‘นายกฯ’ เผย สงครามอิสราเอล ส่อลามระดับภูมิภาค จ่อประเมิน อพยพคนไทยเพิ่ม
"เศรษฐา" เผย หลังประชุม สมช. เผยปมขัดแย้ง "อิสราเอล - ฮามาส" ส่อขยายวงระดับภูมิภาค พัน "จอร์แดน - เลบานอน" เตรียมประเมินสถานการณ์ หลัง 10 ชาติ คุยคนของตัวเองให้อพยพ แจง พร้อมรับกลับแรงงานไทยผิดกฎหมาย
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ว่า เรื่องนี้ถกกันนานมีการแจ้งสถานการณ์เชิงลึก อะไรที่ตนพูดได้ก็จะพูด แต่คงมีหลายเรื่องที่เราต้องระมัดระวัง เพราะเป็นความละเอียดอ่อน เรื่องตัวประกันเป็นเรื่องสำคัญ
“สาระสำคัญคือ สงครามมีแนวโน้มจะขยายวงกว้าง ไม่ใช่ระหว่างผู้ขัดแย้งสองฝ่าย แต่ขยายวงกว้างไประดับภูมิภาค ซึ่งมีความเป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จอร์แดน และเลบานอน มีประมาณ 10 ประเทศ และตอนนี้เขาได้เข้าไปคุยกับประชาชนของเขาที่อยู่ใน 2 ประเทศนี้เรื่องการให้พิจารณาเรื่องการอพยพ เดี๋ยวทางเราจะไปประเมินกันอีกทีว่าจะต้องมีการแจ้งให้ทราบถึงประเด็นปัญหาที่จะลุกลามไปในระดับภูมิภาคที่มีความเป็นไปได้” นายกฯ กล่าว
นายเศรษฐา กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเหตุผลที่พอจะทราบข้อมูลมาว่าที่จะขยายวงไปเพราะเริ่มมีการทำสงครามไซเบอร์กับการใช้โดรนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เรื่องนี้จึงทำให้เรามีความเป็นห่วง อาจมีการขยายวงกว้างไปสู่ประเทศที่อยู่ใกล้เคียงด้วย สำหรับแรงงานไทยที่อยู่ในประเทศนั้นๆ ก็ต้องพิจารณาว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป
นายกฯ กล่าวว่า ส่วนที่อิสราเอลตอนนี้แรงงานไทยที่แจ้งเจตจำนงกลับมาก็จะหมดแล้ว เที่ยวบินวันนี้ว่างประมาณ 100 กว่าที่นั่ง ฉะนั้น ไม่อยากใช้คำว่าหมดภารกิจของทางรัฐบาล แต่เราต้องพูดคุยต่อเนื่องกับคนที่ยังอยู่ว่ามีความรุนแรงของสงครามที่จะขยายวงกว้างไปได้ ก็ต้องบอกมา หากอยากจะแจ้งเจตจำนงจะเดินทางกลับ แล้วตรงนี้ก็มีความซับซ้อนอีกด้วยว่ามีแรงงานที่เราไม่ทราบจำนวน โดยฝ่ายความมั่นคงแจ้งมาว่าน่าจะมีอีกจำนวนพอประมาณ ซึ่งไม่ได้แจ้งตอนที่ออกไป สรุปแล้วเป็นแรงงานที่ไปโดยไม่ถูกต้อง แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เรื่องใหญ่กว่าคือ เราต้องพยายามเสาะหาให้ได้ว่าคนเหล่านี้อยู่ที่ไหน และแจ้งตรงไปให้ทราบถึงความรุนแรงของสถานการณ์ เพื่อให้เขาตัดสินใจที่จะกลับมาได้ แม้จะไปอย่างไม่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เรายินดีรับกลับมาได้ ส่วนแรงงานที่ยังไม่ตัดสินใจจะกลับ เราต้องการให้แน่ใจว่าการสื่อสารที่ได้สื่อสารออกไปไม่ผ่านบุคคลที่สอง ซึ่งรัฐบาลจะสื่อสารตรงไปเองว่าความรุนแรงของสถานการณ์เป็นอย่างไร อย่างน้อยพี่น้องประชาชนที่อยู่ที่นั่นจะได้ทราบถึงความรุนแรงของสถานการณ์เองจากรัฐบาล ดังนั้น เดี๋ยวจะมีการคุยกับกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงแรงงานเพื่อหารายชื่อ หากมีช่องทางที่จะติดต่อได้ทางโทรศัพท์ก็จะติดต่อไป และส่งข้อความไปแจ้งว่าสถานการณ์รุนแรงขนาดไหน อย่างไร
