การผนึกกำลังของ "มินต์ช็อก" และการกลับบ้านของ "โทนี่"
บางตอนของเรื่องราวการแข่งขันของผู้บริหารในบริษัทโฆษณา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแชโบล (VC Group) ในซีรีส์เกาหลีเรื่อง AGENCY ความยาว 16 ตอน (ออนแอร์เมื่อต้นปี 2566) คล้ายคลึงกับสถานการณ์การเมืองไทยปัจจุบันอย่างมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามผนึกกำลัง (synergy) ของ “คังฮันนา” ทายาทเศรษฐีตระกูลคังรุ่นที่สาม กับพัคยองอู เลขานุการผู้ซื่อสัตย์ ซึ่งทำงานให้กับ VC Group มาอย่างยาวนานและการกลับบ้านของ “โทนี่” (ทักษิณ ชินวัตร)
บทสนทนาของตัวละครดังกล่าวที่หน้าสำนักงานเขตซองบุก พัคยองจินหรือ “ผู้ช่วยพัค” (สำนวนแปลของรักษ์สุดา ขุนรักษ์) เปรียบเทียบการหลอมรวม (จดทะเบียนสมรส) ของตนและคังฮันนากับไอศกรีม “มินต์ช็อก (Mint Choc)” ว่า
“ทาสที่ตกหลุมรักคุณหนูจะถูกลงโทษและเฉดหัวออกไป ถ้าคุณกับผมรวมกันคงไม่เกิดการผนึกกำลังมีแต่จะเป็นภัยต่อกัน มินต์ต้องอยู่กับมินต์ ช็อกโกแลตต้องอยู่กับช็อกโกแลต ถ้าไม่จดทะเบียนก็กลับกัน”
ขณะที่คังฮันนานึกถึงเหตุการณ์ในวัยเด็ก “คุณปู่” คังกึนซอล ผู้ก่อตั้งอาณาจักร VC Group (มักเรียกผู้บริหารบริษัทของตนว่า “ทาส”) ห้ามคังฮันนามอบของขวัญวันเกิดแก่คนขับรถ
ด้วยเหตุผลว่า “การให้ของขวัญจะทำให้เกิดความผูกพันและสนิทกัน คนพวกนั้นจะตีตัวเสมอเรา และพุ่งเข้ามาหาพร้อมหอกไม้ไผ่เพื่อปราบเรา” ดังนั้น “คุณปู่” จึงมอบซองธนบัตรให้คังฮันนานำไปให้คนขับรถพร้อมสั่งให้หาคนขับรถคนใหม่
เหตุการณ์ครั้งนั้นสะท้อนมุมมองของเศรษฐีที่มีต่อพนักงาน (ที่รับเงินเดือนในบริษัทของตน) และความเหลื่อมล้ำในสังคมเกาหลีใต้โดยผู้ช่วยพัคสรุปว่า
“ที่โรงเรียนสอนว่าไม่มีชนชั้นในอาชีพ เพราะมันมีชนชั้นในอาชีพจริง ไม่ว่าอาชีพ คน ฐานะยังคงมีชนชั้นอยู่ ภายนอกดูเหมือนสังคมเท่าเทียม ถ้าอยากได้สิ่งที่ยิ่งใหญ่ต้องสละสิ่งเล็กน้อยไป”
ผลการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค.2566 นอกจากทำให้พรรค (อดีต) ทหาร (พลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ) ในขั้วรัฐบาลเดิมประสบความพ่ายแพ้อย่างยับเยิน ยังก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ชนชั้นนำ (ฝ่ายอนุรักษนิยม)
เนื่องจาก “มติมหาชน” หนุนส่งให้พรรคก้าวไกล (นโยบายปฏิรูป) ได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่ง (เพื่อไทยมาเป็นอันดับสอง) และสามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลเพราะถูกถีบออกไปเป็นฝ่ายค้าน
การลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ของพรรคการเมือง (ฝ่ายประชาธิปไตย) นำโดยพรรคก้าวไกลเมื่อ 22 พ.ค.2566 ถือเป็นความพยายามหลอมรวมของสิ่งที่แตกต่างกัน
แต่ยังไม่ใช่เครื่องดื่ม “ช็อกมินต์” ที่ “อุ๊งอิ๊ง” (แพทองธาร ชินวัตร) ทายาทตระกูลชินวัตรรุ่นที่ 3 ต้องการ “ช็อกมินต์” แก้วโปรดต้องประดับด้วยใบสะระแหน่ (สีเขียว) 2 ใบ
แม้ “โครงการอนุญาตให้ประกันตัวประธานอูวอน” (คิมอูวอน) อายุ 62 ปี ซึ่งถูกจับกุมด้วยข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในภาพยนตร์อาจมีลักษณะสวนทางกับ “แผนการกลับบ้าน (เพื่อรับโทษจำคุก)” ของ “โทนี่”
แต่กระบวนการคิดและผลิตงาน (แคมเปญ) โฆษณาอาศัยหลักการเดียวกัน คือปลูกฝังการตระหนักรู้และตีกรอบความคิดคน เพื่อตอบสนองคุณค่าให้คนคนเดียว (ทำให้คนนั้นพอใจ)
โกอาอิน ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ (Creative Director) ใช้ความเป็นมืออาชีพในการหยั่งรู้ความคิดของลูกค้า (ทั้งที่อูวอนกรุ๊ปไม่ได้แจ้งความต้องการ/จุดมุ่งหมาย) คือ “ให้สิทธิประกันตัวประธานอูวอน”
ในฐานะ “ทาสสาว” ที่เติบโตจากการเป็นนักเขียนคำโฆษณา (copy writer) เธอเลือกใช้ถ้อยคำที่ทำให้ประโยชน์ส่วนตัว (ของคิมอูวอน) เป็นเหมือนของส่วนรวม (ผู้บริโภคจะได้อะไร)
ความไม่สมบูรณ์แบบของกฎหมายเกาหลีใต้ (การคุมขังผู้ต้องหาเพื่อรอการสอบสวน) เป็นประเด็นที่ถูกใช้ในงานโฆษณา โดยทีมงานของโกอาอินได้นำบุคคลที่เคยประสบความอยุติธรรมมาถ่ายทอดเรื่องราวผ่านคลิปวิดีโอ
ด้วยแนวความคิดคนกับปาฏิหาริย์ ทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกร่วม รวมทั้งให้พนักงานคอลเซนเตอร์ช่วยเสริมเรื่องราว เพื่อขยายการเข้าถึงกลุ่มคนให้มากขึ้นจนทำให้ผู้พิพากษาตัดสินใจให้ประกันตัวประธานอูวอนในที่สุด
สำหรับความพยายามกลับบ้านของ “โทนี่” มีจุดเริ่มต้นจากรวมกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคม “CARE คิด เคลื่อน ไทย” นำโดยภูมิธรรม เวชยชัย อดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทยและคณะ 7 คน เมื่อ 17 มิ.ย.2563
ตามมาด้วยการเปิดตัว “อุ๊งอิ๊ง” ในฐานะประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม (inclusion and innovation) ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งจัดประชุมประจำปีครั้งที่ 1/2564 ที่ขอนแก่น เมื่อ 28 ต.ค.2564
ความสำเร็จของแคมเปญ “ครอบครัวเพื่อไทย” ที่สื่อความหมายถึงการนำ “โทนี่” กลับบ้าน
แม้ไม่สามารถทำให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ตามที่มุ่งหวัง แต่ก็ต้องยอบรับว่า “การเจรจาต่อรอง” เพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ของ “คุณปู่โทนี่” ในวัย 74 ปี สามารถ “พลิกเกม” จนทำให้พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมี “ราคา” ที่คุ้มค่าต่อการจ่าย?
อนาคตของรัฐบาลผสมหรือรัฐบาลสลายขั้ว ภายใต้การนำของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ซึ่งนักวิเคราะห์แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางในสิงคโปร์ให้ความเห็นว่า เขาเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นสูงในกรุงเทพฯ (จุดแข็ง) แต่ไม่ได้รับแรงสนับสนุนมากนักในพื้นที่ต่างจังหวัด ในทางการเมืองอาจเป็นจุดอ่อน
อย่างไรก็ตาม ภาพของเศรษฐาสอดคล้องกับคำพูดที่ว่า “คนไทยชอบเศรษฐี” ขณะที่ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ มองว่าเขาอาจเป็นผู้ที่เข้ามาจัดการเศรษฐกิจของประเทศได้
คณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐา 1 ซึ่งผู้เขียนอยากจะเรียกว่า “ครม.ช็อกมินต์” หน้าตาค่อนไปในทางขี้เหร่ผิดฝาผิดตัว ไม่น่าจะกู้ศรัทธาที่เสื่อมไปให้คืนกลับมาในเร็ววัน
ดังนั้น นายกฯ เศรษฐาคงจะต้องอาศัย “ความรู้” และ “ประสบการณ์” บริหารงานในภาคธุรกิจมาช่วยขับเคลื่อนนโยบายที่สัญญากับประชาชนให้ “แสนสำเร็จ”