาชีพสื่อ ชี้ปมรอง ผบ.ตร.แจกเงินนักข่าวละเมิดจริยธรรมร้ายแรง
7 องค์กรวิชาชีพสื่อ ออกแถลงการณ์ร่วมปม 'รอง ผบ.ตร.' ช่วยเหลือ-จ่ายเงินให้สื่อทำข่าว ชี้ละเมิดจริยธรรมวิชาชีพร้ายแรง ไม่สามารถยอมรับได้ ลุยตั้ง กก.สอบข้อเท็จจริง ขอให้สื่อต้นสังกัดตรวจสอบ เรียกร้องให้นักข่าวรับเงินแสดงตัว
เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 7 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ออกแถลงการณ์ร่วม เรื่อง นักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว ระบุว่า สืบเนื่องจากกรณีที่รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่ามีการจ่ายเงินให้สื่อมวลชนเพื่อเป็นค่าข่าว และช่วยเหลือด้านต่างๆ เนื่องจากเห็นว่านักข่าวเงินเดือนน้อย ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข่าวต่อสาธารณะออกไปอย่างแพร่หลายนั้น
องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 7 องค์กร ประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย และสมาพันธ์สื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ได้ร่วมประชุมกันและขอแสดงจุดยืนต่อสาธารณะว่า สื่อมวลชนที่รับเงินจากแหล่งข่าวเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการใดๆ ถือเป็นเรื่องที่ละเมิดจริยธรรมวิชาชีพอย่างร้ายแรง ไม่สามารถยอมรับได้
ดังนั้น ที่ประชุม 7 องค์กรวิชาชีพ จึงมีมติร่วมกันดังนี้
1. เห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อสร้างความกระจ่างชัดในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อสาธารณชนโดยคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนจากสภาวิชาชีพสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) ซึ่งทำหน้าที่ดูแลเรื่องจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนขององค์กรสมาชิก องค์กรละ 2 คน (เป็นคนในวิชาชีพ 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 1 คน) รวมเป็น 6 คน และให้สรรหาผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมาเป็นประธานคณะกรรมการอีก 1 คน รวมเป็น 7 คน
2. ขอให้องค์กรต้นสังกัดที่ถูกระบุว่ามีนักข่าวรับเงิน รวมทั้งองค์กรสื่อมวลชนอื่นๆ ดำเนินการตรวจสอบว่านักข่าวในสังกัดว่ามีพฤติกรรมตามที่ถูกระบุหรือไม่ และพร้อมแจ้งผลการดำเนินการแจ้งต่อสาธารณะให้ทราบ ส่วนบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ไม่มีต้นสังกัด และกระทำการเป็นนักข่าวเพื่อส่งข่าวต่อไปยังสำนักข่าวต่างๆ แต่มีพฤติกรรมละเมิดจริยธรรมวิชาชีพนั้น ขอให้ทุกองค์กรสื่อมวลชน พิจารณายุติการซื้อข่าวจากบุคคลหรือกลุ่มดังกล่าว
3. กรณีที่มีนักข่าวมีส่วนพัวพันหรือไปเกี่ยวข้องกับการรับเงินในธุรกิจที่ผิดกฎหมาย คณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นโดยสภาวิชาชีพข้างต้น จะดำเนินการตรวจสอบด้านจริยธรรมวิชาชีพเช่นกัน ส่วนความผิดตามกฎหมายนั้น เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย
4. องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอเรียกร้องให้บุคคลกลุ่มบุคคลที่เป็นอดีตนักข่าว และทำหน้าที่ส่งข่าวให้สำนักข่าวต่างๆ แสดงตัวตนให้ชัดเจนว่าการรับเงินดังกล่าวเป็นค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนในการทำข่าวและส่งประชาสัมพันธ์ โดยไม่แอบอ้างตนว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน แต่หลีกเลี่ยงการถูกกำกับดูแลด้านจริยธรรมจากองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน