อุ้ม‘ทักษิณ’ เข้าเกณฑ์พักโทษ กองแช่ง-ฝ่ายแค้นระดมแนวต้าน
ถึงเวลาที่หลากหลายองคาพยพ จะเดินเครื่องเต็มกำลัง เพื่อกดดัน “ทักษิณ” กดดัน“กระทรวงยุติธรรม” ให้เคารพกฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม
Key Points:
- "ทักษิณ ชินวัตร" อยู่ภายใต้ความดูแลของโรงพยาบาลตำรวจเกิน 120 วัน ตามเกณฑ์ที่กำหนดเอาไว้ แต่กลับไร้คำชี้แจงจาก ผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม
- กระทั่งกระแสสังคมเริ่มกดดัน ทำให้ "บิ๊กตราชั่ง" ต้องออกมาอธิบายขั้้นตอน พร้อมยืนยัน "ทักษิณ" อาจจะเข้าเกณฑ์พักโทษกรณีพิเศษ
- จับตาความเคลื่อนไหวของ กลุ่ม คปท. จะจัดอีเว้นท์ต้านต่อในรูปแบบใด รวมถึง สว.-ฝ่ายค้าน ที่เตรียมจะยื่นญัตติซักฟอกรัฐบาล
ยื้อจนเกิน 120 วัน แต่ไม่มี “ผู้มีอำนาจ” จากกระทรวงยุติธรรม ออกมาแอ่นอกยอมรับว่า นช.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ใช้หลักเกณฑ์-หลักกฎหมายข้อใดในการเข้ารับการรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ จนเกินระยะเวลาที่กำหนด
ต่อเมื่อมีกระแสสังคมกดดันไปยัง “กระทรวงตราชั่ง” อย่างหนัก “ผู้บริหาร”ต้องแก้เกม หลังถูกครหา ไม่อำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นจริง จนนำมาสู่การนั่งแถลงข่าวชี้แจงรายละเอียด เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา
โดยมี สมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม กูเฮง ยาวอหะซัน เลขาฯ รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วย สิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนพ.สมภพ สังคุตแก้ว หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ ร่วมกันชี้แจง
สมบูรณ์ ยกกติกาซ้ำว่า ในทุกห้วงเวลานับตั้งแต่รักษาตัวครบ 30 วัน ครบ 60 วัน และเกินกว่า 120 วัน ก็เป็นไปตามขั้นตอนที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ จะต้องมีความเห็นและรายงานไปตามลำดับชั้น ทั้งการรายงานต่อปลัดกระทรวงยุติธรรม เมื่อครั้งรักษาตัวครบ 60 วัน และเมื่อเกินกว่า 120 วัน ก็ต้องรายงานให้รัฐมนตรีรับทราบ
“เมื่อวันที่ 12 ม.ค.67 ที่ผ่านมา ปลัดกระทรวงยุติธรรม พงษ์สวาท นีละโยธิน ได้เซ็นรับทราบการอนุญาตนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำ จากนั้น เมื่อวานนี้ (16 ม.ค.67) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ได้เซ็นรับทราบถึงการนอนพักรักษาตัวของนายทักษิณ ที่เกินมา 136 วัน ถือว่าเข้าเงื่อนไขและปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย”
ชี้ "ทักษิณ" เข้าเกณฑ์พักโทษกรณีพิเศษ
“สมบูรณ์” ยอมรับว่า กรณีของ “ทักษิณ” กระทรวงยุติธรรมได้ถูกตรวจสอบจากหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นต้น โดยเฉพาะทางผู้ตรวจการแผ่นดิน มีตัวแทนขึ้นไปบนชั้น 14 รพ.ตำรวจ และได้พบกับ“ทักษิณ”
ด้าน "สิทธิ สุธีวงศ์" รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบายต่อว่า สำหรับความคืบหน้าของระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางกรมราชทัณฑ์ ได้ประชุมและรายงานต่อคณะกรรมการราชทัณฑ์ให้รับทราบถึงการดำเนินการ เพราะกฎกระทรวงกำหนดให้กรมราชทัณฑ์ต้องออกระเบียบนี้
"โดยประเด็นโครงการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษ เรื่องนี้เป็นประโยชน์ของผู้ต้องขังที่มีสิทธิ์ได้รับ แต่การพิจารณาว่าผู้ต้องขังรายใดจะเข้าเกณฑ์โครงการดังกล่าวนั้น ทาง ผบ.เรือนจำฯ แต่ละแห่งจะเป็นผู้พิจารณา ว่าใครมีความเหมาะสม หรือผ่านคุณสมบัติได้รับการพักโทษ ทั้งแบบกรณีมีเหตุพิเศษและแบบปกติ" สิทธิ กล่าวและย้ำว่า
ทั้งนี้ผู้ต้องขังจะไม่สามารถเสนอตัวเองได้ เป็นการจัดทำประมวลเรื่องโดยเรือนจำนั้น โดยจะมีการพิจารณาผู้ต้องขังที่ผ่านเกณฑ์พักโทษในทุกเดือน แล้วจึงจะเสนอรายชื่อมายังกรมราชทัณฑ์ เพื่อนำเข้าสู่คณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษ
“สิทธิ” อธิบายต่อว่า ในกรณีของทักษิณ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ ยังไม่ได้รับรายงานจาก ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นัสที ทองปลาด ว่าเข้าเกณฑ์โครงการพักการลงโทษหรือไม่ แต่หากดูจากหลักเกณฑ์ที่ว่า เป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดชั้นกลาง สูงวัย และมีอาการเจ็บป่วย ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาในโครงการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษ
“เนื่องจากนายทักษิณเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป (นักโทษเด็ดขาดชั้นกลางขึ้นไป) แต่อย่างไร ณ วันนี้ทางกรมยังไม่ได้รับรายงานจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จึงยังไม่มีข้อมูลตรงนี้” สิทธิ ระบุ
“คปท.”ไม่ยอมแพ้ เคลื่อนต่อ
เมื่อ “กรมราชทัณฑ์” ออกมากางหลักเกณฑ์โครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ ซึ่ง “ทักษิณ”มีโอกาสอยู่ในข่าย จึงต้องจับตาแนวรบกลุ่มต้าน โดยเฉพาะเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.)
โดยเมื่อวันที่ 13-14 ม.ค. ที่ผ่านมา ได้ชิมลางจัดชุมนุมข้างทำเนียบรัฐบาล เพื่อจุดประเด็นทิ้งเชื้อปมยุติธรรมสองมาตรฐานเอาไว้ เพราะรู้ว่ายี่ห้อ “ทักษิณ” ไม่มีทางยอมถูกขังในเรือนจำ และรอวันพักโทษเพื่อกลับบ้าน
จากนั้นวันที่ 16 ม.ค. กลุ่มคปท.เคลื่อนไหวอีกครั้ง นัสเซอร์ ยีหมะ แกนนำ เข้ายื่นหนังสือต่อ นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาไต่สวนข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ปม “ทักษิณ” เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 หรือไม่
คนข้างหลังของ คปท.เชี่ยวชาญสนามการเมือง รู้จังหวะไหนควรเดินเกมอย่างไร การชุมนุมเปิดหัวทิ้งเชื้อ การยื่นหนังสือเปิดช่องให้ ป.ป.ช. ตั้งคณะทำงาน ถูกวางไว้เป็นขั้นตอน
เมื่อถึงวันที่ “ทักษิณ” ได้รับการพักโทษ ปล่อยตัวกลับบ้าน อาจเป็นวันที่เหมาะจะปลุก “ม็อบ” ลงถนน เพื่อถามหาความยุติธรรม จากกระบวนการที่ไม่ยุติธรรมกับนักโทษคนอื่น
แม้ที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวของพวกเขาจะถูกมองว่าจุดกระแสต้านทักษิณไม่อยู่ แต่ก็ไม่ได้ทำให้การเรียกร้องยุติลงง่ายๆ
สว.-ฝ่ายค้าน ขยับซักฟอก
ขณะเดียวกัน ยังมีความเคลื่อนไหวของ สว.-ฝ่ายค้าน ขยับเปิดเกมซักฟอกการทำงานของ “รัฐบาลเศรษฐา” แม้จะเข้ารับตำแหน่งกว่า 4 เดือน แต่มีหลายปมปัญหาที่เริ่มมีออกมาให้เห็น
ที่น่าสนใจ ญัตติซักฟอกทั่วไปโดยไม่ลงมติของ “สว.” มีประเด็น “ทักษิณ” พ่วงอยู่ด้วย โดยตั้งธงถามปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมาย
โฟกัสไปที่การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามคำพิพากษา ที่สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐานหรือไม่ และการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ ช่วยพวกพ้อง หาประโยชน์ส่วนตน สร้างมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ไม่เท่าเทียม
ดังนั้นหากสามารถเปิดเวทีซักฟอกรัฐบาลได้ สว.หลายราย ที่มีจุดยืนไม่เอา “ทักษิณ” จะแสดงบทบาททิ้งทวนอย่างไร จึงน่าติดตาม
ด้านพรรคก้าวไกล ในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้าน เตรียมยื่นญัตติซักฟอก “รัฐบาลเศรษฐา” ซ้ำดาบสอง แม้จะเพิ่งเสร็จภารกิจอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณ มาหมาดๆ
โดยกำลังพิจารณาว่าจะยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่จะต้องถูกสอบถามอย่างหนัก หนีไม่พ้นกรณี “นักโทษเทวดา”
ถึงเวลาที่หลากหลายองคาพยพ จะเดินเครื่องเต็มกำลัง เพื่อกดดัน “ทักษิณ” กดดัน“กระทรวงยุติธรรม” ให้เคารพกฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม