ปลัด มท.มอบ 3 แนวทางทำสงครามยาเสพติดเข้มข้น ผ่านกลไกเครือข่ายพื้นที่
ปลัดมหาดไทย หัวโต๊ะนำประชุมติดตามป้องปรามยาเสพติดด้วยกลไก มท.-ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ย้ำทำสงครามยาเสพติดเข้มข้น มอบ 3 แนวทางแก้ปัญหาโดยทันที สแกนหาผู้เสพหน้าเก่า-ใหม่
เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 67 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยภายหลังจากได้มีการประชุมติดตามการดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเชิงรุกด้วยกลไกกระทรวงมหาดไทยและภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ ซึ่งมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางสาวมนทิรา เข็มทอง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน นายธนิต ภูมิถาวร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติดและการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมไทยเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญและขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในมิติการปราบปราม การบำบัดรักษา แต่สิ่งสำคัญ คือ มาตรการป้องกันเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม เพราะสังคมไทยเรามักจะตื่นตัวกับเรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติดและการรักษาความสงบเรียบร้อยขณะเกิดเหตุ และเมื่อเวลาผ่านไปการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องก็จะเบาบางลดน้อยลง และเมื่อเกิดเหตุอาชญากรรมขึ้นถึงจะมาคุยกัน เปรียบเสมือนเป็นหุ่นยนต์รอกดปุ่มให้ทำงาน ทั้งนี้ เพราะปัญหายาเสพติดเป็นงานหลัก (Core Business) ในการทำงาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ของกระทรวงมหาดไทย เพราะปัญหาสังคมส่วนใหญ่ล้วนเกิดมาจากปัญหายาเสพติดแทบทั้งสิ้น ทั้งการทำร้ายร่างกายบุพการี ทำร้ายร่างกายผู้อื่น การทำลายทรัพย์สินส่วนบุคคลและทรัพย์สินสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำร้ายเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานตามกฎหมายเพื่อระงับเหตุและสร้างความผาสุกให้กับพี่น้องประชาชนและสังคมจนได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือกระทั่งเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่
“ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบ 10 นโยบายเน้นหนักให้กับกระทรวงมหาดไทย โดยข้อที่ 9 คือ การมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่เป็นมาตรการเชิงรุก เน้นป้องกันก่อนปราบปราม และมีการกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้มีการ Kick off ชุดเฉพาะกิจทั้งระดับกรมและระดับจังหวัด เพื่อตรวจสถานบริการ และจัดตั้งศูนย์บำบัดและฟื้นฟูสภาพทางสังคม มีศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระดับจังหวัด อำเภอ รวมถึงหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและหมู่บ้านยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันยาเสพติด" นายสุทธิพงษ์ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการตามกรอบการทำงานร่วมกัน 3 ประการ ประการแรก คือ การปลุกจิตสำนึกของข้าราชการผู้รับผิดชอบ โดยเฉพาะผู้นำในพื้นที่ เริ่มตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พัฒนาการจังหวัด พัฒนาการอำเภอ พัฒนากร ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มี “Passion” มีอุดมการณ์ ตามทฤษฎี Y ควบคู่กับทฤษฎี X คือ มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน เช่น การมีหมู่บ้านที่ดีที่สุด (Best Practice) เพื่อเป็นต้นแบบขยายผลสู่พื้นที่อื่น ๆ ซึ่งเราไม่ได้มุ่งมั่นทำให้เกิดขึ้นเพียง 1 จังหวัด 1 หมู่บ้านยั่งยืน แต่เรามุ่งมั่นทำให้เกิดสิ่งที่ดีอย่างยั่งยืนในทุกหมู่บ้าน โดยการนำเอานโยบายไปปฏิบัติ มี “Output : ผลผลิต” ที่สามารถวัดผลได้ ดังนั้น ทุกส่วนราชการต้องช่วยกันหนุนนำและหนุนเสริมทำให้คนมหาดไทยเป็นผู้นำในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดให้หมดไปจากสังคมไทย
นายสุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า หากเรามองภาพรวมของปัญหายาเสพติดอย่างกว้าง ๆ จะมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ เมื่อมีผู้เสพก็ต้องมีผู้ค้า เมื่อมีผู้ค้าก็จะมีผู้เสพ ซึ่งสังคมไทยเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเรามีทั้ง Supply Side และ Demand Side คือ ผู้เสพ ผู้ขาย แต่ในความเป็นจริงสังคมเรานั้นยังมี “กลุ่มคนสีขาว” หรือที่เรียกว่า “กลุ่มจิตอาสา” ที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และมีความตื่นตัว “Active” เข้มแข็ง มุ่งมั่นตั้งใจในการดูแลสังคม ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลเป็นเงินอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่ถือเป็นทรัพยากรที่ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้นำท้องที่สามารถใช้ในการบริหารจัดการเพื่อทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ลูกหลานห่างไกลจากยาเสพติด ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยเรามีภาพจำในการทำสงครามกับยาเสพติด โดยมุ่งเน้นปราบปรามผู้ค้ายาเสพติด ด้วยการกวดขันปราบปรามและจับกุมอย่างเข้มข้น แต่ทว่าจุดแตกหักของความสำเร็จและล้มเหลวอยู่ที่การเอาจริงเอาจังในการปราบปรามผู้ค้า ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ทำทะเบียนผู้ค้าและดำเนินการปราบปรามจับกุม ทำทะเบียนผู้เสพยาเสพติดโดยสมัครใจ และนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดเพื่อคืนคนดีสู่สังคม แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าผู้เสพที่ไม่มาลงทะเบียน และตั้งใจหลบหลีกเลี่ยง หนำซ้ำยังกระทำผิดโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย เราก็จะดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด
