ขวางยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ3จชต. วัดใจ‘เพื่อไทย’ สานฝัน ‘ประชาชาติ’
จับตา! ประชุม ครม. 16 ต.ค. จะพิจารณาต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 3 จชต.ไปอีก 3 เดือน ตามข้อเสนอของ กบฉ. หรือ 1 เดือนเช่นเดียวกับครั้งที่ผ่านมา
เริ่มเห็นสัญญาณความไม่สบายใจของผู้ปฏิบัติงาน ต่อแนวทางแก้ไขปัญหา “รัฐบาลเพื่อไทย” ต่อพื้นที่เปราะบาง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลัง นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ให้เวลา 1 เดือน ยืดอายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่จะครบกำหนดวันที่ 20 ต.ค.นี้
ซึ่งมีพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง “พรรคประชาชาติ” หัวเรือใหญ่ขับเคลื่อนหวังปักหมุด 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปลอดกฎหมายพิเศษ ด้วยข้ออ้างเป็นเงื่อนไขสร้างความขัดแย้ง ตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด หลังกวาดเก้าอี้ ส.ส.ในพื้นที่ 7 ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2 ที่นั่ง
โดยมีแนวร่วมในพื้นที่สนับสนุน ผ่านสภาเครือข่ายปัญญาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ สคป.จชต (Interllectual Network Council Southern Border Province หรือ INC) มี “อาหะหมัด เบนโน” วิชาการ ประธาน INC “นัจมุดดีน อูมา” อดีต ส.ส.นราธิวาส ประธานที่ปรึกษา INC รวมทั้ง สุดิน เจ๊ะเด็ง สุดิน มะแซ
ร่วมกันออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการต่ออายุการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมาบังคับใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายใน พ.ศ.2551 หวังผลักดัน พ.ร.บ.สันติภาพ ในอนาคตสนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติภาพ
ส่วนแนวต้าน เครือข่ายไทยพุทธในพื้นที่จังหวัดยะลา ประกอบด้วย เครือข่ายไทยพุทธบ้านสันติ 1-2 เครือข่ายไทยพุทธบ้านจุฬาภรณ์ 7 เครือข่ายไทยพุทธตำบลหน้าถ้ำ กลุ่มชาวไทยพุทธคนรักในหลวงจังหวัดยะลา นำโดย ร.ต.อ.หิรัญย์เศรษฐ แสงเทียน
ยื่นหนังสือถึง “ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม หัวหน้าพรรคประชาชาติ ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ต้องการให้คง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเหตุการณ์ยังไม่สงบ และคนไทยพุทธ คือเหยื่อที่ถูกกระทำจากผู้ก่อเหตุรุนแรงพร้อมยกสโลแกน
“การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถ้าเป็นคนดีไม่เดือดร้อน คนที่เดือดร้อน คือ ผู้ก่อเหตุที่กระทำความรุนแรง”
ขณะเดียวกันมีการเผยแพร่บทความคัดค้านการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่อนโซเชียลมีเดีย โดยแจกแจงให้เห็นข้อดี-ข้อเสีย พร้อมเรียกร้อง ส.ส.พรรคการเมือง ที่มีนโยบายดังกล่าวแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกและยุบพรรค หากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วเป็นต้นเหตุไฟใต้ลุกอีกระลอก
ด้าน กองทัพ ไม่ได้นิ่งนอนใจ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์หลายรอบ หลังได้รับสัญญาณจากทหารผู้ปฏิบัติงานไม่เห็นด้วยหาก 3 จชต.จะปลอด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมด
โดยยกเหตุผลเรื่องอำนาจคุมตัวผู้ก่อเหตุเพื่อนำตัวมาสอบสวนผลัดละ 28 วัน เพราะการก่อเหตุในพื้นที่ จชต. เป็นไปในลักษณะ ขบวนการที่ต้องใช้เวลาขยายผล อีกทั้งคดีความมั่นคงในพื้นที่ จชต. แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ในขณะที่ด่านตรวจ ด่านสกัด ต้องรื้อออกทั้งหมด
ขณะที่ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แม้ยังคงให้อำนาจคุมตัว 7 วัน และสามารถขยายระยะเวลาการควบคุมตัวเป็นผลัดๆได้ แต่ต้องมีการ แก้ไขให้สอดรับสถานการณ์ ซึ่งต้องผ่านกลไกของสภา เพราะเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ต้องใช้เวลาพอสมควรปรับแก้
กอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้า พยายามบาลานซ์ ความเห็นต่างคนในพื้นที่ด้วยการทำข้อมูลนำเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ถึงสถิติการก่อเหตุ การลดพื้นที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมถึงข้อดีข้อเสียของการคงกฎหมายฉบับดังกล่าว จนเข้าสู่การพิจารณา “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม
“ในพื้นที่มีความเห็นแตกต่างหลากหลาย แต่ผู้ตัดสินใจคือรัฐบาล เพราะกระทรวงกลาโหมเป็นฝ่ายปฏิบัติ ซึ่งตามความเห็นของฝ่ายปฏิบัติ รัฐบาลตัดสินอย่างไร ก็พร้อมปฏิบัติตามนั้น แต่ทางฝ่ายปฏิบัติเห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องคงไว้ และเชื่อว่าพรรคประชาชาติจะเข้าใจ” สุทิน กล่าว
ก่อนจะเป็นที่มาประชุมกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ กบฉ. มี “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รองนายกฯ เป็นประธาน เห็นชอบต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 3 จชต.ไปอีก 3 เดือน พร้อมยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเพิ่มเติม อ.กรงปีนัง จ.ยะลา อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส แต่บังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯใน อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส เพิ่มอีก 1 อำเภอ เพราะสถิติการเกิดเหตุเพิ่มสูง
ดังนั้นในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 16 ต.ค. นี้ มี “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯ เป็นประธาน จะเห็นตามข้อเสนอของ กบฉ.ยืดอายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 3 จชต.ไปอีก 3 เดือน หรือไฟเขียวเพียง 1 เดือนเช่นเดียวกับครั้งที่ผ่านมา
รวมถึงท่าที พรรคประชาชาติ และ กลุ่มสนับสนุนในพื้นที่ 3 จตช.จะพอใจกับวิธีแก้ปัญหาของทหาร โดยใช้วิธีพบกันครึ่งทาง ยกเลิกบางพื้นที่ คงไว้ในส่วนที่จำเป็นหรือไม่คงต้องชี้วัดกันในอนาคต
ทั้งนี้ 3 จชต.มีเขตปกครองระดับอำเภอทั้งสิ้น 33 อำเภอ แบ่งเป็น จ.ปัตตานี 12 อำเภอ จ.นราธิวาส 13 อำเภอ และ จ.ยะลา 8 อำเภอ ที่ผ่านมายกเลิกการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯมาใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ไปแล้ว 11 อำเภอ ประกอบด้วย
จ.นราธิวาส 4 อำเภอ ได้แก่ อ.ศรีสาคร อ.สุไหงโก-ลก อ.แว้ง อ.สุคิริน จ.ปัตตานี 5 อำเภอ ได้แก่ อ.ยะหริ่ง อ.มายอ อ.ไม้แก่น อ.กะพ้อ อ.แม่ลาน จ.ยะลา 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เบตง และ อ.กาบัง
และหาก ครม.เห็นชอบตามที่ กบฉ. เสนอ 16 ต.ค.นี้ จะเหลือพื้นที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 20 อำเภอ ยกเลิก 13 อำเภอ
จ.นราธิวาส 4 อำเภอ ได้แก่ อ.สุไหงโก-ลก อ.แว้ง อ.สุคิริน อ.ยี่งอ (อ.ศรีสาคร กลับไปใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ)
จ.ปัตตานี 6 อำเภอ ได้แก่ อ.ยะหริ่ง อ.มายอ อ.ไม้แก่น อ.กะพ้อ อ.แม่ลาน อ.ทุ่งยางแดง จ.ยะลา 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เบตง อ.กาบังอ.กรงปีนัง