'เศรษฐา-บิ๊กตู่'คอนเนกชัน 2 นายกฯ 'อิสราเอล-ซูดาน' หนังคนละม้วน?
"รัฐบาลไทย" ระดมสรรพกำลังเร่งอพยพคนไทยในอิสราเอล แน่นอนว่าทุกการดำเนินการจะราบรื่นหรือสดุด คอนเนกชันส่วนตัว และความสัมพันธ์ที่ดีกับมิตรประเทศมีผลทั้งสิ้น
ปฐมบทดราม่า การอพยพคนไทยจากภัยสู้รบในอิสราเอล เริ่มขึ้นหลังเครื่องบินแอร์บัส 340 ของกองทัพอากาศ เที่ยวบินแรกออกจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง
เวลา 00.05 น.วันที่ 15 ต.ค. บินไปรับคนไทย 137 คน ที่สนามบินนานาชาติเบนกูเรียน ในอิสราเอล
ไม่สามารถบินทางตรงซึ่งใช้เวลาบินประมาณ 8-9 ชม. ผ่าน เมียนมา อินเดีย โอมาน ยูเออี กาตาร์ บาเรน ซาอุดิอาราเบีย จอร์แดน อิสราเอล เนื่องจาก ซาอุดิอาราเบีย ไม่ให้บินผ่านน่านฟ้า
จึงต้องเปลี่ยนมาบินอ้อมโดยใช้เวลาบินประมาณ 13 ชม. ผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐประชาชนจีน คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน อาเซอร์ไบจาน อาร์มิเนีย ตุรกี ไซปรัส และอิสราเอล
ส่วนเที่ยวบินที่ 2 แอร์บัส 340 บินออกจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง กทม. ในเวลา 09.00 น. เมื่อวันที่ 18 ต.ค. รับคนไทยในอิสราเอล จำนวน 145 คน ต้องบินอ้อมตามเส้นทางเดิมเช่นเดียวกัน
ทัวร์ลง "เศรษฐา ทวีสิน" นายกฯและรมว.คลังเข้าอย่างจังว่าเพราะปากไวออกประณามการโจมตีอิสราเอลเป็นเหตุ พร้อมยกกรณีอพยพ215คนไทยจากภัยสู้รบในซูดานเมื่อต้นปี 2566 ยุครัฐบาล "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาเปรียบเทียบ
โดยซาอุดิอาระเบีย ไฟเขียวให้ เครื่องบินกองทัพอากาศไทย ประกอบด้วย C-130 จำนวน 2 ลำ และ แอร์บัส 340 จำนวน 1 ลำ ลงจอดท่าอากาศยานนานาชาติ คิง อับดุลาซิซ เมืองเจดดาห์ ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย โดยการประสานกระทรวงต่างประเทศของไทยกับกับกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบียประจำมณฑลมักกะห์อัลมุกัรเราะมะห์
พร้อมอำนวยความสะดวกให้เรือที่ไทยเช่าจำนวน 1 ลำไปรับคนไทย เดินทางไปพร้อมกับเรือรบ 2 ลำ เครื่องบินรบ 1 ลำของซาอุดิอาระเบียที่จะเดินทางไปอพยพคนของตัวเองจากซูดานกลับมาเช่นกัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นผลพวงจาก รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไปรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบียสำเร็จปี 2565 หลังทิ้งห่างมา32ปี ผ่านคำบอกเล่า "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" รมว.พลังงาน และ หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ
"ในระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ ไปปฏิบัติราชการต่างประเทศ ที่ญี่ปุ่น เป็นจังหวะเดียวกันที่ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เดินทางมาด้วย
โดยทั้งสองพบกันโดยบังเอิญ และเหมือนถูกชะตากัน ต่างฝ่ายต่างมองกันและกัน แต่ไม่ทราบว่าแต่ละฝ่ายเป็นใคร จึงให้คนของตัวเองไปสอบถาม จนทราบและเป็นจุดเริ่มต้นรื้อฟื้นความสัมพันธ์"
ภารกิจอพยพคนไทยจากซูดานบรรลุความสำเร็จภายใน 1 สัปดาห์ เป็นที่มาเว็ปไซต์กระทรวงการต่างประเทศ เผยแพร่คำแถลงการณ์สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ เมื่อ 3 พ.ค.2566 ระบุว่า
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ มีความยินดีและภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมประเทศไทยทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนจากกรุงเทพฯ กรุงไคโร กรุงคาร์ทูม และกรุงริยาด ในการอพยพคนไทย 215 คน ออกจากพื้นที่สงครามกลางเมืองในซูดานมายังเมืองเจดดาห์และเดินทางออกจากเมืองเจดดาห์อย่างปลอดภัย
