อนาคต ‘พรรคก้าวไกล’ ในมุมมอง ‘สองศาสดา’
"...สิ่งหนึ่งที่ปิยบุตร ฝากถึงกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลว่า ยามเมื่อพรรคพึ่งตั้งใหม่ คณะนำของพรรค อาจยังไม่ไว้เนื้อเชื่อใจคนในพรรคอย่างถ้วนหน้า การตัดสินใจในเรื่องต่างๆอาจมาจาก “วงปิด” ของคณะนำไม่กี่คน..."
ก้าวไกลยุค 2 ต. ต๋อม-ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค และ ติ๋ง-อภิชาติ ศิริสุนทร เลขาธิการพรรค กำลังปรับทัพจัดแถว เพื่อให้ก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง
อีกด้านหนึ่ง ก้าวไกลก็ต้องเคลียร์ให้จบเรื่องเก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้าน กับรองประธานสภาฯ คนที่ 1
ที่น่าสนใจ ระหว่างนี้ มีผู้นำทางจิตวิญญาณของค่ายส้ม 2 คนคือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล ได้ออกมาแสดงความ เห็นต่อสาธารณชน เกี่ยวกับอนาคตของพรรคก้าวไกล
ประเด็นที่เอก ธนาธร และป๊อก ปิยบุตร มองแตกต่างกันคือ บทเรียนจากการเลือกตั้งปี 2566 ฝ่ายหนึ่งมองเห็นอนาคตอันสดใสเรืองรอง
อีกฝ่ายหนึ่งกลับรู้สึกเป็นห่วง เกรงว่าก้าวไกลจะไม่ประสบความสำเร็จ จึงเสนอให้เร่งปรับปรุงองค์กร และยกระดับ สส.ให้มีคุณภาพมากกว่านี้
เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2566 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้เป็นวิทยากรบรรยายให้แก่นักเรียนในหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 27 (ปปร.27) สถาบันพระปกเกล้า
เมื่อพูดถึงพรรคก้าวไกล ที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ธนาธร สรุปว่า “ความสำเร็จของพรรคก้าวไกล คือความสำเร็จของการเมืองแบบใหม่ที่เป็นไปได้”
ผลคะแนนรวม 14,438,851 คะแนน (36.4%) ของพรรคก้าวไกล ทำให้การเมืองไทยสะท้านสะเทือน
“ตัวเลข 36.4% ที่พรรคก้าวไกลได้จากการเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ที่หลายคนบอกว่าพรรคก้าวไกลเก่งเรื่องการทำสื่อโซเชียลนั้น ผมคิดว่าจริงแค่ครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งคือการทำงานอย่างหนักตลอด 5 ปีที่ผ่านมา”
ขณะที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล ให้สัมภาษณ์ The Room 44 เมื่อ 18 ก.ย.2566 ประเมินผลการเลือกตั้งครั้งที่แล้วว่า พรรคก้าวไกล ได้ 14.4 ล้านคะแนน “...น่าจะเกินครึ่งแน่ๆ เป็นกระแสการไม่เอา พล.อ.ประ ยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี โดยที่พรรคก้าวไกล ชูธงมีลุงไม่มีเรา มีเราไม่มีลุง กลายเป็นจุดเด่น”
แสดงว่า ผู้ที่เลือกพรรคก้าวไกล ในเชิงอุดมการณ์ และเป็นด้อมส้ม น่าจะอยู่ที่ 7-8 ล้านคะแนน
“ปัญหาคือจะรักษา 14.4 ล้าน และต่อเติมเพิ่มขึ้นมาอีกได้อย่างไร..” โจทย์ยากของพรรคก้าวไกลในสมัยหน้าคือ คู่ต่อสู้เปลี่ยน ไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่ กลุ่ม 3 ป. แต่เป็นพรรคเพื่อไทย
ปัจจุบัน ชนชั้นนำดั้งเดิม ชั้นนำทางการเมือง และชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ ได้สนับสนุน เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี
ในมุมของธนาธร ยังมองแบบมีความหวัง “...พรรคก้าวไกลยังไม่สมบูรณ์แบบ ยังมีเรื่องต้องปรับปรุงอีกเยอะมาก แต่ทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคอนาคตใหม่ ล้วนมีความเชื่อแบบเดียวกัน คืออยากทำให้ประเทศไทยเห็นว่าพรรคการเมืองที่ไม่ซื้อเสียง ไม่คอรัปชั่น เป็นจริงได้”
ส่วนปิยบุตร ที่ถอยออกมาเป็น “คนนอก” ได้วิจารณ์ตรงไปตรงมา เพราะในวันที่พรรคอนาคตใหม่ ได้มา 80 กว่าที่นั่ง ก็มีปัญหาการบริหารจัดภายในพรรคไม่ง่าย ทำให้ สส.งูเห่าจำนวนหนึ่ง
วันนี้ พรรคก้าวไกลโตพรวดพราด มี สส. 151 ที่นั่ง และเป็น สส.หน้าใหม่จำนวนมาก ปิยบุตรมองว่า บุคลิกภาพของ สส. และความใหม่ของ สส. จะกลายเป็นจุดอ่อนที่ฝ่ายตรงข้ามนำไปใช้โจมตี
“....วันนี้อยู่ดีๆ พรึ่บตัวเองมาเป็น สส. กลายเป็นเซเลบชั่วข้ามคืนแล้ววันๆ ก็จะคิดแต่คำนึงว่า ฉันเคลื่อนไหวอย่างนี้ นักข่าวจะเอาไปลงไหม จะโดนตัดอยู่ในไวรัลในทวิตเตอร์ไหม..ถ้าคิดอย่างนี้ ขอประทานโทษกลับไปเป็นเซเลบ ไม่ต้องมาเป็นนักการเมือง”
อาจารย์ป๊อกยกตัวอย่างมาอรรถาธิบายพฤติกรรมที่ สส.ใหม่ไม่ควรกระทำ และไม่แปลกใจที่จะมีคนวิจารณ์ สส.สีส้มบางกลุ่มว่า เป็นคนหัวร้อน อ่อนประสบการณ์ บริหารไม่เป็น
ที่น่าเป็นห่วงคือ “ทำงานกับคนอื่นไม่ได้ คิดว่าตนเองวิเศษคนเดียว ไม่มีเพื่อน ไม่คิดคบใครและไม่มีใครคบ” ซึ่งปิยบุตร ได้รับโทรศัพท์จากเพื่อน สส.ต่างพรรคมาปรารภเรื่อง สส.ก้าวไกล ในลักษณะนี้อยู่หลายหน
“ต้องไม่ลืมว่า เมื่อกระแสสูงได้เพราะโลกโซเชียล กระแสก็ตกได้ด้วยโลกโซเชียลเช่นกัน” อาจารย์ป๊อก เตือนรุ่นน้อง
สิ่งหนึ่งที่ปิยบุตร ฝากถึงกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลว่า ยามเมื่อพรรคพึ่งตั้งใหม่ คณะนำของพรรค อาจยังไม่ไว้เนื้อเชื่อใจคนในพรรคอย่างถ้วนหน้า การตัดสินใจในเรื่องต่างๆอาจมาจาก “วงปิด” ของคณะนำไม่กี่คน
เมื่อพรรคโตขึ้น สส.มากขึ้น จะต้องเปิดกว้างให้ทุกคนมีส่วนร่วม ไม่ใช่รวบอำนาจอยู่ภายในกลุ่มคณะนำ
แสดงว่า ตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ จนมาถึงพรรคก้าวไกล ได้มี “คณะนำ” หรือโปลิตบูโรจริง เหมือนที่มีส้มอกหักบางคนออกมาแฉผ่านสื่อ
บทบาทของคณะนำหรือเปล่า ที่ทำให้ปิยบุตรเกิดอาการถอดใจ และขอวางมือทางการเมือง เนื่องจากเส้นแบ่งระหว่าง “คณะนำ” กับ “เถ้าแก่”(หลังม่าน) มีแค่เส้นบางๆกั้นอยู่เท่านั้น