'กก.ประชามติ' ปิดทางคำถามพ่วง ระบุ 'กกต.' อ้าง 'รธน.60' ไม่เปิดช่อง
"ยุทธพร" บอก "กกต." ปิดทาง ชง คำถามพ่วงประชามติแก้รธน. ระบุ รธน. 60 ไม่เปิดช่อง แย้มกก.ประชามติ ชงทุกแนวทางให้ "ครม." เคาะต้นปีหน้า คาดต้องแก้กม.ประชามติก่อน
นายยุทธพร อิสรชัย กรรมการเพื่อพิจาารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ให้สัมภาษณ์ต่อประเด็นที่พรรคก้าวไกลเสนอให้มีคำถามพ่วงเพื่อทำประชามติต่อการแก้รัฐธรรมนูญ จากเดิมที่มีคำถามหลักว่าเห็นชอบกับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือไม่ ว่า ประเด็นดังกล่าวคณะอนุกรรมการฯ เคยสอบถามไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าสามารถมีคำถามพ่วงในการถามประชามติได้หรือไม่ ซึ่ง กกต.ระบุว่าไม่สามารถทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไม่ได้เปิดช่องให้ทำได้ ซึ่งต่างจากครั้งที่ทำประชามติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่มีคำถามพ่วงต่อกรณีให้รัฐสภามีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2557 ที่สามารถกำหนดให้ทำได้ อย่างไรก็ดีประเด็นดังกล่าวจะสอบถามไปยังกกต. ฐานะกรรมการชุดใหญ่อีกครั้ง ถึงปัญหาและข้อจำกัด หรือต้องตั้งคำถามแบบใด
เมื่อถามว่าประเด็นที่เห็นต่าง เช่น ที่มาของส.ส.ร. หรือไม่แก้หมวด 1 และหมวด 2 จะมีทางที่เป็นข้อยุติอย่างไร นายยุทธพร กล่าวว่า สำหรับการไม่แก้หมวด 1 และ หมวด 2 ถือเป็นข้อยุติที่ชัดเจนแล้วว่าเป็นนโยบายของรัฐบาล ส่วนการมี ส.ส.ร. จากที่รับฟังความเห็นของประชาชน ตกผลึกและเห็นตรงกันว่าต้องมี ส.ส.ร. แต่ที่มาหรือองค์ประกอบขณะนี้ยังไม่ชัดเจน ทั้งนี้ล่าสุดทางคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่มีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธานกมธ. ได้ส่งความเห็นเพื่อเสนอรูปแบบของการได้มาซึ่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายังกรรมการฯ ซึ่งประกอบด้วย 3 รูปแบบ ทั้งนี้กรรมการฯ ได้รับไว้ แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะวางแนว หรือรูปแบบการได้มาซึ่ง ส.ส.ร.อย่างไร
“แนวทางของคำถามประชามตินั้น ยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งกรรมการศึกษาฯ จะนำเสนอผลการพิจารณาและทางเลือกต่างๆ ให้คณะรัฐมนตรี เป็นผู้ตัดสินใจ ทั้งในส่วนของคำถามประชามติ จำนวนการทำประชามติ และการแก้ไขกฎหมายประชามติ ในช่วงเดือนม.ค.- ก.พ. 67 นี้ และตามกระบวนการจัดทำประชามติตามกฎหมายจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพ.ค. 67” นายยุทธพรกล่าว
นายยุทธพร กล่าวด้วยว่าสำหรับการแก้ไขกฎหมายประชามติ นั้นขณะนี้ยังไม่มีการเสนอตัวร่างแก้ไขเนื้อหา แต่มีแนวทางที่เป็นเพียงการหารือ คือ จะเสนอแก้ไขเกณฑ์การใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น คือ ชั้นของผู้ออกมาใช้สิทธิต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และเสียงผ่านประชามติต้องได้เกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ เพราะหากไม่แก้ไขจะเป็นปัญหาที่ทำให้การแก้รัฐธรรมนูญไม่สำเร็จ เบื้องต้นยังไม่มีข้อสรุปว่าจะแก้ไขให้เป็นรูปแบบใด เพราะมีข้อเสนอหลากหลาย เช่น ยกเลิกหลักเกณฑ์ดังกล่าวทั้งหมด, ยกเลิกเกณฑ์เสียงเห็นชอบที่ต้องใช้เกิน 50% และมีข้อเสนอจากพรรคก้าวไกล ที่เสนอให้ใช้เกณฑ์ 25% เฉพาะเสียงเห็นชอบเรื่องที่ทำประชามติ อย่างไรก็ดีการแก้ไขกฎหมายประชามติเป็นไปได้สูงว่าจะเกิดก่อนการทำประชามติ.