นายกฯ กล่าวว่า ส่วนเรื่องของตัวประกันก็ยังทำงานกันอย่างเต็มที่ ซึ่งตนจะพบปะพูดคุยกับนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ ที่เพิ่งบินกลับมา และวันเดียวกันนี้ได้พบกับผู้บัญชาการทหารสูงสุดในที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติก็ได้ข้อมูลมา ตอนนี้ทุกๆ ฝ่ายช่วยอย่างเต็มที่ แต่เรื่องของการให้ข่าว และเรื่องที่หลายๆ ฝ่ายช่วยเหลือกันตนได้ขอร้องไปทุกๆ หน่วยงานว่าหากต่างคนต่างทำก็ให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลกันให้ดี จะได้ไม่มีความสับสน ซึ่งแนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่ต้องคอยก่อนว่าจะมีข่าวดีจริงๆ เมื่อไหร่ เราเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเขาจะตัดสินใจอย่างไร และเรื่องการอพยพก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ความปลอดภัยของประชาชนเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญสูงสุด
ผู้สื่อข่าวถามว่า จากสถานการณ์การสู้รบที่ส่อจะขยายวงกว้างไปในระดับภูมิภาค รัฐบาลได้เตรียมรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดอย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า อันนี้ได้มีการพูดคุยกันในวงรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงทางด้านพลังงาน ได้มีการพูดคุยกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน และในเร็วๆ วันนี้ ท่านจะมีการเสนอมาตรการด้านความมั่นคงทางพลังงานมา หากมีปัญหาเกิดขึ้นจริงอย่างที่ตนเรียนว่าหากสงครามขยายวงกว้างก็จะมีผลกระทบต่อไป ซึ่งข้อดีของแนวโน้มของประเทศที่สงครามจะขยายวงกว้างไปคือ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับเรามีน้อย แต่ก็ต้องระมัดระวัง เหนือสิ่งอื่นใด ที่สำคัญคือ ความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนที่อยู่ในประเทศที่มีแนวโน้มว่าความรุนแรงจะขยายตัวไปจุดนั้น ส่วนเรื่องการอพยพแรงงานไทยนั้น จะมีการพูดคุยกันในวันเดียวกันนี้ เพราะรับทราบว่าสถานการณ์จะขยายวงกว้าง จึงต้องมีการคิดแผนออกมา ตอนนี้ได้มีการเริ่มแจ้งเตือนไปแล้ว ซึ่งเราก็ต้องพร้อมอย่างเต็มที่
เมื่อถามถึงกรณี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะบินไปรับตัวประกัน ได้รับรายงานหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ขออนุญาตไม่พูดในที่นี้ดีกว่า เข้าใจว่าทุกท่านมีความหวังดีและปรารถนาดี
เมื่อถามว่า จากการที่ได้คุยกับ นายกฯ อิสราเอล ซึ่งนายกฯ ระบุว่าพร้อมรับทุกเงื่อนไขเพื่อให้ปล่อยตัวประกัน มีสัญญาณอะไรมาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตนได้บอกไปว่าหากต้องการความช่วยเหลืออะไร ตรงนี้เราเต็มที่ เอาชีวิตของพี่น้องประชาชนกลับมาให้ได้ก่อนแล้วกัน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์