แรงเขย่า 'ก้าวไกล' สะเทือนบท 'ฝ่ายค้าน'?
ไม่ว่าเหตุผลที่ "ก้าวไกล" ใช้ขับ 2สส. พ้นพรรคจะเป็นอย่างไร สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ชนวนที่ สังคม ตั้งคำถามถึงบทบาท "ฝ่ายตรวจสอบ" ว่าจะทำงานตรงไปตรงมา และเป็นอย่างมาตรฐานสูงที่ พรรคตั้งไว้หรือไม่
มรสุมภายใน “พรรคก้าวไกล” ทำให้สังคมจับตาถึงบทบาท “ฝ่ายค้านในสภาฯ” ในฉากทัศน์ต่อไปว่า จะได้รับความเชื่อถือมากเพียงพอในบทบาท “ตรวจสอบรัฐบาล” หรือไม่
เนื่องจาก ในกรณีที่เกิดขึ้นอย่างแจ่มชัด คือ “2 สส.” ทั้ง “แจ้” วุฒิพงศ์ ทองเหลา สส.ปราจีนบุรี ที่ถูกขับออกพรรค จากปมแชทสยิว กับทีมงานสาว ทว่า เนื้อในแล้วพบว่ามีประเด็นที่ถูกจับโยงไปถึง “ผู้ช่วย สส.” ของ “เบญจา แสงจันทร์” แม่ทัพหญิงภาคตะวันออกของ ก้าวไกล ต่อการเรียกรับประโยชน์จาก “นายทุนบ่อขยะ” อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี
และยิ่ง “ชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์เมื่อ 7 พ.ย.ว่า “เบญจา” ถอด “ผู้ช่วย ส.” ออกจากตำแหน่งแล้ว เท่ากับเป็นสิ่งที่ชี้ชัดว่า ต้องการตัดวงจรองค์กรภายนอกที่จะไปล้วง หรือตรวจสอบสาวไปถึง “คนของพรรค” ตามที่สภาฯ ได้วางมาตรฐานจริยธรรมไว้ในระเบียบที่กำกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งรวมถึงผู้ปฏิบัติงานของ สส.ด้วย
หรือ กรณี “ปูอัด” ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส.กทม. ที่ต้องใช้มติพรรคตัดสินถึง 2 รอบ ก่อนจะถอดจากสถานะ “สมาชิกพรรค” เนื่องจากไม่อาจทนแรงกดดันจากสังคม ในประเด็น “ละเมิดทางเพศ” ทีมงานสาว ที่ผลลงมติรอบแรก นั้น ย้อนแย้งกับคุณค่าและอุดมการณ์ของพรรคก้าวไกลอย่างสิ้นเชิง
อีกทั้งในกรณีของ “ไชยามพวาน” ที่ไม่ถูกขับพ้นพรรคตั้งแต่รอบแรก สะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานของพรรคก้าวไกล ที่ถูกมองว่าใครเป็นพวก มากกว่าความผิดชอบชั่วดี
แน่นอนว่า ทั้ง 2 กรณีที่เกิดขึ้น ทำให้ภาพลักษณ์ของ “ก้าวไกล” ที่สังคมคาดหวังนั้น ลดระดับลงจากมาตรฐานสูงที่แกนนำพรรคปั้นภาพเอาไว้ตั้งแต่ต้น
เชื่อมโยงกับความคาดหวังบนค่ามาตรฐาน ในฐานะ “ฝ่ายค้าน” ที่ “ก้าวไกล” ต้องรับบทนำหลังจากนี้
แม้ความชัดเจนต่อการฟอร์มทีม “ฝ่ายค้านในสภาฯ” จะต้องรอจนกว่า “ชัยธวัช” จะรับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ อย่างเป็นทางการ แม้ก่อนหน้านี้จะนัดประชุมไปแล้ว 1 ครั้ง แต่การวางทิศทางยังไม่ชัดเจน
ด้วยเสียงสมาชิก “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ที่ในทางพฤตินัย มี 183 เสียงจาก 7 พรรคการเมือง ขณะที่ฝั่งรัฐบาลมีมากกว่าถึง 314 เสียง ทำให้สมรภูมิการเมืองในสภาฯ มีทางปฏิบัติที่สอดรับกับงานเชิงยุทธศาสตร์ไม่มากนัก
ขณะเดียวกัน เมื่อ “ก้าวไกล” เผชิญปัญหาศรัทธา ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า จะกลายเป็นปมที่ถูกฝ่ายตรงข้าม “ตัดตอน” หรือขุดเรื่องฉาวขึ้นมาเป็นปมฉุดรั้งการทำงานในฐานะฝ่ายค้าน ที่ต้องทำงานอย่างตรงไปตรงมา ไม่เห็นแก่ประโยชน์ของพรรคพวก หรือกลุ่มใด ได้จริงหรือไม่
ต่อเรื่องนี้ “ชัยชนะ เดชเดโช” สส.นครศรีธรรมราช และรักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะแกนนำเบอร์ 2 ของพรรคร่วมฝ่ายค้านมองว่า การทำงานในสภาฯ และการทำงานของพรรคก้าวไกล รวมถึงการทำงานฐานะฝ่ายค้านต้องแยกกัน เพราะเรื่องภายในพรรคก้าวไกลเป็นเรื่องของพรรค ไม่เกี่ยวกับการทำงานในสภาฯ
ขณะเดียวกัน การทำงานในสภาฯ เชื่อว่าจะทำงานร่วมกันได้ แม้ว่าสภาสมัยก่อนหน้านั้น พรรคประชาธิปัตย์และพรรคก้าวไกลจะยืนคนละฝั่ง แต่สภาสมัยปัจจุบันเราไม่นำอดีตมาพูดถึงกัน
“พรรคร่วมฝ่ายค้านนัดประชุมทุกวันอังคาร ซึ่งขณะนี้ต้องรอการโปรดเกล้าฯ ชัยธวัชเป็นผู้นำฝ่ายค้านก่อน จากนั้นต้องหารือร่วมกันอีกครั้ง เบื้องต้นงานที่ต้องทำร่วมกันคือ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และงานต่อไป คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ” ชัยชนะ ระบุ
แน่นอนว่า ลำพังเสียงที่ต่างกันระหว่าง “ฝ่ายค้าน” กับ “ฝ่ายรัฐบาล” การวางเป้าเพื่อล้มรัฐบาลเพื่อไทย ไม่ใช่งานง่าย และอาจเกิดขึ้นไม่ได้เลย
ขณะที่ ฝ่ายนักวิชาการ “สติธร ธนานิธิโชติ" ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า มองในประเด็นผลที่อาจกระทบต่อการทำงาน ในฐานะแม่ทัพฝ่ายค้านของ “ก้าวไกล” ว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นอาจมีผลกระทบกับกลุ่มบุคคลที่ตั้งความหวังไว้สูงกับพรรค แต่ระยะที่ผ่านมาพบว่าก้าวไกลตอบสนอง และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ แม้บางช่วงอาจต้องลองใช้หลายวิธี เพื่อดูกระแสสังคมที่เกิดขึ้น ทั้งการขับออกโดยทันที หรือใช้การกดดันให้ลาออก ถือเป็นการหาวิธีจัดการปัญหาที่เหมาะสมกับการยืนระยะยาวของพรรคการเมือง ที่จะก้าวเป็นสถาบันทางการเมือง
“ประเด็นที่เกิดกับพรรคอาจมีผลกระทบต่อการทำงานฐานะฝ่ายค้านบ้าง แต่ไม่มากนัก เพราะการทำงานตรวจสอบนั้น เขาวัดฝีมือในสภาฯ ดังนั้น หากก้าวไกลโฟกัสกับการทำงานตรวจสอบรัฐบาล ผลักดันกฎหมายก้าวหน้า เชื่อว่าก้าวไกลจะยืนระยะอยู่ได้"
"ขณะที่ เรื่องที่มากระทบพรรค หรือแกนนำของพรรค คือบทพิสูจน์ว่าพรรคจะจัดการอย่างมีมาตรฐานอย่างไร ซึ่งอาจเป็นต้นแบบของมาตรฐานการเมืองรูปแบบใหม่ ซึ่งไม่ใช่การทำงานตามกระแส ที่พอถูกกดดันมากๆ ก็กลับลำ เพราะจะถูกมองว่าไม่มีจุดยืนได้” ดร.สติธร ระบุ
โมงยามของ “ก้าวไกล” ตอนนี้เชื่อว่ายังต้องเผชิญกับแรงเสียดทานอีกหลายยก ซึ่ง “ดร.สติธร” มองในเชิงการเมืองว่า ต้องรักษาจุดยืนและความคาดหวังของกลุ่มหัวก้าวหน้า หรือมีความคิดเสรีไว้ เพราะในอนาคต หากมีกลุ่มที่ผุดขึ้นมาเป็นตัวแทน และกลายเป็นผู้นำ หรือ กลายเป็นทางเลือกใหม่ อาจทำให้ก้าวไกลหายไป และไม่ใช่พรรคที่นำไปสู่การเปลี่ยนกระแสอีกต่อไป
ทว่า มรสุมของ “ก้าวไกล” ที่ประเดิมด้วยเรื่องคุกคาม หรือละเมิดทางเพศ ต้องจับตาว่าจะถูกโยงใย หรือสาวไปถึงประเด็นที่เป็นมากกว่าเรื่อง “เฉพาะบุคคล” หรือไม่
ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า “ฝ่ายตรงข้าม”ก็เตรียมใช้กลไกของสภาฯ และองค์กรอิสระจ้องเล่นงานอยู่ไม่ใช่น้อย.