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ร่วมสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของทีมประเทศไทยในหลายส่วน อาทิ การเตรียมบริการภาคพื้นดิน (ground handling) เพื่อรองรับอากาศยาน Airbus A340-500 และ C-130 ของกองทัพอากาศ การจัดหารถรับส่ง ที่พัก และอาหารในเมืองเจดดาห์สำหรับลูกเรือ และเจ้าหน้าที่อำนวยการกว่าร้อยชีวิตที่ร่วมเดินทางมาปฏิบัติภารกิจ
การจัดหาอาหารและถุงยังชีพให้แก่ผู้อพยพ การออกเอกสารเดินทางฉุกเฉิน การอำนวยความสะดวกที่ฐานทัพอากาศกษัตริย์อับดุลลาห์ ฐานทัพเรือกษัตริย์ไฟซาล ท่าเรืออิสลามเจดดาห์ และโรงแรมที่พักของผู้อพยพ การประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบียประจำมณฑลมักกะห์อัลมุกัรเราะมะห์ และการจัดหาที่พักให้แก่ผู้อพยพที่ตกค้างชุดท้าย
ในโอกาสนี้ สถานกงสุลใหญ่ฯ ขอขอบคุณทีมประเทศไทยทุกภาคส่วน ที่ร่วมกันปฏิบัติภารกิจจนสำเร็จลุล่วงอย่างงดงาม โดยสถานกงสุลใหญ่ฯ มีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด ผู้พิทักษ์มหามัสยิดอันศักดิ์สิทธิ์ทั้งสอง และเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราโชบายให้การช่วยเหลือการอพยพชาวต่างชาติรวมทั้งชาวไทยออกจากซูดาน ทั้งการเดินทางทางเรือและทางอากาศมายังเมืองเจดดาห์ ซึ่งเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จในภารกิจที่สำคัญครั้งนี้
สำหรับภารกิจการอพยพคนไทยในซูดานกับอิสราเอล มีข้อแตกต่าง เพราะในซูดานเป็นความขัดแย้งระหว่างผู้นำแย่งชิงอำนาจกันเอง ซึ่งมีคนไทยอาศัยอยู่ไม่มาก และมีกงสุล ซึ่งเป็นชาวซูดานช่วยอพยพคนไทยมาขึ้นเรือ ไร้ผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และถูกจับเป็นตัวประกัน
ส่วนที่อิสราเอล การสู้รบมีประเด็นประวัติศาสตร์ ชาติพันธ์ ซึ่งมีความละเอียดอ่อนเข้ามาเกี่ยวข้อง และมีคนไทยไปทำงานหลายหมื่นคน ยอดปัจจุบันมีผู้เสียชีวิต 30 คน บาดเจ็บ 16 คน ถูกจับเป็นตัวประกัน 17 ราย มีผู้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์กลับไทยทะลุ 8,000 คน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง
โดยวันที่ 20-21 ต.ค.นี้ "เศรษฐา" ยกคณะเดินทางไปยังกรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (ASEAN-GCC Summit) ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 16 – 21 ตุลาคม 2566
"มีผู้นำหลายคนไป ผมจะใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัว และอาศัยการทูต ทั้งช่องทางที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการขอความช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล ในโอกาสที่จะพบผู้นำหลายประเทศ จะพูดคุยกันในเรื่องนี้ และเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้นำประเทศทุกคนให้ความสำคัญ และเป็นห่วงเป็นใยจริงๆ อยากให้ทุกอย่างจบได้ด้วยดี
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตุว่า ด้านการทูตไทยด้อยหรือไม่ หลังเครื่องบินกองทัพอากาศต้องบินอ้อมไปรับคนไทยที่อิสราเอล ไม่สามารถบินตรงผ่านซาอุฯได้ ขณะที่เกาหลีใต้บินตรงได้นั้น ผมมองว่าไม่น่าใช่ และตรงนี้ยังไม่ได้รับข้อมูลมา สำหรับการไปเยือนครั้งนี้ คิดว่าคงต้องคุย โดยผมจะได้เจอ เจ้าชายMBS มกุฎราชกุมารซาอุดิอาระเบีย คงได้เจรจากันหลายเรื่อง" นายเศรษฐา ระบุ
ปัจจุบัน รัฐบาลไทย ระดมสรรพกำลังเร่งอพยพคนไทยในอิสราเอล ด้วยการเช่าเหมาลำเครื่องบินพาณิชย์ควบคู่กับการปฏิบัติการกองทัพอากาศไทย ซึ่งแน่นอนว่าทุกการดำเนินการจะราบรื่นหรือสดุด คอนเนกชั่นส่วนตัว และความสัมพันธ์ที่ดีกับมิตรประเทศล้วนมีผลทั้งสิ้น