“สิ่งสำคัญ คือ เราต้อง “เป็นผู้นำทุกภาคส่วน” ให้ตระหนักเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง ด้วยการบูรณาการและสนธิกำลังกับภาคีเครือข่าย อาทิ การจัดทำแผน นำเสนอกรอบแนวทางที่เป็นแผนปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมเสนอต่อผู้บังคับบัญชาในระดับพื้นที่ โดยในด้านการปราบปรามต้องมี “ความเด็ดขาดตามกฎหมาย” เริ่มจากต้องมีข้อมูลของผู้ค้า/ผู้เสพ ทำทุกวิถีทางตามที่กฎหมายให้อำนาจจนกว่าจะจับผู้ค้าและพาผู้เสพเข้าสู่การบำบัดฟื้นฟูได้และต้องทำควบคู่การตรวจติดตามผลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการดำเนินการด้านสื่อสารสังคมเพื่อสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่" นายสุทธิพงษ์ กล่าว
ดังนั้น นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป กรมการปกครอง และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ต้องบูรณาการงานและสนธิกำลังภาคีเครือข่ายดำเนินการ 3 แนวทางที่ต้องทำทันที (Action Now) ได้แก่
1) ต้องแสวงหาผู้ป่วยยาเสพติดทั้งรายเก่าและรายใหม่ โดยเฉพาะผู้ที่เคยผ่านการบำบัดฟื้นฟูแล้วกลับไปเสพใหม่ ต้องนำเข้าสู่ระบบโดยทันที และต้องเชิญผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ ทั้งแพทย์ คุณครู และภาคีเครือข่าย มาร่วมดำเนินการบำบัดรักษาในสถานที่ที่ได้รับการจัดตั้งเป็นศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม โดยสามารถขอความเมตตาจากคณะสงฆ์ ใช้วัดเป็นสถานที่ในการบำบัดฟื้นฟูซึ่งสอดคล้องตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่กระทรวงมหาดไทยได้ลงนามร่วมกับคณะสงฆ์
2) ต้องมีคณะทำงานลงพื้นที่ตรวจติดตามและให้กำลังใจผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูและครอบครัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อยืนยันกับตัวเราเอง และตอบสังคมไทยได้ว่า “เราทำได้จริงหรือไม่”
3) การรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความเข้าใจเพื่อสร้างพลังการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ด้วยการบรรจุเข้าเป็นวาระการประชุมทุกการประชุมของทั้งจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นปลุกเร้าให้ข้าราชการและบุคลากรภาครัฐตลอดจนภาคีเครือข่ายได้ทำหน้าที่เป็นผู้นำในการสร้างการตื่นรู้ ทำให้คนตื่นตัว และเห็นถึงการช่วยกันทำให้สังคมไทยปลอดจากยาเสพติด ในลักษณะแบบ “ไปที่ไหนก็ได้ยิน อยู่ที่ไหนก็มองเห็น” เพราะการประชาสัมพันธ์จะเป็นแรงบวกให้กลุ่มคนสีขาวได้ตื่นตัว ไม่นิ่งเฉยในการป้องกัน และเสริมแรงบวกในการนำผู้เสพมาบำบัดฟื้นฟู และตอกย้ำค่านิยมให้สังคมไทยและสังคมโลกได้ “รังเกียจเดียดฉันท์ยาเสพติด” เป็นหูเป็นตาให้กับฝ่ายบ้านเมืองเพื่อเสริมสมรรถนะการทำงานของภาครัฐในการแก้ไขปัญหายาเสพติด” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวด้วยว่า ขอให้คนมหาดไทยได้นำเป้าหมายและแนวทางการทำงานในการ “ทำสงครามกับยาเสพติด” ทำให้ยาเสพติดหมดไปจากสังคมไทย เริ่มจาก “การปรับปรุงความเข้มข้นของแผนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้มีโครงสร้างกระบวนงานที่จริงจังและต่อเนื่อง” รวมถึงการทำให้พื้นที่ได้มีกิจกรรมรณรงค์สร้างความตระหนักรู้และกิจกรรมเสริมสร้างสุนทรียะ ทำให้เด็ก เยาวชน และประชาชนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ใช้เวลามาทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การจัดการแข่งขันกีฬา การประกวดประขัน การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน รวมถึงสร้างเสริมทักษะ/เครื่องมือในการประกอบอาชีพให้กับประชาชน ทำให้คนไทยห่างไกลจากยาเสพติด
"ตัวอย่างที่สำคัญที่จะทำให้ประเทศชาติดำรงคงอยู่ได้ คือ การนำกรอบแนวทางของ “หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village)” ทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นได้ด้วยพลังแห่งความสามัคคี ความพร้อมเพรียงกัน เริ่มจากเล็กไปใหญ่ จากทุกกลุ่มบ้าน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ตลอดจนจังหวัด “ประเทศชาติก็จะยั่งยืน” เราต้องช่วยกันกำจัดยาเสพติดที่เปรียบเสมือนวัชพืชให้หมดไปจากสังคมไทย ด้วยจิตใจที่รุกรบ ด้วยความมุ่งมั่นในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นราชสีห์ผู้จงรักภักดี มุ่งแก้ไขในสิ่งผิด ด้วยการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ในทุกลมหายใจ เดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้งด้วยความเคร่งครัดและจริงจัง พุ่งเป้าทำให้ยาเสพติดหมดไปจากสังคมไทย ประชาชนทุกคนปลอดภัย และมีความสุขอย่างยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ กล่าว