ศาลปกครอง ยันดำเนินการทุกสำนวนเสร็จสิ้น คดีวางท่อก๊าซในทะเล
ศาลปกครองออกโรงแจงชัด! สวนกลับ ‘รสนา’ ปมใช้เวลา 16 ปียังไม่ตัดสินท่อก๊าซในทะเล ยันดำเนินการเสร็จสิ้นทุกสำนวนหมดแล้ว
เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2566 สำนักงานศาลปกครอง เผยแพร่ข่าวชี้แจงกรณีมีการกล่าวอ้างว่าศาลปกครองสูงสุดใช้เวลา 16 ปีแล้วยังไม่ตัดสินท่อก๊าซในทะเลเป็นสมบัติชาติหรือ ปตท. โดยระบุว่า ตามที่ได้มีการกล่าวอ้างใน Facebook รสนา โตสิตระกูล ต่อสาธารณะและผ่านทางสื่อสารมวลชน เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 พอสรุปความได้ว่า เมื่อ 6 ปีที่แล้ว หลังจากส่งหนังสือถึงนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้ว ผู้ฟ้องคดีกรณี ปตท.ได้สอบถามไปยังศาลปกครองสูงสุด ถึงกรณีการหมดอายุความการทวงคืนเรื่องท่อก๊าซภายในกำหนด 10 ปี คือ ภายในวันที่ 13 ธันวาคม 2560 ต่อมาได้รับคำตอบจากศาลปกครองสูงสุด ว่า “สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่มีอายุความ” จากวันนั้นถึงวันนี้ ผ่านมาแล้ว 6 ปี ศาลปกครองสูงสุดยังไม่ตัดสินว่า ท่อก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติหรือเป็นสมบัติของ ปตท. ถ้าท่อก๊าซเป็นสาธารณสมบัติที่ไม่มีอายุความ แต่อาจจะถูกเอกชนเอาไปใช้ จนหมดอายุท่อก๊าซไปเสียก่อนหรือไม่ กรณีทวงท่อก๊าซสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รวมเวลาแล้ว 16 ปี คดีนี้ยังไม่มีคำตัดสิน ประชาชนสงสัยว่า การตัดสินมีอะไรยากมากจนต้องใช้เวลายาวนานขนาดนี้เชียวหรือ นั้น
สำนักงานศาลปกครอง ขอเรียนชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวคดีมีที่มาจากการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ 1 นางสาวรสนา โตสิตระกูล ที่ 2 นางสาวสายรุ้ง ทองปลอน ที่ 3 นางภินันทน์ โชติรสเศรณี ที่ 4 และนางสาวบุญยืน ศิริธรรม ที่ 5 (ผู้ฟ้องคดี) ได้ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี ที่ 1 นายกรัฐมนตรี ที่ 2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ 3 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ 4 (ผู้ถูกฟ้องคดี) ต่อศาลปกครองสูงสุด และมีกระทรวงการคลัง เป็นผู้ร้องสอด โดยมีคำขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ ประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2544 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2544 โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษา (คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550) ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงานพ.ศ. 2550 ส่วนคำขอตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าที่ขอให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2544 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2544 นั้น ให้ยก
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดต่อสำนักงานศาลปกครองเป็นระยะ ๆ และเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้ยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดว่าได้ดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดครบถ้วนแล้ว ตุลาการเจ้าของสำนวนเดิมมีคำสั่งคำร้องดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 3 มีนาคม 2552 ขอให้ศาลไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ต้องคืนกระทรวงการคลัง ศาลปกครองสูงสุดโดยตุลาการเจ้าของสำนวนเดิมมีคำสั่งคำร้องดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 ว่า คดีนี้ (คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550) ศาลพิพากษายกคำขอของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ไม่มีสิทธิบังคับคดีนี้ และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ยกคำร้อง
ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ผู้ฟ้องคดีที่ 2 และผู้ฟ้องคดีที่ 5 ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ขอให้เพิกถอนคำสั่งคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ที่ตุลาการเจ้าของสำนวนเดิมมีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 และขอให้ศาลมีคำสั่งคำร้องใหม่โดยพิจารณารายงานของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่ได้ตรวจสอบทรัพย์สินในคดีนี้อีกครั้งหนึ่ง ศาลปกครองสูงสุดโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 มีคำสั่งไม่รับคำร้องนี้ไว้พิจารณา เหตุเพราะผู้ฟ้องคดีทั้งห้าในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 ไม่ใช่คู่ความฝ่ายชนะคดี (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ที่จะมีสิทธิร้องขอให้มีการบังคับคดีตามคำพิพากษาได้ เพราะผู้ฟ้องคดีทั้งห้ามีคำขอท้ายฟ้องเพียงข้อเดียว คือ ขอให้ศาลเพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ ประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2544 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2544 ซึ่งศาลปกครองสูงสุดในคดีนั้นได้พิพากษายกคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งห้า นอกจากนี้ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ผู้ฟ้องคดีที่ 2 และผู้ฟ้องคดีที่ 5 เคยยื่นคำร้องลงวันที่ 3 มีนาคม 2552 ศาลปกครองสูงสุดในคดีนั้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา จึงไม่มีสิทธิบังคับคดีนี้ และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงให้ยกคำร้อง ดังนั้น การยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ในครั้งนี้จึงเป็นการขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือประเด็นข้อใดแห่งคดีที่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยแล้ว จึงเป็นกรณีต้องห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้นอีก ตามข้อ 96 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้ยื่นคำขอ ลงวันที่ 22 กันยายน 2560 กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ยื่นคำขอ ลงวันที่ 27 กันยายน 2560 ขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาและมีคำสั่งว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยให้แก่กระทรวงการคลังตามคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาในคดีนี้ (คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550) เป็นการปฏิบัติถูกต้องและครบถ้วนตามคำบังคับของศาลปกครองสูงสุดแล้วหรือไม่ อย่างไร ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่ง ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ไม่รับคำขอทั้งสองดังกล่าวไว้พิจารณา เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในประเด็นปัญหาว่ากรณีได้มีการดำเนินการตามคำบังคับหรือคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดถูกต้อง เป็นที่เรียบร้อยแล้วหรือไม่ นั้น ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาไปหลายครั้งแล้วว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวถูกต้องครบถ้วน และได้มีคำสั่งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้ว อีกทั้งคำขอทั้งสองดังกล่าวไม่ใช่คำขอของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ขอบังคับคดี หากแต่เป็นคำขอของผู้ถูกฟ้องคดีในเชิงลักษณะขอให้ศาลทบทวนคำสั่งที่ศาลได้มีคำสั่งเป็นที่สุดแล้ว
นอกจากนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ 800/2557 ในคดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับพวก รวม 1,455 คน ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ในคดีหมายเลขแดงที่ 2071/2555 ของศาลปกครองกลาง ที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าในคดีตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ ฟ. 35/2550 ละเลยต่อหน้าที่ไม่ดำเนินการแบ่งแยกและส่งคืนระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก จำนวน 8 โครงการ ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเล จำนวน 4 โครงการ และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเล แหล่งอาทิตย์ - โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ระยอง โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เนื่องจากผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าร่วมกันแบ่งแยกทรัพย์สินที่ ปตท. ต้องคืนแก่กระทรวงการคลังในคดีนี้ เป็นการขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือประเด็นข้อใดแห่งคดีที่ศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ฟ. 35/2550 ได้วินิจฉัยแล้ว จึงเป็นกรณีที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้นอีก
นอกจากนี้ การที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันภายในหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของคณะรัฐมนตรี มิใช่เป็นเหตุที่จะกล่าวอ้างว่าเป็นการดำเนินการที่ยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมาย เพราะเป็นกระบวนการที่กำหนดขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น
อนึ่ง ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ 361/2559 (ประชุมใหญ่) ในคดีที่พันโทหญิง กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี กับพวกรวม 21 คน ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาของของศาลปกครองกลาง (ศาลปกครองชั้นต้น) ที่ฟ้องว่าผู้ฟ้องคดีในฐานะประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากราคาก๊าซธรรมชาติและค่าไฟฟ้า ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้มีมติให้คณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำเนินกิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติและทำหน้าที่บริหารสินทรัพย์ที่ได้รับโอนมาจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยังมิได้ดำเนินการคืนท่อก๊าซและทรัพย์สินอื่น ๆ ให้ครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ ฟ. 35/2550 จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ศาลปกครองสูงสุดโดยมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีมีความประสงค์ขอให้คณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ. 35/2550 อันมีลักษณะเป็นการร้องขอให้มีการบังคับคดีตามคำพิพากษาดังกล่าว กรณีจึงเป็นการฟ้องคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ. 35/2550 ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้มีการสั่งคำร้องในส่วนของการบังคับคดีไปแล้วว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีในคดีนี้จึงไม่อาจนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีที่ศาลได้มีคำสั่งยุติการบังคับคดีไปแล้วได้อีก นอกจากนั้น สำหรับการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดหลักการหรือวิธีการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ. 35/2550 ไว้เช่นใดนั้น เป็นเรื่องขั้นตอนการดำเนินการภายในของหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าว ซึ่งหากหน่วยงานที่ได้รับประโยชน์จากคำพิพากษาเห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันภายในหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของคณะรัฐมนตรี เพราะเป็นกระบวนการที่กำหนดขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรี หรือหากเห็นว่าหน่วยงานใดละเลยมิได้ปฏิบัติ ก็อาจร้องต่อหัวหน้าหน่วยงานนั้นให้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นข้อพิพาทที่แยกต่างหากจากคดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่สั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
นอกจากนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง (ศาลปกครองชั้นต้น) ว่ากระทรวงการคลัง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และพวก รวม 11 คน ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ด้วยผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดไม่ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดให้ถูกต้องครบถ้วน โดยยังมิได้ดำเนินการคืนท่อก๊าซธรรมชาติและทรัพย์สินของแผ่นดินอื่น ๆ ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง (คดีหมายเลขแดงที่ 219/2564 คดีหมายเลขดำที่ 510/2559) ด้วยเหตุว่าคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ตามคำสั่งที่ 800/2557 และคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 361/2559 (ประชุมใหญ่) ดังกล่าวเป็นที่สุด ศาลปกครองกลางไม่อาจยกคำขอของผู้ฟ้องคดีขึ้นพิจารณาและมีคำสั่งว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 10 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและโอนทรัพย์สินของ ปตท. ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีในข้อหานี้ได้อีก ตามมาตรา 73 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 (คดีนี้ไม่มีการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น คดีจึงเป็นที่สุด)
จากข้อเท็จจริงข้างต้น คดีอันเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ ฟ. 35/2550 ที่กำหนดคำบังคับให้กระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รวมตลอดจนกรณีละเลยต่อหน้าที่ไม่ดำเนินการแบ่งแยกและส่งคืนระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก จำนวน 8 โครงการ ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเล จำนวน 4 โครงการ และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเล แหล่งอาทิตย์ - โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ระยอง นั้น ศาลปกครองได้พิจารณาพิพากษาเป็นที่เสร็จสิ้นแล้ว ดังนั้น ข้อความตาม Facebook รสนา โตสิตระกูล เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 จึงเป็นข้อความที่ไม่ถูกต้องกับข้อเท็จจริง