นายกฯย้ำ 'แลนด์บริดจ์' เพิ่มโอกาสเศรษฐกิจไทยเติบโต ดึงนักลงทุน ตปท.พัฒนา
นายกฯ ย้ำ 'แลนด์บริดจ์' เพิ่มโอกาสเศรษฐกิจไทยเติบโต ดึงนักลงทุนต่างประเทศ พัฒนาจังหวัดใกล้เคียง ยืนยันประเมิน EIA-EHIA รอบคอบ
เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวนิเคอิตอนหนึ่ง โดยย้ำถึงโครงการแลนด์บริดจ์ว่า โครงการดังกล่าว เป็นการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ สร้างการเชื่อมต่อที่ไร้รอบต่อ มีเครือข่ายท่อส่งน้ำมัน และก๊าซ, ครอบคลุมการสร้างท่าเรือน้ำลึก ที่จังหวัดระนอง และชุมพร ซึ่งท่าเรือทั้ง 2 แห่งเชื่อมต่อกับทางด่วน และทางรถไฟทางคู่ แต่ละท่าเรือจะมีขีดความสามารถในการรองรับตู้คอนเทนเนอร์มาตรฐานได้มากถึง 20 ล้านตู้ต่อปี เพิ่มโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคได้ระยะยาว และสอดคล้องกับนโยบายการทูตทางเศรษฐกิจเชิงรุกของรัฐบาล ที่อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้า และผู้คนที่เพิ่มขึ้น ระหว่างตะวันออก และตะวันตก, มหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย โดยจะเป็นเส้นทางการค้าทางทะเลที่มีศักยภาพ เพิ่มเติมจากช่องแคบมะละกา เมื่อสร้างเสร็จ จะช่วยลดระยะเวลาเดินทางระหว่างมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก ประมาณ 4 วัน ช่วยลดต้นทุนการขนส่งลงได้ราวร้อยละ 15 พร้อมยืนยันว่า ความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพนั้น จะต้องได้รับการพิจารณา และแก้ไข ผ่านกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ทั้ง EIA และ EHIA อย่างรอบคอบก่อน
ส่วนร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้น จะต้องควบคุมการจัดเตรียมการให้บริการ, สิทธิประโยชน์ทางภาษี และสิทธิในที่ดินภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่วางแผนไว้ที่ท่าเรือใหม่ รวมถึงหลักเกณฑ์สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ และสิ่งจูงใจด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง การพำนัก และใบอนุญาตทำงาน เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น โดยจะมีหน่วยงานหลักหน่วยงานเดียวที่รับผิดชอบโครงการโดยรวม เพื่อให้มั่นใจว่า การดำเนินงานจะบูรณาการร่วมกัน
นายเศรษฐา กล่าวด้วยว่า แผนการก่อสร้างในระยะแรก จะเริ่มในเดือนกันยายน 2568 และดำเนินการจนถึงเดือนตุลาคม 2573 สามารถประมูลโครงการได้ ระหว่างเดือนเมษายน ถึงมิถุนายน 2568 โดยคาดว่า โครงการแลนด์บริดจ์ จะสร้างเม็ดเงินให้ประเทศไทย และเพิ่มอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ สร้างการจ้างงาน รวมถึงสร้างโอกาสการพัฒนาใหม่ ๆ ในจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้ของประเทศด้วย