'อนาคตไกล' ชี้ 91 ปีวันรัฐธรรมนูญ ควรออกแบบ รธน.ฉบับประชาชน
"อนาคตไกล"ชี้ 91 ปีวันรัฐธรรมนูญ บริบทการเมืองเปลี่ยน ควรออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นสากลตามหลักประชาธิปไตยและยอมรับได้ทุกฝ่าย
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2566 ที่พรรคอนาคตไกล ถนนสุโขทัย กรุงเทพมหานคร นายภวัต เชี่ยวชาญเรือ โฆษกพรรคอนาคตไกล กล่าวว่า เนื่องในวันครบรอบวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม ของทุกปี ปีนี้ ครบรอบ 91 ปี สิ่งที่คณะราษฏรต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือ ต้องการมี รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดและการแบ่งแยกอำนาจในระบบรัฐสภา
หากเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ภายหลังที่สหรัฐอเมริกาได้แยกอำนาจปกครองจากการล่าอาณานิคมของอังกฤษ ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก เมื่อวันที่ 17 กันยายน 1787 เป็นกฎหมายสูงสุดฉบับเดียว แต่แก้ไขเพิ่มเติม 27 ครั้ง โดยมีสาระสำคัญ (1)รัฐธรรมนูญสร้างรูปแบบการปกครอง (2)รัฐธรรมนูญสร้างระบบการแบ่งแยกอำนาจ (3)รัฐธรรมนูญสร้างระบบการตรวจสอบ
แต่ประเทศไทยได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก เป็นพระราชบัญญัติพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2475 มาตรา 1 บัญญัติให้อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย ต่อมาได้ปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นสากลมากขึ้น เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 อาทิ ประธานกรรมการราษฎร เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า นายกรัฐมนตรี ส่วน คณะกรรมการราษฎร เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า คณะรัฐมนตรี โดยเจตจำนงหลัก ต้องการให้ประชาชนปกครองโดยประชาชนเพื่อประชาชน
รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด เป็นฉบับที่ 20 ของประเทศไทย การรัฐประหาร เป็นส่วนสำคัญของการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ น้อยครั้งเกิดจากประชาชนร่างด้วยกันเองให้เป็นสากล แต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ขึ้นชื่อว่า เป็นฉบับปราบโกง จะเห็นได้จาก การออกแบบให้มี ใบส้มและใบดำ เป็นเครื่องมือของ กกต.ในการปราบทุจริตการเลือกตั้งและเบ็ดเสร็จในองค์กร กกต..ให้ใบส้ม ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ส่วนใบดำ รวมถึงการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง เป็นเครื่องมือให้ ปปช.จัดการกับนักการเมืองระดับชาติ ในมาตรา 235 วรรคหนึ่ง(1) ประกอบมาตรา 235 วรรคสี่ ส่งผลเมื่อศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป ทำให้สมัคร ส.ส.สว.หรือสมาชิกท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นและดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ไม่ได้ หากเทียบเคียงกับหลักการตรวจสอบถ่วงดุลของสหรัฐอเมริกาย่อมจะต้องเป็นสากลและจะต้องไม่ขัดต่อคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ลงวันที่ 26 สิงหาคม คศ.1789
.
กระบวนการตรวจสอบที่เข้มแข็งจะต้องเป็นไปตามกลไกกฎหมายภายในประเทศ แต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มีความสมดุลเฉพาะบริบทการเมืองเฉพาะเวลาใดเวลาหนึ่งในการฟื้นฟูประเทศ หากจะให้รัฐธรรมนูญเป็นสากล เหมือนสหรัฐอเมริกาจะต้องสามารถปรับแก้ไขเพิ่มเติมได้เหมือนในประเทศที่พัฒนาแล้ว เมื่อบริบทการเมืองเปลี่ยนอยู่ในอำนาจการปกครองของประชาชน จึงมีเหตุผลในการยกร่างและแก้ไขให้เป็นสากล แต่ปัญหาว่า การออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด แก้ไขยาก เพราะหลายมาตราวางกับดักไว้ เช่น มาตรา 256 (6) จะต้องมีเสียงสมาชิกวุฒิสภาหนึ่งในสาม หรือในบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ส่งผลให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากยิ่ง แม้ในรัฐบาลปัจจุบันสามารถกระทำได้ แต่ต้องได้รับความร่วมมือกับฝ่าย สว.ก็ตาม แต่รัฐบาลผสมข้ามขั้วต่างอุดมการณ์ ย่อมส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่ ที่เพิ่งบริหารราชการแผ่นดิน ที่มุ่งแก้ไขปัญหาปากท้องมากกว่า จะไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ในโอกาสวันครบรอบวันรัฐธรรมนูญ 91 ปี การพัฒนาประชาธิปไตยจะต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญกฎหมายสูงสุดของประเทศ ถึงเวลาที่บ้านเมืองปรับตัวตามกระแสโลกให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการออกแบบรัฐธรรมนูญ ตนเห็นว่า ควรจะต้องยกร่างรัฐธรรมนูญให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ใช่เฉพาะบุคคลที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้นเฉพาะกลุ่มพรรคพวกของตนเองเพื่อศึกษาหาแนวทาง หากย้อนกลับไปดู คณะ สสร.ปี 2539 มาจากหลายภาคส่วน ทุกสาขาอาชีพ ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 สร้างระบบตรวจสอบเข้มแข็ง องค์กรอิสระได้เกิดขึ้นในประเทศไทย ภาคประชาชนมีความเข็มแข็งในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ตรวจสอบการทำหน้าที่ของฝ่ายบริหาร นอกสภา จึงเรียกว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริง