'นิกร' ส่งคำถามประชามติ ให้รัฐสภา เพื่อขอความเห็น สส.-สว. แล้ว
"โฆษกกก.ประชามติ"ลงนามส่งคำถามรับฟังความเห็น สส.-สว. ต่อการทำประชามติแก้รธน.แล้ว คาด 21 ธ.ค. รู้ผล ย้ำเป็นคำถามเชิงลึก หวังได้เสียง สว. เป็นแนวร่วมสนับสนุน
นายนิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ให้สัมภาษณ์ที่รัฐสภา ว่าตนได้ลงนามหนังสือถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ และนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เพื่อให้ส่งคำถามสำหรับการรับฟังความเห็นเบื้องต้นเกี่ยวกับแนวทางการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในส่วนที่จะขอความเห็นของ สส. 500 คน และ สว. 250 คน ให้พิจารณาหลังจากที่รัฐสภาเปิดสมัยประชุมวันที่ 12 ธ.ค. นี้ เบื้องต้นคาดว่าจะมีข้อสรุปในส่วนดังกล่าว ช่วงวันที่ 21 ธ.ค. นี้
นายนิกร กล่าด้วยว่าสำหรับคำถามที่ส่งไปยัง สส. และ สว. นั้นจะเป็นคำถามเชิงลึกมีมากกว่า 1 คำถาม อาทิ เห็นด้วยหรือไม่ต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่, เห็นควรทำประชามติก่อนการดำเนินการใดๆ หรือไม่ ซึ่งเป็นคำถามสำคัญและมีผลต่อการสนับสนุนของสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะ สว. ที่ต้องเห็นชอบด้วยเสียง 1 ใน 3 และคำถามของที่มาของ ส.ส.ร. ว่าจะเลือกตั้งทั้งหมด หรือเลือกตั้งผสมกับนักวิชาการ
“ในประเด็นการรับฟังความเห็นที่รวบรวมมาทั้งหมด จะเสนอให้กรรมการชุดใหญ่พิจารณาในปลายเดือนธ.ค.นี้ก่อนจะส่งให้ คณะรัฐมนตรีพิจารณาในการทำประชามติถามประชาชน เบื้องต้นอาจจะมีคำถามพ่วงในประเด็นของรูปแบบหรือที่มาของส.ส.ร.ด้วย”นายนิกร กล่าว
นายนิกร กล่าวด้วยว่าสำหรับข้อเสนอของการแก้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ตนได้ทำข้อเสนอไปยังคณะกรรมการชุดใหญ่ พร้อมกับร่างแก้ไข มาตรา 13 จากเดิมที่ใช้เกณฑ์เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ และเสียงที่มาลงคะแนน ตนได้เสนอให้ใช้เกณฑ์เกินกึ่งหนึ่งเพียงชั้นเดียว คือ เฉพาะผู้ออกมาใช้สิทธิที่ต้องออกมาเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ ส่วนผลการลงคะแนนให้ใช้เฉพาะเสียงข้างมาก อย่างไรก็ดีข้อสรุปเรื่องดังกล่าวต้องรอผลการศึกษาจากนายวุฒิสาร ตันไชย กรรมการประชามติอีกครั้ง
เมื่อถามถึงทิศทางการส่งตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้ ส.ส.ร.เป็นผู้ดำเนินการต่อศาลรัฐธรรมนูญ นายนิกร กล่าวว่า กรรมการฯ ไม่มีประเด็นดังกล่าว เนื่องจากมองว่าเป็นประเด็นที่พรรคการเมืองจะพิจารณาหลังจากที่ตัวร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว
นายนิกร กล่าวด้วยว่าสำหรับการรับฟังความคิดเห็นนั้น อนุกรรมการ จะเดินทางไปรับฟังความเห็นประชาชนและผู้นำศาสนาในพื้นที่ภาคใต้ และในวันที่ 11 ธ.ค. ตนและคณะกรรมมการฯ ประมาณ 10 คน จะเข้าพบทูตสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อพูดคุยถึงการทำประชามติ ซึ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดี และควรรับฟังเพราะการทำประชามติไม่ได้ใช้เฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญเท่านั้น ยังมีเรื่องอื่นๆ ด้วย.