ด่วน ! 'พิธา' รอดปมหุ้นไอทีวี ศาล รธน.มติ 8:1 ไฟเขียวคืนเก้าอี้ สส.
'พิธา' รอด! ปมถือหุ้น 'ไอทีวี' ศาลรัฐธรรมนูญมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ไฟเขียวคืนเก้าอี้ สส. ชี้ไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการสื่อในวันที่ถูกร้อง ต่อให้ชนะคดีพิพาทกับ สปน.ก็ไม่อาจรู้อนาคตได้ว่าจะกลับมาทำสื่อหรือไม่
เมื่อวันที่ 24 ม.ค.2567 ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย คดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต. ผู้ร้อง) ส่งคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ “หุ้นไอทีวี” ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส.ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย และสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. นับแต่วันที่ 19 ก.ค.2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
โดยในคำวินิจฉัยตอนหนึ่ง ระบุว่า แม้จากการไต่สวนฟังได้ว่า ไอทีวี ทำกิจการโทรทัศน์ ผลิตสื่อ เป็นกิจการที่เป็นสื่อกลางในการส่งข่าวสาร และเนื้อหาสาระไปสู่มวลชน ที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบทั่วไป แต่เมื่อแบบ สบช.3 ประกอบงบการเงิน ภงด.50 ในปี 2560-2565 ที่แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปรากฏข้อมูลสอดคล้องกันว่า ไอทีวีหยุดดำเนินกิจการดังกล่าว นับตั้งแต่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) บอกเลิกสัญญาตั้งแต่ปี 2550 ผลของการบอกเลิกสัญญาดังกล่าว ทำให้สิทธิคลื่นความถี่ในไอทีวี กลับมาเป็นของ สปน. และไอทีวีไม่มีคลื่นความถี่ที่ดำเนินการได้อีกต่อไป จนเกิดเป็นคดีพิพาท ระหว่างคู่สัญญาเรียกร้องค่าเสียหายต่อกัน โดยไอทีวีมิได้เรียกร้องให้คืนสิทธิแก่ตนเองแต่อย่างใด ขณะนี้คดีพิพาทดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
กรณีเห็นได้ว่า ข้อพิพาทคดีดังกล่าว หากท้ายสุดไอทีวีชนะคดี ก็มิได้มีผลให้ไอทีวี ได้รับมอบคืนคลื่นความถี่ และดำเนินกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ UHF ได้อีก ข้อเท็จจริงดังกล่าวสรุปได้ว่า ไอทีวี ไม่มีสิทธิในการประกอบกิจการสื่อตามกฎหมาย ตั้งแต่ 7 มี.ค.2550 และการที่ไอทีวี ยังคงสถานะนิติบุคคลเดิมไว้ เพื่อดำเนินคดีที่ค้างอยู่ในศาลเท่านั้น นอกจากนี้ไม่ปรากฏว่า ไอทีวี มีรายได้จากกิจการที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน แต่มีรายได้จากผลตอบแทนจากการลงทุน และดอกเบี้ยรับ
การที่นายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานกรรมการไอทีวี และประธานกรรมการที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นไอทีวีประจำปี 2566 เบิกความว่า หากศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ไอทีวีชนะคดี จะมีการพิจารณาอีกครั้งระหว่างผู้ถือหุ้น และกรรมการบริษัท จะดำเนินกิจการต่อไปหรือไม่ อาจประกอบกิจการสื่อ หรือประกอบกิจการอื่นตามวัตถุประสงค์ของบริษัท ในวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จำนวน 45 ข้อก็ได้ เป็นเรื่องในอนาคต ยังมิได้มีการพิจารณาขณะนั้น
แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่ สปน. บอกเลิกสัญญา จนถึงปัจจุบัน ไอทีวี ไม่ได้ประกอบกิจการที่เกี่ยวกับสื่อมวลชน ไม่ปรากฏข้อมูลหลักฐานว่า ไอทีวี ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสื่อตามกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกัน ดังนั้น ณ วันที่ผู้ถูกร้องสมัครรับเลือกตั้ง สส. ไอทีวี มิได้ประกอบกิจการสื่อมวลชนใดๆ
การถือหุ้นไอทีวีของผู้ถูกร้องตามคำร้อง จึงไม่ทำให้มีลักษณะต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น
ศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เสียง จึงวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ สส. ของผู้ถูกร้อง ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์