วางหมาก ‘นิรโทษสุดซอย’ พท.รวบเสียง ลดเสี่ยงซ้ำรอย
หมุด "นิรโทษกรรม" ที่ "เพื่อไทย" วางเกมให้เป็นไป ถูกขานรับจาก "พรรคร่วมรัฐบาล-ก้าวไกล" ทว่ารอยอดีต ทำให้ขยาด ดังนั้นสิ่งที่ต้องแก้ไขความผิดพลาด คือ ต้องรวบเสียงหนุนให้ได้ ทั้ง สส.-สว.
ประเด็น “กฎหมายนิรโทษกรรม” ที่ถูกพูดถึง แม้ “พรรคเพื่อไทย” จะวางท่าที หลบหลังฉาก ไม่เล่นบทนำ เสนอ “ร่างกฎหมาย” ต่อสภาฯ แต่เรื่องนี้ยังเป็นสิ่งที่ “เพื่อไทยคิด” และอยากให้ฝ่ายอื่นช่วยทำ หลังจากติดค้างในทางปฏิบัติ มานานนับ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2556 และรอเวลาที่จะรื้อฟื้นอีกครั้ง
เมื่อถึงยุคปัจจุบันที่ “พรรคเพื่อไทย” ผงาด มีอำนาจเบ็ดเสร็จ มีเสียงข้างมาก 314 เสียงใน “สภาฯ” และมีโอกาสที่จะได้เสียงสนับสนุน ในฝั่ง“วุฒิสภา”อีก จึงเป็นช่วงจังหวะเหมาะที่จะเดินหน้าดัน “กฎหมายนิรโทษกรรม” อีกครั้ง
ในขณะนี้มี ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ยื่นปูทางไว้แล้วจาก “สส.ของพรรคก้าวไกล” ในชื่อ “ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งกระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ….” ล่าสุด ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 แล้ว โดยมีผลสรุปเบื้องต้น คือมีผู้ที่สนใจเข้าไปอ่านรายละเอียด รวม 24,628 ราย โดยจำนวนดังกล่าวมีผู้แสดงความเห็น 631 ราย พบว่ามีผู้เห็นด้วย 28.37% และไม่เห็นด้วย 71.32%
ทว่า ผลการรับฟังที่เสียงค้านเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีผลยับยั้งนำเสนอเรื่องต่อสภาฯ เพราะเป็นเพียงองค์ประกอบที่ “สส.” จะนำไปพิจารณาในชั้นการพิจารณา หรือกรรมาธิการ
สอบทานเรื่องนี้ ในมุมของ “พรรคเพื่อไทย” แน่นอนว่า 100% สนับสนุน ทว่ามีรายละเอียดที่เห็นต่างออกไป
จึงเป็นเหตุผลที่ “เพื่อไทย” ให้ฝ่ายกฎหมายของพรรค ยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เพื่อประกบกับพรรคก้าวไกล
เรื่องนี้ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” ประธานกฎหมายพรรคเพื่อไทย ฐานะที่ปรึกษาวิปรัฐบาล ระบุต่อที่ประชุมวิปรัฐบาล เมื่อ 12 ธ.ค. ว่า “พรรคเพื่อไทยได้ยกร่างกฎหมายนิรโทษกรรม เตรียมประกบเสร็จแล้ว” แต่ไม่ได้ขยายความในเนื้อหาว่า เขียนไว้อย่างไรบ้าง เพราะยังไม่ถึงเวลา
เหตุที่ “พรรคเพื่อไทย” ชะลอเรื่องเสนอกฎหมาย และปรับกลยุทธ์เป็น “เสนอญัตติด่วนเพื่อตั้งกรรมาธิการศึกษาการนิรโทษกรรม” เพราะยังรู้สึก “เข็ดขยาด” กับเหตุการณ์เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในยุคของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกฯ และมี “สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” เป็นประธานสภาฯ
บทเรียนจากครั้งนั้น มาถึงครั้งนี้ “พรรคเพื่อไทย” จึงต้องปรับกลยุทธ์ และวางหมาก เพื่อปูทางสู่ความสำเร็จ ทั้งในแง่ของกฎหมาย และความมั่นคงของ “รัฐบาล-เศรษฐา ทวีสิน”
สเต็ปแรกที่พรรคเพื่อไทยวางไว้คือ การแสดงพลังที่เห็นพ้องต้องกันใน “11พรรคร่วมรัฐบาล” 314 เสียง ร่วมเสนอหรือสนับสนุนญัตติให้สภาฯตั้ง “กรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษารายละเอียดของการนิรโทษกรรม”
เหตุการณ์ในช่วง พ.ค.2556 รัฐบาลเพื่อไทยที่แม้จะครองเสียงข้างมาก แต่ไม่สามารถเอาชนะเกมดัน “นิรโทษกรรมสุดซอย-เหมาเข่ง” ที่รวมถึงคดีทุจริตย้อนหลังถึงปี 2547 ได้ มิหนำซ้ำร่างกฎหมายฉบับนั้น ยังเป็นชนวนขัดแย้งการเมืองนอกสภาฯ จนนำไปสู่เหตุการณ์ยุบสภา เมื่อ 9 ธ.ค. 2556 และลามต่อไปถึงการรัฐประหาร เมื่อ พ.ค.2557 จนทำให้ “การเมืองในประเทศไทย” ถูกแช่แข็งยาว 5 ปี พ่วงต่อกับ “ยุคสืบทอดอำนาจ” อีก 4 ปี ที่ทำให้ “พรรคเพื่อไทย” ถูกกดหัวยาวนาน
โดยในการประชุมวิปรัฐบาล เมื่อ 12 ธ.ค. มีการเสนอไอเดียที่จะให้ “พรรคร่วมรัฐบาล” เสนอญัตติด่วนต่อสภาฯ เป็นรายพรรค แต่ในมุมของบางพรรคที่ไม่มี “จำเลย-ผู้ต้องคดีการเมือง” ในสังกัด จึงไม่ต้องการเปิดตัวเพื่อเสนอญัตติด่วน ให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่พร้อมที่จะส่งตัวแทนร่วมเป็น “กรรมาธิการฯ” เพื่อหาจุดร่วมของเนื้อหาที่จะนำไปสู่การตราเป็นกฎหมายของทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึง “ภาคประชาชน-ผู้ได้รับผลกระทบ” ด้วย
โดยขณะนี้ มีพรรคที่รับหลักการของ “เพื่อไทย” แล้ว เช่น พรรคพลังประชารัฐ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย ที่พร้อมสนับสนุนการนิรโทษกรรม ผ่านการตั้งกรรมาธิการเพื่อตั้งวงพูดคุย แต่ตั้งเงื่อนไขสำคัญคือ ไม่รวม “คดี ม.112”
พร้อมกับมองว่า หากใช้ “สภา” เปิดเวทีที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ก่อนเดินหน้าพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรม จะเป็นแนวทางสลายความเห็นต่าง สร้างความเข้าใจ ลดแรงเสียดทาน รวมถึงไม่เสียเหลี่ยมการเมือง ที่ “บางฝ่าย” พยายามเปิดเกมเร่ง เพราะหวังใช้มวลชนเป็นเครื่องมือ “บีบ” สภาให้ลงมติรับหลักการร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฯที่รายละเอียดส่อว่า อาจเพิ่มชนวนขัดแย้งในสังคมได้
ขณะที่บางพรรครับไอเดีย และสนใจที่จะขยาย “เกณฑ์นิรโทษกรรม” ไปยังผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ฐานเสียง เช่น “3 จังหวัดชายแดนภาคใต้”
อย่าง “พรรคประชาชาติ” ที่อยากขยายการนิรโทษกรรมจาก “คดีทางการเมือง” ไปยังประชาชนที่ถูกแบล็กลิสต์ตามกฎหมายพิเศษที่บังคับใช้ในแดนใต้ รวมถึงคนชายขอบที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกฎหมายที่ใช้เพื่อควบคุมพื้นที่เป็นพิเศษ
ทั้งนี้ “เพื่อไทย” ขอให้ “พรรคร่วมรัฐบาล” ไปหารือในพรรค ก่อนที่ “วิปรัฐบาล” จะรอเคาะไทม์ไลน์อีกครั้งใน 1-2 สัปดาห์จากนี้ เพื่อเสนอเรื่องให้สภาฯ ตั้งคณะศึกษา พร้อมหวังให้มีบทสรุปในช่วง ก.ค.2567 ก่อนเดินหน้าพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ที่ทุกฝ่ายตกผลึก และเห็นร่วมกันหลังจากนั้น
เหตุที่ต้องเดินหน้ากฎหมาย หลังเดือน ก.ค.2567 เนื่องจากเป็นช่วงหมดยุค “สว.ที่มาจาก คสช.”
จังหวะนี้ “กุนซือเพื่อไทย” มองเกม และลูบปากหวานเห็นช่องสะดวกที่จะทำให้กฎหมายนิรโทษกรรม ผ่านฉลุย 2 สภาฯ ไม่ติดขัดเหมือนเมื่อ 10 ปีก่อน.