แก้เศรษฐกิจ-ต่างประเทศ ท้าทายนายกฯ เศรษฐา
ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งพิสูจน์ความสามารถของนายกฯ ที่เคยบริหารธุรกิจมามากแต่บริหารประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย แค่การประกาศไม่รับเงินเดือนนายกฯ นำไปบริจาคให้องค์กรการกุศลถือเป็นเจตนาดีแต่ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย
เป็นธรรมดาอยู่เองที่เมื่อประเทศใดได้ผู้นำใหม่มักถูกจับตาว่า ผู้นำท่านนั้นจะไปเยือนประเทศใดเป็นที่แรก ถ้าไม่นับการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่นครนิวยอร์กของสหรัฐเมื่อสัปดาห์ก่อนซึ่งเป็นเวทีพหุภาคี การเยือนกัมพูชาวานนี้ (28 ก.ย.) ถือเป็นการเยี่ยมเยือนอย่างเป็นทางการประเทศแรก ถ้าสังเกตดูให้ดีการเมืองไทยและกัมพูชามีลักษณะคล้ายกันหลายอย่าง เป็นราชอาณาจักรเหมือนกัน ปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาเหมือนกัน เพิ่งผ่านการเลือกตั้งทั่วไปและได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่เหมือนๆ กัน
ประเทศไทยเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. กัมพูชาเลือกตั้งวันที่ 23 ก.ค. แต่กระบวนการของไทยยืดเยื้อยาวนานร่วมสามเดือนกว่าจะลงตัวที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ส่วนของกัมพูชารู้ตัวล่วงหน้าระยะหนึ่งแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่ไม่มีทางเป็นใครไปได้นอกจาก “ฮุน มาเนต” ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของอดีตนายกรัฐมนตรีฮุนเซน เลือกตั้งไม่กี่วันจึงได้นายกฯ ใหม่ทันที ถามว่า นายกฯ ทั้งสองคนมีข้อครหาหรือไม่? ตอบเลยว่า มี พรรคเพื่อไทยของนายกฯ เศรษฐาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเรื่องที่ไปรวมตัวกับพรรครัฐบาลเดิม ขณะที่การเลือกตั้งกัมพูชาถูกนานาชาติมองว่าไม่เสรีและเป็นธรรม
แต่นั่นเป็นเรื่องของอดีต ปัจจุบันผู้นำทั้งสองคือนายกรัฐมนตรีโดยชอบธรรม มีหน้าที่ทำงานเพื่อประชาชน ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกผันผวน ความร่วมมือระหว่างเพื่อนบ้านเป็นเรื่องสำคัญ นายกรัฐมนตรีไทยและกัมพูชาเห็นพ้องตรงกันที่จะส่งเสริมความร่วมมือมากยิ่งขึ้นทั้งการค้า การท่องเที่ยว การลงทุน การพัฒนาพื้นที่ชายแดนและภาคเศรษฐกิจใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมกันอำนวยความสะดวกและเพิ่มปริมาณการค้าให้บรรลุเป้าหมาย 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในปี 2568
เศรษฐกิจเป็นเรื่องน่าห่วงของทุกประเทศ ล่าสุดศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 จาก 3.6% ลงมาอยู่ที่ 3.0% เนื่องจากปัจจัยลบที่สำคัญ คือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 2/66 ชะลอตัวกว่าที่คาด, มูลค่าการส่งออกของไทยยังปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาด, ปัญหาความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณปี 2567 รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงจากปรากฏการณ์เอลนีโญ
ปัจจัยลบที่กล่าวมาถือเป็นความท้าทายต่อรัฐบาลโดยเฉพาะตัวนายกฯ เพราะพรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้อย่างหวือหวา ถึงคราได้อำนาจทั้งกองเชียร์กองแช่งยิ่งรอคอยผลงาน การขึ้นค่าแรง ลดค่าครองชีพ รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย หรือเงินดิจิทัล ฯลฯ ทุกอย่างต้องเดินหน้า ขณะที่นโยบายต่างประเทศการเรียกคืนศักดิ์ศรีประเทศไทยในเวทีโลกก็มองข้ามไม่ได้ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งพิสูจน์ความสามารถของนายกฯ ที่เคยบริหารธุรกิจมามากแต่บริหารประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย แค่การประกาศไม่รับเงินเดือนนายกฯ นำไปบริจาคให้องค์กรการกุศลถือเป็นเจตนาดีแต่ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย