โดดเดี่ยว ‘ก้าวไกล’ - นิรโทษกรรม ยกเข่ง

โดดเดี่ยว ‘ก้าวไกล’ - นิรโทษกรรม ยกเข่ง

เช็คลิสต์ประเด็นร้อนร่าง กฎหมายนิรโทษกรรม 2 ขั้ว ล้างผิดการเมือง “เพื่อไทย”แทงกั๊กซุ่มยกร่าง พรรคร่วมรัฐบาล- สว.รุมต้าน ม.112

พรรคการเมืองหันมาชูธงออกกฎหมาย “นิรโทษกรรม” ความผิดทางการเมือง ตามสัญญาหาเสียงที่ให้ไว้ก่อนการเลือกตั้ง แต่วิธีการ แนวทาง จุดยืนของต่างพรรค-ต่างขั้ว มีเนื้อหาแตกต่างกันออกไป

“ขั้วรัฐบาล” ที่ถือเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร ยังไม่ความชัดเจนว่าจะเดินไปในทิศทางใด ระหว่างการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษา ตามธงนำของ “พรรคเพื่อไทย” หรือ เดินหน้าพิจารณาตัว ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่ซุ่มเงียบ ให้ “ทีมกฎหมายเพื่อไทย” ยกร่างเนื้อหาเตรียมไว้แล้ว 

ในประเด็นของตัวเนื้อหาว่าด้วย “ร่าง พ.ร.บ.” ขณะนี้มีตัวร่างถูกเสนอให้เข้าสู่กระบวนการทางนิติบัญญัติแล้ว 2 ฉบับ คือฉบับของ พรรคก้าวไกล และฉบับของกลุ่มพรรคเล็ก ที่มี “ปรีดา บุญเพลิง” สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน เป็นผู้เสนอ

โดดเดี่ยว ‘ก้าวไกล’ - นิรโทษกรรม ยกเข่ง

ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับของพรรคก้าวไกล ผ่านกระบวนการการรับฟังความเห็นตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 แล้ว และรอเสนอ วันมูหะมัดนอร์ มะทา  ประธานสภาฯ พิจารณาบรรจุเข้าสู่วาระ 

ขณะที่ฉบับของ “พรรคเล็ก” นั้นเตรียมเข้าสู่กระบวนการฟังความคิดเห็น โดยใช้ชื่อว่า “ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิด อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. ….”

สำหรับ สาระหลักในฉบับของ พรรคก้าวไกล  คือ 1. ตั้ง “คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม” 9 คน ประกอบด้วย ประธานสภาผู้แทนราษฎร  ผู้นำฝ่ายค้านฯ บุคคลที่ ครม. เลือก 1 คน  สส. 2 คน เลือกโดยที่ประชุมสภาฯ  ผู้พิพากษาหรืออดีตผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม  ศาลปกครอง  พนักงานอัยการ จากที่ประชุมของแต่ละที่คัดเลือก แห่งละ 1 คน และให้อำนาจประธานรัฐสภาแต่งตั้ง

โดยไม่มีสัดส่วนจากภาคประชาชน หรือนักวิชาการด้านกฎหมาย และสิทธิมนุษยชนตามที่ "พรรคก้าไกล" เคยหาเสียงไว้ 

โดดเดี่ยว ‘ก้าวไกล’ - นิรโทษกรรม ยกเข่ง

พร้อมกำหนดหน้าที่ และอำนาจของกรรมการฯ คือ วินิจฉัยว่าคดีใดที่ถือว่าเป็นการกระทำที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง และข้อสงสัยที่เกี่ยวข้องในห้วงเวลา 11 ก.พ. 2549 ถึงวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ 

 

ขณะเดียวกัน เมื่อมีกรรมการทำหน้าที่แล้ว กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี แต่หากไม่เสร็จ ขยายเวลาได้ 2 ครั้งๆ ละ 180 วัน

"กก."นิรโทษหมด-ไม่รวมล้มล้างปกครอง

2.กำหนดการกระทำที่จะเข้าข่ายนิรโทษกรรมไว้ 2 ประเด็น คือ ร่วมเดินและชุมนุม ประท้วงทางการเมือง และพฤติกรรมที่มีเหตุจากแรงจูงใจทางการเมือง เช่น แสดงความเห็น แม้ไม่ได้ร่วมกิจกรรมชุมนุมประท้วง 

ทั้งนี้ยังมี “บุคคลอื่น” ที่มีความเกี่ยวข้องตามกฎหมาย-นายจ้าง ได้สิทธิยื่นเรื่องแทน “บุคคล” ที่อยู่ในข่ายได้รับการนิรโทษกรรม และให้คนที่อาจได้สิทธิพิจารณาสละสิทธิรับนิรโทษกรรมได้ด้วย

3.มีบทยกเว้นผู้ที่ไม่เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม  ประกอบด้วย "เจ้าหน้าที่รัฐ" ที่เกี่ยวกับการชุมนุมประท้วง สลายการชุมนุม ทั้งผู้สั่งการ และผู้ปฏิบัติการ และ "ผู้ที่ทำความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา" เว้นแต่เป็นการกระทำโดยประมาท

โดดเดี่ยว ‘ก้าวไกล’ - นิรโทษกรรม ยกเข่ง

ผู้ทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ว่าด้วยความผิดฐานกบฎ การแบ่งแยกราชอาณาจักร ล้มล้างรัฐธรรมนูญ และอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ทั้งคนที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน

โดดเดี่ยว ‘ก้าวไกล’ - นิรโทษกรรม ยกเข่ง

สาระของร่างกฎหมาย “ฉบับก้าวไกล” ยังกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น ผู้ที่ได้นิรโทษกรรมไม่สามารถใช้สิทธิเรียกร้องประโยชน์ใดๆ ไม่ตัดสิทธิเอกชน องค์กร หน่วยงานรัฐ ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายคดีแพ่ง จากการกระทำของบุคคลที่ได้นิรโทษกรรม

"พรรคเล็ก"เจาะจง พธม.-กปปส.

มาดูกันต่อที่ ฉบับพรรคเล็ก มีชื่อว่า “ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ฉบับพรรคเล็กที่ พ.ศ….” เฉพาะเจาะจงไปยัง “กลุ่มคนเสื้อเหลือง-เสื้อฟ้า" ทั้ง กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) และ กลุ่ม กปปส. 

ตามสาระของร่างกฎหมายนั้น กำหนดให้การกระทำที่เกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองได้รับการนิรโทษกรรม ซึ่งรวมถึงการเข้าร่วมชุมนุม การแสดงออกด้วยวาจา การโฆษณา เพื่อเรียกร้องให้ต่อต้านรัฐ  

โดดเดี่ยว ‘ก้าวไกล’ - นิรโทษกรรม ยกเข่ง

รวมถึงการป้องกันตน ต่อสู้ขัดขืนกับการดำเนินการของรัฐ การชุมนุมที่กระทบต่อสิทธิ ทรัพย์สิน ร่างกาย ชีวิตของบุคคลอื่น ที่สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง วางกรอบระยะเวลานิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.2549 ถึง 30 พ.ย. 2565 

นอกจากนั้น ยังกำหนดเงื่อนไขของคดีที่ไม่เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม คือ ความผิดฐานทุจริต ประพฤติมิชอบ ความผิดตาม ป.อาญามาตรา 112  ความผิดที่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต

ในฉบับของพรรคเล็ก กำหนดการนิรโทษกรรม ยกเลิกความผิด “ทางอาญา” และ “ระงับการสอบสวนและฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง” เฉพาะส่วนของหน่วยงานรัฐ ซึ่งอาจถูกวิจารณ์ได้ว่าต้องการให้องค์กรอื่นมีอำนาจเหนือกระบวนการยุติธรรมได้ 

ขณะที่กระบวนการปฏิบัตินั้น ให้ “รมว.ยุติธรรม” ตั้ง คณะกรรมการกลั่นกรองคดีฯ 7 คน ให้อำนาจรับเรื่องจากผู้ต้องหาที่ต้องการเข้ารับพิจารณา  พิจารณาคดีที่ยื่นว่าเป็นไปตามเงื่อนไขนิรโทษกรรมหรือไม่ โดยทำให้เสร็จภายใน 10 เดือน

จากนั้นแจ้งความเห็นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการโดยพลัน พร้อมกำหนดคำชี้ขาดของกรรมการฯ เป็นที่สุด พร้อมกำหนดให้นายกฯ และรมว.ยุติธรรม รักษาการตามกฎหมาย

"เพื่อไทย"แทงกั๊ก ตั้งกก.ศึกษาแนวทาง

พรรคเพื่อไทยออกมาเสนอตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาศึกษาเรื่องการเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม รวมถึงสาระสำคัญ หากมีการเสนอต้องครอบคลุมในเรื่องใดบ้าง ร่างกฎหมายที่ออกมานั้นควรจะเป็นอย่างไร

ท่าทีของ “เพื่อไทย” พยายามเล่นบทเป็นโซ่ข้อกลาง ประสานให้ทุกฝ่ายได้มีทางออกร่วมกัน ยึดแนวทางตั้งกรรมการขึ้นมาศึกษา เพื่อยื้อวาระร้อนออกไปก่อน เนื่องจากยังมีความเห็นต่างของคู่ขัดแย้ง

อย่างไรก็ตาม “กลุ่มคนเสื้อแดง” ซึ่งเป็นฐานเสียงหลัก ทยอยเข้ารับโทษเกี่ยวกับการชุมนุม และคดีอาญาในบางส่วน สำหรับ “ขุนพลการเมือง” โทษความผิดทางคดีอาญาอยู่ระหว่างการรับโทษเช่นกัน

ดังนั้น “เพื่อไทย” จึงไม่เร่งรีบผลักดันให้เกิดการนิรโทษกรรม ที่สำคัญ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ ซึ่งอยู่ระหว่างรับโทษและถูกครหาว่าเป็น “นักโทษเทวดา” ไม่จำเป็นต้องพึ่งพากลไกนิรโทษกรรมอีกต่อไป

"รทสช."ชงไม่เอาผิด ทำรัฐเสียหาย

พรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาของสภา โดยใช้ชื่อ "ร่าง พ.ร.บ.สร้างสรรค์สังคมสันติสุข"ซึ่งยกร่างโดย พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค เป้าหมายจะเริ่มใช้นิรโทษกรรมย้อนไปตั้งแต่จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งทางการเมือง นับถอยหลังไป 20 ปี 

โดดเดี่ยว ‘ก้าวไกล’ - นิรโทษกรรม ยกเข่ง

โดยวางเงื่อนไขนิรโทษกรรม การแสดงออกทางการเมืองที่มีผลกระทบกระเทือนต่อรัฐ แม้รัฐจะเป็นผู้เสียหายก็จะไม่เอาผิด เช่น การทำผิดพ.ร.บ.จราจรฯ พ.ร.บ.ว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะฯ  ความผิดต่อทรัพย์สินฯ เช่น มีการรื้อรั้ว หรือตัดกุญแจ ขว้างแก๊สน้ำตา

อย่างไรก็ตาม “รวมไทยสร้างชาติ” ซึ่งมีจุดยืนปกป้องสถาบันฯ ชัดเจนว่าจะไม่นิรโทษกรรมให้กับบุคคลที่กระทำผิดคดีอาญามาตรา 112 รวมถึงความผิดคดีทุจริตคอร์รัปชัน และคดีความผิดต่อชีวิต 

"ภท.-ปชป.-ชทพ."ไม่แตะ ม.112 

พรรคภูมิใจไทย ไม่มีแนวทางนิรโทษกรรมทางการเมือง เพราะไม่มีแกนนำพรรค สมาชิกพรรค ฐานเสียง ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่บทบาทในสภาจำเป็นต้องออกมาแสดงจุดยืน

"อนุทิน ชาญวีรกูล" รองนายกรัฐมนตรี รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ออกมาให้สัมภาษณ์ตอกย้ำว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แตะไม่ได้

พรรคประชาธิปัตย์ ส่ง "ราเมศ รัตนะเชวง" โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมผลกระทบต่อคดีความผิดมาตรา 112 รวมถึงคดีทุจริต เพราะจะกระทบต่อความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย 

พรรคชาติไทยพัฒนา เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทั่วไป แต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดี 112 ความผิดทางอาญาร้ายแรง และคดีทุจริต จะไม่ควรเป็นส่วนหนึ่งในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 

โดย "นิกร จำนง" เสนอความเห็นว่า ควรเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมในนามพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกันในความเป็นรัฐบาลสมานฉันท์ ก้าวข้ามความขัดแย้งอย่างแท้จริง 

โดดเดี่ยว ‘ก้าวไกล’ - นิรโทษกรรม ยกเข่ง

รวมทั้งเสนออีกแนวทางคือ การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาเรื่องการจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับการสร้างความสามัคคี โดยมีหลักการว่า ผู้กระทำความผิดโดยมีความเชื่อทางการเมืองจะใช้กฎหมายปกติไม่ได้ จึงอาจจะต้องออกกฎหมายมาเป็นพิเศษ

สว.ไม่เตะม.112-คดีทุจริต-ผิดอาญา

ด้าน สว. ส่วนใหญ่คัดค้านการนิรโทษกรรม โดยพุ่งเป้าไป 3 คดี ประกอบด้วย การทุจริตชาติ  คดีอาญาร้ายแรง เช่น คดีฆ่ากันตายแล้วอ้างเหตุทางการเมือง และคดีความผิด ม.112 

"สมชาย แสวงการ" สว. เห็นว่า หากสำนึกว่ากระทำผิดก็สามารถทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคลได้ เช่นเดียวกับแกนนำหลายคนที่เป็นนักวิชาการในอดีต ก็เคยได้รับพระราชทานอภัยโทษมาแล้ว

ทั้งหมดคือความเคลื่อนไหวของ พรรคการเมือง - สว. เกี่ยวกับการออกกฎหมาย “นิรโทษกรรม” ซึ่งสัญญาณที่ส่งออกมา มีเพียงพรรค “ก้าวไกล” ที่ถูกโดดเดี่ยวนิรโทษกรรมคดีความผิด ม. 112 ขณะที่ “เพื่อไทย” ยังเล่นเกมแทงกั๊กขอตั้งกรรมการศึกษา

ส่วน ภูมิใจไทย - รวมไทยสร้างชาติ -ประชาธิปัตย์ - ชาติไทยพัฒนา - พรรคเล็ก - สว. ต่างพาเหรดออกมาแสดงความชัดเจน ไม่ “นิรโทษ” ผู้กระทำผิดคดี ม. 112  โฟกัสนิรโทษกรรมไปที่การชุมนุมเท่านั้น

ต้องจับตาศึกในสภาประเด็นร้อน“นิรโทษกรรม”จะมุ่งไปสู่จุดใด เพราะแต่ละพรรคการเมืองมีภารกิจไม่เหมือนกัน และมีเป้าหมายแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง.